1674.สิงห์งาแกะ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ จ.นครสวรรค์

สิงห์งาแกะ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ จ.นครสวรรค์

หลวงพ่อเดิม ถือว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านชอบเลี้ยงสัตว์พาหนะโดยเฉพาะช้างและม้า เพื่ออาศัยในการบรรทุกหรือลากเข็นสัมภาระต่างๆ ในช่วงที่ท่านชราภาพท่านก็ได้อาศัยขี่หลังช้างและม้าเดินทางไปประกอบกิจทางศาสนา ในสถานที่ต่าง ๆ อีกด้วย เมื่อช้างตายลงหลวงพ่อเดิมก็จะเก็บงาช้างเอาไว้ บางทีลูกศิษย์ลูกหาก็หางาช้างมาฝาก หรือบางทีก็มีผู้นำมาขาย ท่านก็จะเก็บรักษาไว้ เมื่อมีเวลาว่างก็จะนำมาแกะเป็นรูปองค์พระบ้าง นางกวักบ้าง หรือเครื่องรางของขลังต่างๆ อาจเนื่องจาก “งาช้าง” นอกจากจะมีคุณวิเศษเฉพาะตัวแล้ว ยังสามารถใช้ทดสอบพิษในอาหารได้ด้วย พระเกจิคณาจารย์หลายๆ รูปจึงมักนิยมนำมาแกะเป็นองค์พระ และเครื่องรางของขลังต่างๆ เพื่อมอบให้กับศิษยานุศิษย์และคนใกล้ชิด นำไปบูชา พกพา เพื่อเป็นสิริมงคล

“งาช้างแกะ หลวงพ่อเดิม” ที่แกะเป็นองค์พระจะมี “พระปิดตา” แกะเป็น 2 คือ แบบแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีพระเกศแหลมขึ้นไป และแบบแทนองค์พระอัครสาวก ก็จะเป็นพระปิดตาแบบเศียรโล้นธรรมดา นอกจากนี้ก็มี นางกวัก พระประจำวัน ฯลฯ ที่เป็นเครื่องรางของขลังนอกเหนือจาก “มีดหมอ” แล้วเห็นจะเป็น “สิงหราช” มี 2 แบบ คือ สิงหราชธรรมดา มีลวดลายก้นหอยตามตัว ขาทั้งสี่วางบนพื้นราบ กับสิงหราชคำรณ ซึ่งต่างกันตรงขาหน้าขาหนึ่งจะยกเท้าขึ้นในลักษณะกางเล็บออกตะครุบเหยื่อ

ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ “งาแกะสิงหราช” ที่หลวงพ่อเดิมสร้างจะไม่มีการลงจารใดๆ นอกเสียจากมีผู้นำมาให้ท่านลงเป็นกรณีพิเศษ ท่านก็จะลงเพียงอย่างเดียวที่ใต้ฐานสิงห์คือ “นะ มะ พะ ทะ” เท่านั้น การพิจารณา “งาแกะหลวงพ่อเดิม” เรียกได้ว่ายากเอาการอยู่ เนื่องด้วยการแกะนั้นเป็นงานฝีมือซึ่งแกะทีละตัวจึงไม่มีรูปแบบมาตรฐานเป็นที่แน่ชัด ช่างแกะก็เป็นช่างในอำเภอพยุหะคีรีทั้งนั้น

อีกทั้งพระเกจิอาจารย์ที่เป็นศิษย์ของท่านซึ่งมีมากมายก็ล้วนสร้างมีดหมอและงาแกะเช่นเดียวกับพระอาจารย์ จึงนับว่าค่อนข้างยากที่จะพิสูจน์ว่าวัตถุมงคลใดเป็นของหลวงพ่อเดิม และบางครั้งก็มีการนำไปแอบอ้างด้วย ทุกท่านที่สนใจ อยากได้ วัตถุมงคล ของหลวงพ่อเดิม ที่แกะจากงา ก็โปรดใช้ความรอบคอบ พิจารณา พุทธลักษณะ ของพระพุทธที่แกะลงบนงาช้าง รูปสิงห์ รูปนางกวัก ความเก่า ความแห้ง ของงาที่มาของวัตถุมงคลนั้น ๆ จากผู้รู้ ผู้ที่ชำนาญ มีประสบการณ์ในเรื่องความเก่า ความแห้ง ของงา

เบื้องต้นในการพิจารณา “งาแกะหลวงพ่อเดิม” คือ ต้องพิสูจน์ว่าเป็นงาแท้ๆ ก่อน โดยสังเกตจากธรรมชาติของงาคือ จะมีสีเหลืองกลมกลืนกันทั้งผิวและเนื้องา เมื่องามีอายุเก่าแก่มากๆ ก็จะ “แตกลายงา” ซึ่งจะแตกจากเนื้อในออกมาพิจารณาให้ถี่ถ้วน ถ้าผิดอาจารย์ ผิดวัด พุทธคุณ พุทธาคมความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ ก็ผิดกันไป วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ประเภทงาแกะ ไม่ว่าจะเป็นของพระเกจิอาจารย์องค์ไหนก็แล้วแต่ ถ้าแกะจากงาถือว่าศักดิ์สิทธิ์ งาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นของคงทนสิทธิ์ มีอานุภาพ มีคุณวิเศษ อยู่ในตัวอยู่แล้ว ยิ่งแกะเป็นรูปพระก็ดี สิงห์ก็ดี เสือก็ดี ลงอักขระ ปลุกเสก โดยพระเกจิอาจารย์ที่ประพฤติ ปฏิบัติดี ความศักดิ์สิทธิ์ย่อมเกิดขึ้นกับผู้ที่นำไปบูชา พกพา อาราธนาติดตัว บางท่าน ห้อยพระพกเครื่องราง บอกหรือพูดกับคนโน้นคนนี้ว่าตั้งแต่ห้อยพระมาพกเครื่องรางมาไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นกับผมเลย ถึงตอนนี้ผมก็อยากจะบอกกับแฟน ๆ ทุกท่านว่า นั่นแหละครับความศักดิ์สิทธิ์บังเกิดขึ้นกับตัวท่านแล้ว พุทธานุภาพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ดลบันดาลให้ท่านแคล้วคลาดปลอดภัย จากภัยพิบัติ จากศัตรูหมู่มาร จากสิงสาราสัตว์ จากภูตผีปีศาจ จากคนที่คิดร้าย คิดไม่ดี บางครั้งความศักดิ์สิทธิ์ก็ดลบันดาลให้ศัตรูกลับมาเป็นมิตร โบราณเค้าพูดเสมอว่า ร้ายกลับกลายเป็นดี

เครื่องรางประเภทงาแกะของหลวงพ่อเดิม

1. ปะเภทของงา

-ก่อนที่ผมจะกล่าวถึงวัตถุมงคลประเภทงาแกะของหลวงพ่อเดิม เรามาทำความเข้าใจ เรื่องของงากันก่อนนะครับ และงามีอยู่ 4 ประเภท ดังนี้-

1.1 งาเนื้อเหลืองจัด หรือว่างาแก เป็นงาที่ได้จากช้างที่มีอายุมาก งาชนิดนี้ส่วนมากจะยาวและมีน้ำหนักมาก งาประเภทนี้ผ่านการเสียดมามาก ทำให้มีสีคล้ำเหลืองจัด เมื่อนำมาแกะเป็นวัตถุมงคล และถูกนำไปใช้จะมีสีเหลืองแก่ หรือน้ำตาลคล้ำไปเลย

1.2 งาสีเหลืองนวล เป็นงาที่ได้จากช้างหนุ่มที่มีอายุน้อยจะมีสีเหลืองนวลอ่อนๆเมื่อนำมาแกะเป็นวัตถุมงคล และถูกใช้จะมีสีเหลืองนวลคล้ายสีผึ้ง หรือสีเหลืองอ่อนไม่จัด ส่วนมากจะกลวงไม่มากก็น้อย

1.3 งาสีเหลืองอมเขียว เป็นงาได้จากช้างที่เป็นโรค เป็นงาที่หักออกมาเองจะมีสีเขียวหรืออดำแซมกับเหลือง เมื่อถูกความชื้นจะเป็นสีเขียวคล้ายเอาสีไปทาไว้

1.4 งาสีขาว เป็นงาอ่อนที่ได้จากช้างรุ่นลูก มีความสวยงามมากกว่าแก่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่างา “ขนาย” มีรูพรุนในเนื้องาบ้างเล็กน้อยแม้ว่าใช้ไป ยังไงก็ยังคงสีเดิม

2. สิงห์งาแกะหลวงพ่อเดิม

– เมื่อได้เรียนรู้เรื่องงากันมาบ้างแล้ว เรามาทำความเข้าใจกันต่อ ฝีมือช่างแกะสิงหราช ของหลวงพ่อเดิม ว่าเป็นอย่างไร

2.1 ฝีมือประจำวัด ช่างคนนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในตลาดหนองโพ จะแกะด้วยเครื่องมือที่แกคิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยตนเอง ฝีมือจึงขาดความอ่อนช้อย ไม่ค่อยสวยงามเท่าไร แกะแบบสิงห์ในวรรณคดี เป็นสิงห์ที่มีลวดลายเหมือนในวรรณคดีที่เป็นไปอย่างหยาบๆ ไม่ได้ลบแง่มุมให้เกิดความสวยงามซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้-

2.1.1 สิงหราชธรรมดา คือแกะเป็นรูปสิงห์ธรรมดา มีลวดลายก้นหอยตามตัว มีลายสันแข้งขาทั้งสี่นั้นวางอยู่บนพื้นราบ

2.1.2 สิงหราชคำรณ หรือสิงห์มหาดไทย แกะเป็นสองลักษณะ คือ

– สิงห์ลอยองค์ ที่มีรูปลักษณะลอยองค์ กลมนูน เท้าหน้าข้างหนึ่งยกสูง กรงเล็บงุ้มในท่าแผลงสีหนาท ตะครุบเหยื่อ

– รูปแบน มีลักษณะคล้ายสิงหราชธรรมดา แต่ยกขาข้างหนึ่งในลักษะตะครุบเหยื่อ ทั้งตัวสิงห์อยู่ในครอบสี่เหลี่ยม

2.2 ฝีมือภายนอกวัด ช่างในตลาดพยุหะคีรี และช่างในตลาดมโนรมย์ แกะสิงหราช ได้มีความสวยงามมากกว่าช่างประจำวัด เพราะเป็นฝีมือช่างที่อยู่ในเขตพยุหะคีรี และช่างที่อยู่ในตลาดมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นช่างอาชีพแกะได้งดงามกว่าช่างท้องถิ่น

สิงหราชของหลวงพ่อเดิม ส่วนใหญ่ที่พบเห็นมักจะไม่มีเหล็กจารย์ แต่จะมีบ้างเหมือนกัน กรณีที่ลูกศิษย์หรือผู้อยู่ใกล้ชิด นำกลับไปให้หลวงพ่อลงเหล็กจารย์ให้เป็นกรณีพิเศษ และอักขระที่ใช้ลงเหล็กจารย์ จะพบเห็นอักขระเพียง 4 ตัว คือ นะ มะ พะ ทะ ที่ใต้ฐานสิงห์

เมื่อพิจารณาดูโดยท่องแท้แล้วจะพบว่า สิงหราชนั้น อุดมด้วยมหาอำนาจ เพราะเป็นราชสีห์เจ้าป่าแห่งสัตว์ทั้งหลายและมีเมตตา และเป็นตราประจำกระทรวงมหาดไทย

3. พุทธคุณของสิงหราชงาแกะหลวงพ่อเดิม

3.1 คงกระพันชาตรี กันเขี้ยวงาศาตราวุธของศัรู

3.2 เป็นมหาอำนาจ ใครพบเห็นเกรงกลัว ไม่กล้าคิดร้ายหรือทำอันตราย

3.3 ทำงานอาสาเจ้านายรับราชการก็มีแต่ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

Cr.ข้อมูลประวัติ itti-patihan,prageji

Cr.รูปพระสวยๆจาก พ.ต.อ.วัชริศวร์ พงษ์พานิช,คุณอรัญ ถนอมศร,คุณTimmy,น.พ.สมเจต แซ่เจน,คุณอ๊อดเสือ,คุณกวงทอง999,คุณมล เชือกคาด,คุณอัครเดช ลิมประดิษฐากร,คุณอาเจียน บอม,คุณจอมใจ,คุณป้อม ฟูเกษม

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: