1610.ประวัติหลวงปู่พิบูลย์​ วัดพระแท่น​ อุดรธานี​ (ตอนที่ ๑)

ประวัติหลวงปู่พิบูลย์​ วัดพระแท่น​ อุดรธานี​ (ตอนที่ ๑)

หลวงปู่พิบูลย์ นามเดิมชื่อ พิบูลย์ เกิดที่บ้านพระเจ้า ตำบลมะอี อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด บิดาชื่อสา มารดาชื่อโสภา นามสกุล แซ่ตัน บิดาเป็นคนจีน มารดาเป็นคนร้อยเอ็ด มีอาชีพทำไร่ทำนาและค้าขายจนมีฐานะมั่นคง ตามปกติหลวงปู่มีอุปนิสัยชอบทำบุญบำเพ็ญทานกับภิกษุ และคนทุกข์คนจนผู้ตกทุกข์ได้ยาก

เพราะหลวงปู่เห็นว่าผลบุญกุศลที่ได้ทำแล้วจะทำให้เกิดบุญกุศล และเกิดความสุขในภพนี้และภพหน้า บุญกุศลเป็นความดีและเป็นเครื่องห้ามกั้นไม่ให้ไปสู่อบาย หลวงปู่เอาใจใส่ทั้งการบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญเมตตา

ต่อมาแต่งงานกับหญิงชาวบ้านพระเจ้าแต่ไม่ทราบชื่ออยู่ด้วยกันมาหลายปีไม่มีบุตร ส่วนภรรยาต้องการบุตรมาสืบวงศ์สกุล จึงได้ปรึกษากับหลวงปู่พิบูลย์ จึงตกลงกันไปขอบุตรของนางจันที เพราะนางจันทีมีลูกหลายคน นางจันทีก็ยินดียกให้เป็นเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 5 ปี หลวงปู่พิบูลย์ได้นำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

หลวงปู่พิบูลย์ได้อบรมสั่งสอนให้เป็นคนมีอุปนิสัยดี ขยัน ซื่อสัตย์ ว่านอนสอนง่าย เป็นที่รักของหลวงปู่และภรรยา พอเจริญวัยขึ้นมาอายุได้ประมาณ 16 ปี หลวงปู่พิบูลย์ได้ให้เครื่องประดับแก่บุตรสาวซึ่งเป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงามคนหนึ่ง และเป็นที่ชื่นชอบของหนุ่มๆ ต่อมาอายุ 18 ปี หลวงปู่พิบูลย์ จึงได้ให้แต่งงาน พอเห็นว่าบุตรสาวของตนได้แต่งงานกับบุคคลที่มีนิสัยดี พอที่จะไว้เนื้อเชื่อใจได้

หลวงปู่พิบูลย์จึงได้บอกกล่าวกับลูกสาวและลูกเขยว่า”พ่อขอยกทรัพย์สมบัติทั้งปวงนี้ให้แก่พวกเจ้าเป็นผู้ดูแลรักษา ส่วนพ่อจะขอลาบวช” ส่วนภรรยาเมื่อได้ยินหลวงปู่พิบูลย์กล่าวอย่างนั้น ก็ออกปากจะออกบวชชีหนีไปคนละทางตลอดชีวิต

ส่วนหลวงปู่พิบูลย์เมื่อตัดสินใจแล้ว จึงได้ไปปรึกษากับพ่อจารย์ฮวดชักชวนให้ออกบวช พอพ่อจารย์ฮวดได้ยินคำชักชวนของหลวงปู่พิบูลย์ก็ยินดีจะออกบวชด้วย วันต่อมาจึงได้ไปปรึกษากับพระอุปัชฌาย์เรื่องจะบวช พระอุปัชฌายืก็ยินดีอนุโมทนาด้วย พอพระอุปัชฌาย์ตกลงแล้ว

วันต่อมาก็ได้โกนหัวอุปสมบทในวันนั้นทั้งหลวงปู่พิบูลย์และอาจารย์ฮวด แต่ไม่ปรากฏนามฉายาของหลวงปูพิบูลย์ พอบวชแล้วอยู่อยู่จำพรรษาร่วมกับพระอุปัชฌาย์และเหล่าภิกษุสามเณรวัดนั้นจนกระทั่งเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม หลวงปู่พิบูลย์จึงมีความประสงค์จะออกเดินรุกขมูลเจริญกัมมัฏฐานในป่าจึงได้ไปกราบลาพระอุปัชฌาย์อาจารย์และเรียนกัมมัฏฐานอันเป็นข้อปฏิบัติ และบอกกล่าวลาอุบาสก อุบาสิกาที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ญาติโยมก็อนุโมทนาสาธุพร้อมด้วยเครื่องอัฐิบริขารที่จำเป็นส่วนตัว ก็เดินทางออกจากวัดมุ่งหน้าสู่ทางทิศตะวันออก โดยไม่มีใครติดตาม

ไปเฉพาะลำพังรูปเดียว ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น พอเดินทางมาถึงริมฝั่งโขง ก็มีญาติโยมเอาเรือมาส่งไปถึงฝั่งประเทศลาว หลวงปู่พิบูลย์ได้ไปอาศัยถ้ำเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ถ้ำนั้นอยู่ที่ “ภูอาก”ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านเล้กๆแห่งหนึ่ง พอลงมาบิณฑบาตรได้ประมาณ 200 เส้น พอถึงเดือนแปด หลวงปู่พิบูลย์ก็จำพรรษา ณ ที่นั่น พอออกพรรษาแล้ว หลวงปู่พิบูลย์ก็บอกลายาติโยมหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนั้น

หลวงปู่ว่า”ถ้ามีโอกาสก็จะกลับมาแวะอีก” และหลวงปู่พิบูลย์ได้แนะนำสั่งสอนญาติโยมให้ทำบุญบำเพ็ญทาน จะมีบุญกุศลนำมาช่วยเมื่อตาย แล้วหลวงปู่พิบูลย์ก็เดินทางออกจากภูอากมุ่งหน้าสู่ถ้ำแถบภูเขาควายประเทศลาว ต่อมาได้ไปพบกับอาจารย์ไม้เท้าหนักหมื่น (12 กิโลกรัม) ได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมร่วมกับลูกศิษย์อีก 7 รูป เป็นเวลาหลายปี จนอาจารย์เห็นว่าลูกศิษย์แต่ละรูปประพฤติปฏิบัติในธรรมอย่างเคร่งครัด

เห็นว่าได้บรรลุธรรมเป็นส่วนมากแล้ว อาจารย์จึงได้เรียกลูกศิษย์ออกมาทั้ง 7 รูป แล้วเอาลูกสมอให้คนละหนึ่งลูกให้เคี้ยวลูกสมอนั้นให้แตก ปรากฏว่าหลวงปู่พิบูลย์ เคี้ยวลูกสมอแหลกละเอียดพร้อมทั้งอีก 5 รูป ส่วนอีก 2 รูปนั้นไม่แตกแม้กระทั่งเปลือก อาจารย์รู้แล้วว่าผู้ได้บรรลุธรรมและไม่บรรลุธรรมแตกต่างกันอย่างไร ผู้ไม่ได้บรรลุธรรมให้ปฏิบัติธรรมต่อไป ส่วนหลวงปู่พิบูลย์อาจารย์แนะนำให้ไปสร้างวัดอยู่เขตอำเภอหนองหาน

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก พุทธคุณแดนสยาม

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: