3636. ไม้ตะพดกับคมแฝกตอนที่ 1 (ไพฑูรย์ พันธุ์เชื้องาม)

ผู้เขียนได้ชมภาพยนตร์ทางจอแก้วเรื่อง’’คมแฝก’’ อันนำเอาบทประพันธ์ของเสนีย์ บุษประเกศมาดัดแปลงทำเอาผู้ชมเคลิบเคลิ้มไปไหนมาไหนเห็นคนถือคมแฝกหนาตาแต่ขอโทษเพลงคมแฝกที่ปรากฏในภาพยนตร์ไม่เคยมีในสารบบการต่อสู้ของไทยโบราณโดยเฉพาะคมแฝกบูมเมอร์แรง เพียงแต่แสดงเอามันส์ ความเป็นจริงไม่มีหรอกครับท่าน

นึกขึ้นมาได้ว่าไพฑูรย์เคยเล่าให้ฟังถึงเรื่องไม้ตะพดและคมแฝกเอาไว้จึงขอนำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้อ่านเป็นเครื่องประเทืองปัญญา

ไม้ตะพดเป็นอาวุธโดยใช้ตามกฎหมายหาใช่อาวุธโดยสภาพเริ่มมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยใช้ด้วยวัตถุประสงค์สองประการ ประการแรกเป็นเครื่องป้องกันตัวของชาวบ้านทั่วไปเมื่อเวลาจะเดินทางไปไหนมาไหน ประการที่สองเป็นไม้กันหมาเพราะสมัยโบราณนิยมเลี้ยงหมาไว้เฝ้าบ้าน

ไม้ตะพดโบราณนั้นทำด้วยไม้ไผ่เป็นหลักโดยเลือกเอาไม้ไผ่ที่ตันไม่มีไส้กลวงภายในขนาดกำลังพอเหมาะมือและมีเคล็ดในการนับปล้องโดยเอามือกำตั้งแต่โคนลงมาปลายแล้วนับในใจว่า

‘’กูตีมึง มึงตีกู กูตีมึง’’ ไปจนข้อสุดท้ายให้มีความสูงเกินเอวขึ้นมาเล็กน้อยเรียกว่าพอเหมาะข้อสุดท้ายที่กำต้องตก กูตีมึง แล้วจึงเอาหางกระเบน(สมัยอยุธยาไม่มีกระดาษทรายเวลาขัดใช้หางกระเบนขัดให้ส่วนที่ตัดให้เรียบร้อยแต่งเกลาให้ดีหาโลหะมาเลี่ยมที่หัวและท้ายโดยให้มีน้ำหนักที่ตึงมือใช้ตีเข้าไปที่ร่างกายของศัตรูโดยให้แบ่งดังนี้

”ตีให้ตาย” ตีตรงกลางกระหม่อมกระหม่อมเป็นส่วนที่บางที่สุดของกะโหลกศีรษะเรียกว่าถ้ากระหน่ำตีลงไปเต็มที่กระหม่อมยุบลงไปกดมันสมองด้านล่างถึงตายในทันที

”ตีทัดดอกไม้” ที่กกหูของมนุษย์ส่วนนั้นกะโหลกไม่หนานักและเป็นส่วนที่ใกล้กับแกนสมองตีลงไปสุดแรงกะโหลกร้าวแกนสมองได้รับความกระทบกระเทือนแม้ไม่ตายก็เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตไม่ก็ปัญญาอ่อนไปเลย

”ตีหน้าท้อง” เป็นที่รวมอวัยวะภายในตีเข้าไปทำให้ไส้แตก ตับแตก ไตแตก ด้วยสมัยก่อนโน้นไม่มีการผ่าตัดรักษา

การใช้ไม้ตะพดนั้นก่อนที่จะเรียนแม่ไม้ ครูจะต้องสอนให้รู้จักการตี ลงน้ำหนัก การตีต้องรู้น้ำหนักของการตีความหนักเบาของแรงในการตี อาทิ

‘’ตีสั่งสอน’’ ตีแบบที่เรียกว่ายั้งมือโบราณเรียกว่า เบาะๆเอาเลือดหัวออกนักเลงไม้ตะพดหากฝึกน้ำหนักการตีแล้วจะทำได้ไม่ยากในการตี

‘’ตีให้ได้อาย’’ ตีแบบนี้เขาเลือกตีที่หน้าแง หน้าผากเหนือหัวคิ้วที่ไม่มีอะไรปกคลุมพอแผลหายก็เกิดแผลเป็นส่องกระจกคราใดก็รู้สึกเจ็บใจไม่รู้วาย

‘’ตีให้เสียคน’’ ตีแบบนี้คือแสดงความเหนือชั้นตีจนไม้ตะพดหลุดจากมือคู่ต่อสู้แล้วตีล่างตีบนสลับไปมาให้คู่ต่อสู้ปิดป้องเหมือนฤาษีตีลิงซนคนเห็นแล้วก็เวทนาว่าเหมือนเด็กหัดใหม่ นักเลงแค่ไหนไพฑูรย์บอกว่ารู้ถึงไหนอายถึงนั่น

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ยุคต้นนักเลงหัวไม้ยังคงนุ่งผ้าลอยชายถือไม้ตะพดกันอยู่ ถือว่าเป็นการอวดฝีมือและแสดงให้เห็นว่าเป็นนักเลงหัวไม้ใครไม่แน่จริงก็หลบไป

ครั้นมาถึงยุครัชกาลที่ 4 ชาติตะวันตกเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยมากขึ้นโดยเฉพาะชาวอังกฤษนิยมถือร่มกับไม้เท้าโดยเฉพาะไม้เท้าหัวงามๆจึงแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย

เมื่อไม้เท้าจากตะวันตกเข้ามาทำให้ไม้ตะพดไทยดูขัดตาหรือไม่ทันสมัยบรรดาเชื้อพระวงศ์ขุนนางข้าราชการเริ่มหันมาถือไม้เท้าที่มีหัวงามๆมากขึ้นช่างไม้ไทยเอาไม้เท้าของฝรั่งมาดูแล้วก็มาดัดแปลงเป็นของไทย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์และเสด็จไปสิงคโปร์ไปอินเดียและเสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง จึงเกิดชุดราชแพทเทิร์น
(ต่อมาเพี้ยนเสียงกลายเป็นชุดราชประแตน) นาฬิกาพกมีสายกับไม้เท้าหัวเลี่ยมแปลกๆกลายเป็นเครื่องประดับโดยเฉพาะหัวไม้เท้ามีการประกวดประชันกันเป็นการใหญ่ความนิยมไม้ตะพดแบบดั้งเดิมก็เลยหายไปไม้เท้านั้นแหละคือไม้ตะพด

ในวังของเชื้อพระวงศ์บ้านผู้รากมากดี ขุนนางข้าราชการมีไม้เท้าวางเรียงกันในที่เก็บที่เรียกว่าราวไม้เท้าไปไหนมาไหนก็ถือไม้เท้าหัวเลี่ยมด้วยโลหะหนักๆเพื่อแทนอาวุธ เกิดเป็นไม้ตะพดแปลงรูป

ไม้เท้าไทยมักนิยมทำด้วยไม้ต้นแก้วที่มีอายุมากเอามาตัดมาดัดให้ตรงพึ่งแดดจนแห้งเรียกว่า ไม่หด ไม่คด ไม่งอ เข้ารูปจึงขัดให้ขึ้นลวดลายและทาเชลแล็กลงน้ำมันขัดเงาให้งดงามการทาเชลแล็กต้องทาพอแห้ง แล้วขัดออกด้วยกระดาษทราย ทาใหม่พอแห้งแล้วขัดอีกอย่างน้อยก็ 7 ครั้งจึงลงน้ำมันขัดเงา

ต่อมาก็มีการใช้ไม้มะเกลือและไม้ประดู่ที่มีลวดลายสวยๆมาทำไม้เท้าเพิ่มขึ้น

การทำหัวไม้เท้าก็ใช้วัสดุเช่นทองคำ เงิน นาคสัมฤทธิ์แบบขันลงหิน งาช้าง เขี้ยววอลรัส ปลาพะยูนฯลฯ ออกแบบกันแบบพิสดารช่างที่เรียกกันว่า ‘’ช่างเลี่ยมหัวไม้เท้า’’ มีงานล้นมือทำไม่ทันยิ่งประกวดได้รางวัลด้วยแล้วงานมาหาจนรับไม่ไหว

นักเลงหัวไม้ยุคคุณปู่จึงหันมาใช้ไม้เท้าหัวเลี่ยมแทนไม้ตะพดไม้ไผ่ที่ล้าสมัยหากไม่มีเงินจะหาไม้มะเกลือไม้ประดู่ก็หันมาหาไม้เนื้อแข็งที่เรียกกันว่า’’ไม้จริง’’ อันได้แก่ ไม้เต็ง ไม้แดง ไม้มะค่า เป็นอาทิ ไม้บางอย่างลวดลายไม้สวยไม่แพ้ไม้แก้ว แม้ไม่ใช่ไม้ไผ่แต่การใช้กำมือวัดไม้แล้วนึกในใจว่า

‘’กูตีมึง มึงตีกู’’ จนสุดท้ายก็คือกูตีมึงยังคงเหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นไม้ตะพดหรือไม้เท้าการใช้ก็เหมือนกันคือเป็นอาวุธป้องกันตัวและป้องกันหมา

ไพฑูรย์เล่าว่าเมื่อเป็นนักเรียนอาจารย์กี้ นอกจากฝึกกระบี่กระบองแล้วยังสอนการใช้ไม้ตะพดเพื่อป้องกันตัวจากอาวุธของคู่ต่อสู้สามารถผ่อนหนักเป็นเบาจากการสู้กับผู้ที่มีดาบเป็นอาวุธ คนที่เรียนวิชากระบี่กระบองแล้วจะเรียนการใช้ไม้ตะพดได้ง่ายด้วยลวดลายลีลามาจากการใช้ดาบเดี่ยวนั่นเอง

การใช้ดาบเดี่ยวก็มีการฟันล่าง ฟันบน ฟันกลาง แทงบน แทงล่างปัดป้อง รุก ถอย คุมเชิงตะพดก็เช่นกัน ตะพดใช้กระทุ้งแทนการแทงจุดสำคัญที่กระทุ้งคือลิ้นปี่ การชิงความได้เปรียบคือการตีข้อมือที่ถือดาบให้ดาบหลุดจากมือคราวนี้ก็ตีสั่งสอนให้หมอบแต่การใช้ไม้ตะพดสู้กับดาบต้องไม่ประมาทเป็นอันขาดเพราะดาบทั้งแหลมทั้งคมอาจารย์กี้สอนว่าเวลาเข้าสู้กับดาบให้ภาวนาเอาไว้ทุกลมหายใจว่า

‘’อิสวาสุ’’

อิ มาจาก อิติปิโสภะคะวา นมัสการพระพุทธคุณ

สวา มาจาก สวากขาโต นมัสการพระธรรมคุณ

สุ มาจาก สุปฏิปันโน นมัสการพระสังฆคุณ

เป็นสุดยอดคาถาแคล้วคลาดแม้เวลาเล่นกระบี่กระบองก็ภาวนาได้เหมือนกัน

ปัจจุบันไม้ตะพดที่ทำด้วยไม้ไผ่หมดความสำคัญลงไปเหลือเพียงเป็นของที่ระลึกในงานนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรีและการไปเที่ยวนครนายกที่น้ำตกสาริกา นางรอง ส่วนไม้เท้าก็กลายเป็นของโบราณอันทรงคุณค่ามีการซื้อขายในราคาแพงในหมู่นักสะสมไม้เท้า

ไพฑูรย์สรุปว่าไม้ตะพดคืออาวุธของลูกผู้ชายโบราณ เมื่อปืนพกอันทันสมัยมาแทนที่ดาบโบราณแต่ตำนานของไม้ตะพดยังคงเรืองรองอยู่ในอดีต รูปถ่ายนักเลงโบราณนุ่งโสร่ง ผ้าขาวม้าพาดบ่า นุ่งผ้าหยักรั้ง นุ่งผ้าลอยชาย ไว้หนวดเฟิ้มในมือถือตะพดดูน่าเกรงขามเป็นตำนานแห่งไม้ตะพด

พระฉายาของเชื้อพระวงศ์ทรงฉลองพระองค์ในเครื่องลำลอง หรือชุดราชประแตนในพระหัตถ์ถือไม้เท้าหัวเลี่ยมทองคำหรือหัวมีลักษณะพิเศษยังคงปรากฏให้เห็นเป็นสง่าเป็นตำนานแห่งไม้เท้า

เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีภาพนักเลงโบราณถือไม้คมแฝกแทนตะพดถ่ายภาพให้ปรากฏ ไพฑูรย์บอกว่ามันมีเหตุผลที่อธิบายได้ไพฑูรย์ได้เล่าเรื่องของไม้คมแฝกไว้อย่างน่าสนใจเหมือนกันแต่เป็นในอีกมุมมองหนึ่งที่แปลกแยกออกไป

ผู้เขียนได้พยามฟื้นความทรงจำให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมิใช่น้อยเหมือนกันแต่เนื้อที่จำกัดจึงต้องขอยกยอดไปในตอนหน้าท่านผู้อ่านจะได้รับรู้ถึงเรื่องของไม้คมแฝกในอีกมุมมองของนักสู้แบบสิงโตหินที่อาจจะแตกต่างไปจากมุมมองของผู้อื่นที่ท่านผู้อ่านได้เคยได้ยินหรือได้อ่านมาก่อนพบกันใหม่ตอนหน้าครับ

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : นักเลง โบราณ ตำนานหนังเหนียว
ขอขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : หนังเรื่องคมแฝก
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: