1220. เจ้าของฉายา..ปลัดขิกสร้างโบสถ์ “หลวงพ่อกี๋ วัดหูช้าง” เกจิดังศิษย์ก๋งจาบ

ประวัติ พระครูกิตตินนทคุณ(หลวงพ่อกี๋) อดีตเจ้าอาวาสวัดหูช้าง นนทบุรี

พระครูกิตตินนทคุณ หรือ หลวงพ่อกี๋ อดีตเจ้าอาวาสวัดหูช้าง ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังมากในอดีตของจังหวัดนนทบุรี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้สร้างตำนานปลัดขิกอันเลื่องชื่อ ปลัดขิกของท่านทุกวันนี้หาได้ยากอย่างยิ่ง ผู้คนจากทั่วสารทิศล้วนทราบดีถึงจริยวัตรอันงดงาม และความมีเมตตาของหลวงพ่อท่าน นอกจากนี้ยังเป็นที่ทราบกันดีว่า หลวงพ่อกี๋ท่านเป็นพระหมอที่มีความเชี่ยวชาญ ในการรักษาโรคต่างๆ และท่านยังสามารถทำพิธีแก้คุณไสยได้อีกด้วย

หลวงพ่อกี๋ วัดหูช้าง นามเดิมท่านชื่อ กี๋ นามสกุลบุญใจใหญ่ โยมบิดาชื่อนายคอย โยมมารดาชื่อนางไฝ มีเชื้อสายตระกูล รัตนชื่น หลวงพ่อกี๋มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๑๓ คน ครอบครัวของท่านเป็นชาวจังหวัดนนทบุรีโดยกำเนิด ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ส่วนวันที่เกิด ไม่ทราบหลักฐานแน่ชัด ต้นตระกูลของ หลวงพ่อกี๋ ทุกคนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเป็นหมอรักษาโรค รวมทั้งตัวของหลวงพ่อกี๋ด้วย ทำให้ต่อมาท่านได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คนที่เดินทางมาให้ท่านรักษาโรคเป็นจำนวนมาก

หลวงพ่อกี๋ ในวัยเยาว์ท่านให้ความสนใจ และศึกษาตำราการทำน้ำมนต์รักษาโรคต่างๆ โดยได้ศึกษาวิชาการทำน้ำมนต์จากคุณปู่ของท่านเอง ในสมัยนั้นคุณปู่ของท่านเก่งทางด้านการทำน้ำมนต์รักษาโรคต่างๆ กล่าวได้ว่าใครมีโรคอะไรก็จะเดินทางมาหา เนื่องจากสมัยนั้นโรงพยาบาลต่างๆ ก็ยังไม่ค่อยมีเหมือนปัจจุบัน จนต่อมาชาวบ้านต่างๆ ก็ขนานนามท่านว่าหมอบุญเทวดา

ครั้นต่อมาเมื่อท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ โยมบิดา-มารดาก็จัดการอุปสมบทให้ ณ พัทธสีมา วัดหูช้าง ตำบลคูเวียง อำเภอบางกรวย นนทบุรี เมื่ออุปสมบทแล้วก็จำพรรษาอยู่ที่ วัดหูช้าง หลังจากนั้น ๒พรรษาผ่านไป หลวงพ่อกี๋ ก็ได้ออกธุดงควัตรไปตามป่าเขาต่างๆ เพื่อแสวงหาความสงบวิเวกฝึกวิปัสสนากรรมฐานบำเพ็ญภาวนา หลวงพ่อกี๋ ท่านมีความมุ่งมั่นฝึกสมาธิเจริญภาวนาด้วยจิตที่ยึดมั่น และไม่ตั้งอยู่ในความประมาท จนจิตรวมเข้าสู่ฐานของสมาธิ ทำให้เกิดความสุขและความอิ่มเอิบ

เมื่อท่านเพียรภาวนาอยู่ตามป่าตามเขาพอควรแก่เวลาแล้ว ท่านก็ออกธุดงควัตรต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งต่อมาท่านก็ได้พบกับ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ เกจิอาจารย์ดังเจ้าของ ปลัดขิก อันลือชื่อที่เล่าขานกันว่าสามารถทวนน้ำได้ หลวงพ่อกี๋ เมื่อท่านได้พบกับ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบแล้ว ท่านก็ได้รับการถ่ายทอดเคล็ดลับการสร้างปลัดขิกจากหลวงพ่ออี๋ ของดีของหลวงพ่อกี๋นั้น นอกจากปลัดขิกดังกล่าวแล้ว ก็ยังมี ตะกรุดธงผ้ายันต์สามเหลี่ยม พระเครื่อง พระสมเด็จ กำไล เหรียญรูปเหมือนท่าน เป็นต้น

หลวงปู่กี๋ท่านเป็นศิษย์ก๋งจาบ แห่งสำนักวัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและยังเป็นศิษย์หลวงปู่แดง วัดตะเคียน นนทบุรี และหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ท่านเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกับหลวงปู่เทียม วัดกษัตราธิราชและหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน ซึ่งเกจิร่วมสำนักทั้ง ๓ รูปนี้ได้ก่อปาฏิหาริย์ในคราวปลุกเสกพระที่วัดปราสาทบุญญาวาส สามเสนคือแผ่นทองแดงของพระอาจารย์ทั้ง๓ รูปหลอมไม่ละลายมาแล้ว

ปัจจุบันนี้วิชาสร้างปลัดขิกของหลวงพ่อกี๋ วัดหูช้างได้สืบทอดมาถึงหลวงพ่อตี๋ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานแท้ๆของท่าน ได้รับการถ่ายทอดมาโดยตรงจากหลวงพ่อกี๋ ว่ากันว่าการเขียนยันต์ของหลวงพ่อตี๋นั้น หลวงพ่อกี๋ท่านเป็นคนจับมือหลวงพ่อตี๋เขียนกันเลยทีเดียว

หลวงพ่อกี๋ วัดหูช้างท่านละสังขารมรณภาพลงเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๒ รวมสิริอายุได้ ๗๘ ปี ชื่อเสียงและเกียรติคุณของหลวงพ่อกี๋ วัดหูช้าง เป็นที่กล่าวขานกันสืบมาถึงความเมตตา และวัตรปฏิบัติ ที่งดงาม สมกับเป็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แห่งยุคอีกรูปหนึ่ง

เบี้ยแก้จะลงคาถาหลักๆ คือ ปิดทวารทั้ง ๙ และเฑาะว์รันโต ส่วนปลัดขิกนั้นคาถาหลวงปู่กี๋ที่ขาดไม่ได้ คือ “มะ อะ อุ นะ ละ กา ลัง จะ ภะ กะ สะ จิต ตัง พุท ธิ โส จิต ตัง พุท ธิ เม” โดยหลวงปู่กี๋จะลง “นะ โม พุทธ า ยะ อิ กะ วิ ติ” ด้วยลายมือท่านเอง

ประวัติ วัดหูช้าง
วัดหูช้างแต่เดิมนั้นเป็นวัดร้างจากหลักฐานต่างๆและคำบอกเล่าของชาวบ้านในสมัยก่อนเข้าใจกันว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะเป็นตอนต้นหรือตอนปลายมิได้ระบุไว้ สมัยก่อนบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของฝูงช้างชาวบ้านโจษขานกันว่ามีผีดุนัก บูรณปฏิสังขรณ์กลับมาเป็นวัดอีกครั้งในสมัยพระครูวิหารกิจจานุการ(หลวงพ่อปาน โสนันโทเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดบางนมโค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หลวงพ่อปานท่านได้เดินธุดงค์มาเยี่ยมเยียนลูกหลานของท่านที่ย้ายจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาพักอาศัยอยู่ในย่านนี้ ท่านเห็นบริเวณนี้มีซากเจดีย์เก่าสมัยอยุธยาเป็นชัยภูมิที่ดีเหมาะกับการสร้างวัด ท่านจึงได้บอกบุญกับลูกหลานของท่านและชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงช่วยกันสร้างกลับขึ้นมาเป็นวัดอีกครั้ง

หลวงพ่อปานวัดบางนมโคท่านได้สร้างพระอุโบสถและกุฏิทรงไทยขึ้นไว้สามหลัง และท่านยังได้หล่อพระประธานไว้เพื่อประดิษฐานภายในพระอุโบสถวัดหูช้างอีกหนึ่งองค์ชื่อ พระพุทธนิมิตรกิจจานุการ

เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วก่อนหลวงพ่อปานท่านจะเดินธุดงค์กลับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อปานท่านได้แต่งตั้งให้ศิษย์ของท่านคือหลวงพ่อจวนและหลวงพ่อแจ่มขึ้นเป็นเจ้าอาวาสปรกครองวัดหูช้าง หลวงพ่อจวนท่านได้ปกครองดูแลวัดหูช้างจนอายุ ๖๐ ปีท่านก็ได้มรณภาพลง

หลวงพ่อแจ่มซึ่งเป็นพระน้องชายคู่แฝดของท่านได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดหูช้างปกครองดูแลวัดหูช้างต่ออีก ๓ปีท่านก็ได้มรณภาพลง ชาวบ้านในสมัยนั้นจึงได้เชิญ หลวงพ่อกี๋ขึ้นปกครองวัดหูช้างสืบต่อมา ในช่วงสมัยหลวงพ่อกี๋ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลวัดหูช้างนั้น วัดหูช้างทรุดโทรมและขาดการพัฒนา

หลวงพ่อกี๋ท่านได้ทำนุบำรุงวัดหูช้างขี้นมาใหม่อย่างจริงจังอีกครั้ง พระอุโบสถของวัดหูช้างในปัจจุบัน หลวงพ่อกี๋ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่อย่างสวยงามในยุคของหลวงพ่อกี๋เป็นเจ้าอาวาส ในราว พ.ศ.๒๕๑๗ และเป็นที่รู้กันว่าปัจจัยที่ได้มาในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถส่วนใหญ่นั้น มาจากเงินทำบุญของผู้คนที่หมายปอง “ปลัดขิก” อันโด่งดังของหลวงพ่อกี๋

จนมีคำพูดที่ว่า ปลัดขิกสร้างโบสถ์ ส่วนกุฏิและสิ่งก่อสร้างภายในวัดที่สร้างด้วยไม้ในยุคของหลวงพ่อกี๋เป็นเจ้าอาวาสนั้น ชาวบ้านผู้ศรัทธาในองค์หลวงพ่อกี๋ ได้ล่องไม้ซุงลงมาตามแม่น้ำ เพื่อให้หลวงพ่อกี๋ท่านใช้ในการสร้างและทำนุบำรุงวัดหูช้างจากทางจังหวัดตาก เพราะท่านได้สร้างศรัทธาแก่ชาวบ้านที่นั่นเมื่อครั้งท่านยังธุดงค์กรรมฐานอยู่ในป่าลึกแถบภาคเหนือ

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

http://www.pra.kachon.com/

ติดตามเรื่องราวครูบาอาจารย์ได้เพิ่มเติมที่

แอพเกจิ Facebook: www.facebook.com/appgeji

Web Sit: www.appgeji.com

Blockdit: https://www.blockdit.com/pages/639465814b3b1940c4810117

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: