1602.เรื่องเล่า หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี

พระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ) ท่านเป็นชาวสมุทรสงคราม ถือกำเนิดในสกุล รัตนคอน ณ บ้านใกล้คลองบางน้อย ตำบลบางพรหม อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม มีนายลอย และนางทับ เป็นบิดามารดา เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน รวม ๒ ท่านโดยท่านเป็นคนโต คือ

๑. พระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ)
๒. นายเฉื่อย รัตนคอน (ถึงแก่กรรมไปแล้ว)

ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีท่านก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดประดู่ฉิมพลี เมื่อวันอังคาร เดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ เวลา ๑๕.๓๐ น. โดยมี

พระครูสมณธรรมสมาธาน (แสง) วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูอักขรานุสิต (ผ่อง) วัดนวลนรดิศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูธรรมวิรัติ (เชย) วัดกำแพง เป็นอนุสาวนาจารย์
มีฉายาในพระพุทธศาสนาว่า “อินฺทสุวณฺโณ”

เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้วท่านก็ได้ตั้งใจศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมด้วยความวิริยะอุตสาหะด้วยจิตที่มุ่งหวังที่จะบรรลุสู่แดนเกษม ต่อมาพระอธิการคำเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีในสมัยนั้นได้ลาสิกขาบทออกไป ท่านจึงรับภาระหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี เมื่อท่านมีอายุได้ ๒๖ ปี พรรษา ๖ และมีฐานานุกรมที่ พระใบฎีกา ท่านได้รับภาระ เป็นเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีสืบมาจนถึงแก่กาลมรณภาพ

ถึงแม้ท่านจะมีภาระหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ ท่านก็มิย่อท้อต่อการศึกษาและการปฏิบัติทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ด้วยความมุมานะจนสอบได้ น.ธ.ตรีได้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ครั้นเมื่อพระอาจารย์พรหม ผู้ซึ่งให้การอบรมสมาธิกรรมฐานแก่ท่าน ได้มรณภาพไปแล้วท่านก็ได้ออกแสวงหาศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ออกธุดงธ์
โดยในขั้นต้นท่านได้ออกจาริกธุดงค์ไปศึกษากับพระอาจารย์รุ่ง (หลวงพ่อรุ่ง) วัดท่ากระบือ จังหวัดสมุทรสาคร จากนั้นก็ได้ไปศึกษาวิปัสสนากับหลวงพ่อโหน่ง วัดอัมพวัน (วัดคลองมะดัน) อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และได้ธุดงค์ไปทางเหนืออีกหลายครั้ง พร้อมทั้งศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อกับพระอาจารย์หลายอาจารย์ด้วยกัน ซึ่งในระยะนั้นหลวงปู่ไม่ค่อยได้อยู่วัดประดู่ฉิมพลี นอกจากเทศกาลเข้าพรรษา

เมื่อออกพรรษาแล้วต่อจากนั้นท่านก็ได้เดินธุดงค์ไปทางภาคใต้ และได้จำพรรษาอยู่ที่ปัตตานี จากนั้นท่านได้เลยไปจำพรรษาอยู่ที่สิงคโปร์หลายปี เมื่อหลวงปู่กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดประดู่ฉิมพลีตามเดิมแล้ว ท่าได้สร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งทำด้วยไม้สักประดับมุก และได้นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดในประเทศสิงคโปร์ (จำชื่อวัดไม่ได้) ปัจจุบันนี้รอยพระพุทธบาทจำลอง ได้กลายเป็นวัตถุโบราณไปแล้ว

ถ้ำสิงโตทอง
พระราชสังวราภิมณฑ์​ (หลวงปู่โต๊ะ)​ ท่านมีสถานที่บำเพ็ญธรรมของท่านอีก ๒ แห่ง คือที่สำนักสงฆ์ถ้ำสิงโตทองแห่งหนึ่ง และที่วัดพระธาตุสบฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งท่านไปสร้างกุฏิไว้อีกแห่งหนึ่ง ที่วัดพระธาตุสบฝางท่านไม่ค่อยได้ไปจึงจะไม่กล่าวถึง จะกล่าวถึงถ้ำสิงโตทองแต่เพียงแห่งเดียว

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านได้เดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี ได้ไปพบกับพระมานิตย์เข้าพระมานิตย์พูดกับท่านถึงถ้ำสิงโตทอง ที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี และชวนท่านให้ไปชม หลังจากนั้นท่านก็มีโอกาสได้ไป และไปเห็นว่าสถานที่นั้นเป็นที่สงบสมควรแก่นักปฏิบัติธรรม ทั้งอยู่ไม่ห่างไกลกรุงเทพ ฯ มากนัก

ท่านจึงไปอยู่ปฏิบัติธรรมที่ถ้ำสิงโตทองเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ แล้วเริ่มปรับปรุงให้มีความสะดวก เหมาะสมที่จะตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรม คือได้สร้างกุฏิสำหรับท่านพักหลังหนึ่ง กุฏิเล็กอีกหลายหลัง ตามไหล่เขาข้างถ้ำสิงโตทอง พร้อมทั้งโรงครัวและที่พัก สำหรับลูกศิษย์ที่ประสงค์จะติดตามไปค้างแรมหาความสงบสุข อยู่กับท่าน ท่านได้สร้างพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปแบบและปางต่าง ๆ

เช่น แบบพระพุทธชินราช พระปางลีลา ปางมารวิชัย กับรูปเจ้าแม่กวนอิม เชิญไปไว้ที่ถ้ำในบริเวณใกล้ ๆ กันนั้นขึ้นอีกหลายแห่ง ได้เชิญพระพุทธรูปที่ผู้มีศรัทธาสร้างถวาย ไปประดิษฐานไว้ให้สักการะกัน ครั้งหลังที่สุดท่านได้สร้างรูปพระมหากัจจายนะนำไปประดิษฐานไว้ที่หน้าถ้ำกลาง

ต่อมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๙ พระมานิตย์ซึ่งรับหน้าที่ดูแลถ้ำสิงโตทองมรณภาพลง ท่านได้ส่งพระรูปอื่นไปดูแลแทน ได้มีผู้ศรัทธาถวายที่ดินเพิ่มให้อีก ท่านจึงวางโครงการก่อสร้างให้เพิ่มเติมอีก จะสร้างโบสถ์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ โรงเรียนเด็กสำหรับลูกชาวไร่ สระน้ำ พร้อมกับซื้อที่บริเวณหน้าถ้ำเติมอีก ๙๐ ไร่เศษ รวมกับเนื้อที่เดิมเป็น ๑๔๐ ไร่ ทำถนนเชื่อมกับถนนส่วนใหญ่ ให้เป็นทางเข้าออกที่สะดวก องค์ท่านควบคุมดูแลการดำเนินงานนี้อย่างใกล้ชิด

ที่มา พุทธคุณแดนสยาม

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: