6135. เจ้าพ่อประตูผา นักรบผู้กล้าแห่งเมืองลำปาง

วันนี้ได้เวลาเขียนเรื่องราวของนักรบผู้กล้าท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยนะคะ นั่นก็คือ หนานข้อมือเหล็ก หรือ เจ้าพ่อประตูผา

คนรุ่นใหม่ ที่เกิดมาในยุคโลกาภิวัฒน์ อะไร ๆ ในชีวิตสะดวกสบายกันไปหมด อาจจะหลงลืมไปว่าบรรพบุรุษได้ใช้เลือดเนื้อและชีวิตแลกกับดินแดนอันแสนสวย และ อุดมสมบูรณ์มาให้พวกเราคนรุ่นหลังได้อาศัยกันอย่างร่มเย็น. ดังนั้นอย่าลืมบุญคุณของบรรพบุรุษนะคะ

เรามาลองอ่านประวัติของหนานข้อมือเหล็กกันดีไหม??? เตรียมผ้าเช็ดหน้าได้เลยสำหร้บคนบ่อน้ำตาตื้น เราน่ะน้ำตาหยดไปแล้วล่ะคะ ขอให้มีความสุขในการอ่านนะคะ

ขอบคุณท่านหนานข้อมือเหล็กที่ต่อสู้เพื่อปกป้องเอกราชของประเทศไทยค่ะ

—————————————————————–
เจ้าพ่อประตูผาหรือ ”พระยามือเหล็ก” เป็นคนบ้านต้า (ปัจจุบันคือบ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง) เป็นเด็กกำพร้าบิดามารดา บวชเรียนป็นศิษย์ของเจ้าอธิการวัดนายาง อ.แม่ทะ จ.ลำปาง “ได้ศึกษาวิชาอยู่ยงคงกระพัน สามารถใช้แขนแทนโล่ห์ได้ เมื่อลาสิกขาออกมา ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หนานข้อมือเหล็ก”

ต่อมาไปเป็นทหารเมืองเขลางค์(ลำปาง) รับใช้เจ้าเมืองลำปางขณะนั้นคือ เจ้าลิ้นก่าน (ลิ้นสีดำ) เพราะมีนิสัยกล้าหาญ และมีฝีมือในการรบ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระยามือเหล็ก

ต่อมาเมืองเขลางค์ถูกทัพพม่าซึ่งมีท้าวมหายศ ซึ่งยึดครองเมืองลำพูนรุกราน เจ้าลิ้นก่านพร้อมกับทหารจำนวนหนึ่ง และ พระยามือเหล็ก จึงหนีมาตั้งหลักที่ดอยประตูผา และได้มอบหมายให้ขุนนาง 4 คน คือ แสนเทพ แสนหนังสือ แสนบุญเรือน และ จเรน้อย ดูแลรักษาเมืองอยู่

ขุนนางทั้งสี่ไม่กล้าต่อสู้กับทหารพม่า ซึ่งกำลังจะเข้าบุกเมือง เจ้าอธิการวัดนายาง จึงรวบรวมชาวบ้านเข้าต่อสู้สกัดทัพพม่าแต่ก็สู้ไม่ได้ต้องแตกหนีกันไป ท้าวมหายศแม่ทัพพม่าจึงส่ง ขุนนาง 3 คน คือ หารฟ้าฟื้น หารฟ้าแมบ และ หาญฟ้าง้ำ เข้ามาเจรจากับฝ่ายเมืองเขลางค์ให้ยอมแพ้ แต่ก็ตกลงกันไม่ได้ พม่าจึงบุกเข้าเมือง และ สังหารขุนนางทั้งสี่

แต่จเรน้อยหนีรอดไปได้ และ ไปสมทบ ทหารพม่าไล่ติดตามมาทันที่ดอยประตูผาซึ่ง มีภูมิประเทศเป็นหน้าผาสูงชัน มีทางเข้า ออก เพียงทางเดียว พญาข้อมือเหล็กจึงให้จเรน้อยพาเจ้าลิ้นก่านไปหลบอยู่ในถ้ำ และได้เข้าต่อสู้กับทหารพม่าอย่างกล้าหาญ
โดยใช้ดาบสองมือ ทหารพม่าล้มตายลงเป็นอันมาก จนทหารพม่าล่าถอยไปไม่กล้าบุกต่อ

พญาข้อมือเหล็กอ่อนแรงถือดาบนั่งพิงหน้าผาคุมเชิงอยู่จนสิ้นใจ ฝ่ายทหารพม่าก็ไม่กล้าบุกเข้ามาเพราะนึกว่าเป็นกลอุบายจึงล่าถอยกลับเมืองเขลางค์ เมื่อเจ้าลิ้นก่าน และ จเรน้อย ออกมา จึงพบร่างพญาข้อมือเหล็กสิ้นใจพิงหน้าผาอยู่ จึงได้ตั้งศาลเพียงตา และ เชิญดวงวิญญาณของพญาข้อมือเหล็กมาสิงสถิตอยู่ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงความดี และความกล้าหาญ ไว้ให้บรรพชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงโดยตั้งชื่อว่า ”ศาลพญาข้อมือเหล็ก” ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า ”ศาลเจ้าพ่อประตูผา”

รางวัลแห่งความซื่อสัตย์และกล้าหาญ บางครั้งไม่ได้สวยหรูเสมอไปนะคะ. แต่มันคือความตายค่ะ ในกรณีนี้ เราเชื่อว่า… ท่านหนานข้อมือเหล็ก คงยินดีมากที่ได้ทราบว่า ทหารพม่าไม่สามารถบุกเข้าเมืองลำปางได้ เนื่องจากกลัวเกรงในความกล้าหาญของท่าน เรียกว่าทัพใหญ่แค่ไหน ก็พ่ายแพ้ต่อคน ๆ เดียวได้ค่ะ ฝากไว้สั้น ๆ นะคะ เพื่อพวกเราจะได้ไม่ลืมบุรุษผู้กล้าท่านนี้ค่ะ

————————————————————

พญามือเหล็กหรือเจ้าพ่อประตูผา แห่งเขลางนคร เป็นยอดขุนพลของเจ้าลิ้นก่าน กษัตริย์เขลางนคร มีผลงานเป็นที่ประจักษ์กล้าหาญและจารึกว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๕๑-๒๒๗๕ เป็นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยที่พระเจ้าท้ายสระต่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์โน้น แคว้นลานนาไทยตกภายใต้อิทธิพลของพม่าเกือบทั้งสิ้น กล่าวคืน นครเชียงใหม่วัดล้มครืนลงอีกคราวนึ่งสมัยพระเจ้าเมกุฏิ (พ.ศ.๒๑๐๖) ได้เสียเอกราชให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง ปีต่อมาได้คิดปฏิวัติต่อพม่าก็ถูกพม่าวัดล้มครืนลงอีกคราวหนึ่ง พม่าจึงจัดตั้งนางวิสุทธิเทวี เจ้าหญิงไทยขึ้นครองถึงปี พ.ศ. ๒๒๗๔ ก็ได้สิ้นพระชนม์ลง บุเรงนองได้ส่งนายทหารพม่าชื่อ มังนรธาช่อ (โอรส) มาปกครองเมืองเชียงใหม่สืบต่อมาถึง ปี พ.ศ. ๒๒๗๕ พม่าอ่อนกำลังลง เจ้าองค์นกหรือองค์ดำ ราชวงศ์เชียงใหม่-หลวงพระบาง ได้นำคนเข้ากอบกู้เอกราชคืนสำเร็จ จึงได้ขึ้นครองราชเป็นเจ้านามว่า พระหอดำ จนถึง พ.ศ. ๒๓๐๕ จึงสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอังวะ พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ จึงส่งนายทหารปกครองเมืองเชียงใหม่แทน ชื่อ โปมะยุง่วน (โป่หัวขาว) ให้คนไทยชื่อพญาจ่าบ้าน เป็นพ่อเมือง เชียงรายก็ตกเป็นเมืองขึ้นพม่าข้าศึกด้วย เมืองแพร่ เมืองน่าน ยังเป็นอิสระเพราะมีเจ้าไทยปกครองกันเอง ส่วนนครลำพูนไชย มีเจ้าหรือท้าวมหายศ ปกครองอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่าสมัยนั้น เราเรียกว่า พม่าเชียงใหม่ และพม่าลำพูน สำหรับนครเขลางค์ถูกอิทธิพลของพม่าบ้านแตกสาแหรกขาดทั้งเจ้าข้าหลบหนีตายเข้าป่าไปจำนวนมา คือเจ้าลิ้นก่าน หนีไปอยู่ที่ประตูผา นครเขลางค์จึงเหมือนว่าเจ้าครองเมือง มีแสนหนังสือ แสนเทพ แสนบุญเรือน และจเรน้อย แต่ทั้ง ๔ ท่าน คอยชิงดีชิงเด่นกันปกครองราษฎรไม่ปกติสุขความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าเขลางค์ เร่าร้อนเป็นไฟทั่วใบหน้า

ด้วยเหตุฉะนี้ พระอธิการเจ้าอาวาสวัดนายาง (เขตอำเภอแม่ทะ จ.ลำปาง) สมัยนั้น ราว พ.ศ.๒๓๓๒ ท่านเชี่ยวชาญวิทยาคมไสยศาสตร์ เวทมนต์คาถา มีชาวประชาเลื่อมในศรัทธาฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหามากมายได้ปรึกษาหารือกัน เมื่อเห็นว่าขืนปล่อยให้บ้านเมืองเดือดร้อนลุกเป็นไฟ อย่างสภาพเท่าที่เป็นอยู่นี้ นครลำปางคงเหลือแต่ชื่อแน่ ๆ จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกพอสมควรแล้วจึงได้พากันชุมนุมปรึกษาหาทางกู้อิสรภาพบ้านเมืองต่อไปจะมักมาอาศัยขุนนางทั้ง ๔ เห็นทีจะล้มเหลวเป็นแน่แท้

อย่างไรก็ดี ความนี้ทราบไปถึงท้าวมหายศพม่าลำพูน ซึ่งมีเขตติดต่อกับนครลำปาง จึงฉวยโอกาสยกทัพมาหมายจะปราบผู้มีบุญนครลำปาง เมื่อข้าศึกยกทัพพม่า ท่านอธิการฯ ได้คุมสมัครพรรคพวกออกสู้รบเป็นสามารถในที่สุดถึงขั้นตะลุมบอนกันที่บริเวณทุ่งป่าตัว (บ้านป่าตัน เขตตำบลปงแสนทอง อ.เมือง จ.ลำปาง ) อนิจจังน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ เพราะกำลังพม่าข้าศึกมากกว่าไทยหลายเท่ายิ่งสู้เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ ดังนั้น ท่านอธิการวัดนางยางจึงได้แตกพ่ายบริวารขวัญหนีดีฝ่อทิ้งดาบทิ้งปืนหลบหนีตายไปทางใต้ในที่สุดเข้าไปหลบอยู่ในเขตคูกำแพง (วัดพระธาตุลำปางหลวง ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง) ทัพท้าวมหายศแห่งลำพูนได้ไล่ขยี้ตามไปติด ๆ ท่าน
อธิการฯ กับเสนาขวา-ซ้ายปล่อยให้บริเวณหนีเข้าไปภายในกำแพงวัดก่อน ส่วนท่านกับเสนาออกต้านข้าศึกไว้ กองทัพลำพูนไล่ไปทัน จึงประจันบานกันระหว่างทาง ขณะนั้นท่านสมภารกับเสนาทั้งสองมีแต่ไม่กระทู้เสารั้วสวน ส่วนพม่าข้าศึกมีทั้งปืนทั้งดาบได้ต่อสู้กันอย่างประชิดตัวไม่กลัวตายใครดีก็อยู่ ใครไม่สู้ก็ตาย พวกพม่าลำพูนเกือบจะปราชัยอยู่แล้วทีเดียว บังเอิญท่าสมภารถูกระสุนที่หว่างคิ้ว แม้มันไม่ระคายผิวแต่ความแรงก็ทำให้ปวดบวมมองอะไรไม่เห็น ถูกพม่ารุมตีฟันแทงจบจนบอบช้ำไปหมดเซถลาลง ฝ่ายสมภารวัดบ้านฟ่อนได้รับบาดเจ็บที่หางตาซ้าย สมภารวัดสามขาบาดเจ็บที่หัวเข่าต่างหมดแรง แม้ร่างกายไม่มีรอยบาดแผลก็จริง ก็ล้มหมดแรงสิ้นลมปราณ ๓ คน สู้กับข้าศึกเป็นร้อย น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ จึงถึงแก่กรรมอย่างหาญกลางสมรภูมิในที่สุด

เมื่อได้ชัยชนะแล้วท้าวมหายศพม่าลำพูนได้นำพลไปฉลองชัยในเขตกำแพงพระธาตุลำปางหลวงให้ทหารตระเวนเกณฑ์เก็บภาษีอากร และยึดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงกันอย่างอิ่มหมีพลีมัน บ้านเรือนใดมีใครมีสาวสวยเมียงามไม่พูดพล่ามทำเพลง หรือเกรงใจเลยจับมาใครขัดขืน ฟันแทงฆ่าตายอย่างผักปลา ได้สุรานารีมาแล้วก็ดื่มอย่างสนุกสนานภายในเขตวัดไม่ยำเกรงนรกหมกไหม้ ทั้ง ๆ ที่เป็นชาวพุทธเป็นที่เวทนาเป็นอย่างยิ่ง ชาวนครลำปางเดือดร้อนกันไปทั่วกลียุค เกิดเพราะน้ำมือของพม่าข้าศึกคราวนั้นน่าเวทนายิ่งนัก

ท้าวมหายศจึงสั่งให้ทหารทั้ง ๓ ของตน มีหาญฟ้าแมบ, หาญฟ้างำและหาญฟ้าฟื้น ทำทีนำสารไปเจรจาความเมืองกับขุนนางทั้ง ๔ ของลำปางขณะนั้น ซึ่งมี แสนหนังสือ แสนเทพ แสนบุญเรือน และจเรน้อย ขณะเจรจากับพม่าพยายามเอาเปรียบทุกวิถีทาง ในที่สุดจเรน้อยไม่ยอม บอกว่าสมควรจะอัญเชิญท้าวลิ้นก่านเจ้าเมืองเขลางนค์ที่หนีไปอยู่ดอยประตูผามาเป็นประธานด้วย ฝ่ายพม่าเห็นว่าไม่ได้การจึงชักดาบออกไล่ฟันแทงขุนนางทั้ง ๔ ล้มตาย เกือบหมด เหลือเพียง จเรน้อยกับบริวาร ๒-๓ คน หนีตายไปสมทบกับท้าวลิ้นก่านและได้เชิญท้าวลิ้นก่านกลับไปครองนครเขลางค์อีก แต่ก็ไม่ยอมกลับ จเรน้อยจึงยอมอยู่กับท้าวลิ้นก่านที่ดอยประตูผา แต่ขณะนั้นยังมีทหารเอกที่จงรักภักดีคอยรับใช้อยู่ นั่นคือ พญามือเหล็ก ท่านผู้นี้เป็นชาวบ้านต้า (คือบ้านร่องต้า ต.บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง) เป็นเด็กกำพร้า ญาตินำไปถวายท่านอธิการวัดนายางเคยเป็นเด็กวัดเรียนหนังสือรุ่นราวคราวเดียวกับ จเรน้อยและหนานทิพย์ช้าง มีวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพัน ฟันแทงไม่เข้า สามารถใช้แขนโล่ได้ คนส่วนมากจึงเรียกว่า “หนานข้อมือเหล็ก” คอยรับใช้อารักขา ท้าวลิ้นก่านที่ดอยประตูผา

กล่าวถึงจเรน้อยนำสมัครพรรคพวกลี้ภัยมาหาท้าวลิ้นก่านมาพบหนานข้อมือเหล็ก ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น “พญามือเหล็ก” แล้วก็ดีใจซ่องสุมกำลังเตรียมการกู้ชาติให้จงได้ แต่บริวารที่มาด้วย เห็นฝีมือของจเรน้อยแล้วไม่ไหวขืนอยู่ด้วยเห็นจะถูกพม่าฟันตายอายุสั้น เปล่า ๆ จึงพากันหลบหนีไปอยู่เมืองต้า (บ้านร่องต้า ต.บ้านหวด อ.งาว) เมืองเมาะ (บ้านแม่เมาะ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ) เมืองตีบ (ต.แม่ตีบ (เวียงทิพย์) อ.งาว) เมืองลอง (อ.ลอง จ.แพร่) ด้วยเหตุนี้เองนครลำปางจึงทิ้งร้างว่างเปล่ากลัวพม่าลำพูน หาผู้คนมาอาศัยน้อยเต็มที ที่มีอยู่มากก็จะมีที่เมืองจาง (บ้านสบจาง เขต อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง) เพราะพวกคนนี้เป็นคนมีฐานะ คิดถึงทรัพย์สมบัติเดิมอยู่ หากบ้านเมืองสงบสุขเมื่อใดก็จะกลับไปบ้านเดิมเมื่อนั้น นครลำปางได้ปล่อยร้างอยู่ไม่นาน ต้นปี พ.ศ. ๒๒๗๔ มีเจ้าอธิการวัดแก้มชมภู (เขต อ.เมือง จ.ลำปาง) ชำนาญโหราศาสตร์ จึงซ่องสุมผู้คนคิดกู้บ้านเมืองจากพม่าปรากฏว่ามีบริวารพอสมควร วันหนึ่งท่านจึงประกาศว่า “หาคนมาปราบพม่าบ่ได้ อาตมาจะสึกออกไปเป็นหัวหน้าปราบมันเอง บรรดาญาติโยมต่างห้ามปรามท่านไว้ เพราะขณะนั้นหาสงฆ์ติดวัดยากยิ่ง จึงตกลงให้ไปติดต่อท้าวลิ้นก่านที่ประตูผา ท้าวลิ้นก่านตอบว่ายังไม่พร้อม ใครจะคิดการณ์อย่างไรก็ทำไปก่อนเถิด ความจริง ท้าวลิ้นก่านกำลังคิดอยู่แล้วทีเดียว

ม้าเร็วจึงส่งข่าวให้สมภารทราบ และบอกว่า “อันครูบาเจ้าก็ชำนาญโหราเลขผานาที หยังมาคิดคำง่ายมีแต่จะสึก ๆ เข้าเจ้าคิดว่าลำปางยังบ่เสี้ยงคนดีเตื่อเจ้า” ท่านสมภารคิดได้จึงจับยามสามตาลงเลขผานาทีเห็นว่า “อันหลานกูผู้สามารถยังมีสูฮีบไปตวยมันมาหากูจิ่มเต๊อะ” ในที่สุดคนจึงไปตามหานานทิพย์ช้างพเจนร ซึ่งเคยบวชเรียนอยู่กับอธิการวัดนายางแล้วไปอยู่ปงยางคก (เขต อ.ห้างฉัตร) ไปได้ภรรยาบ้านเอื้อม (เขต อ.เมืองลำปาง) มีวิชาอาคมขลัง สามารถใช้ปืนผาหน้าไม้ ไล่จับช้างดึงหายมันให้หลุดได้ในขณะนั้นมีอาชีพเป็นพรานป่าล่าสัตว์ ร่างกายกำยำล่ำสันสูงใหญ่ ชาวบ้านต่างขนานนามหนานนี้ว่า “หนานทิพย์ช้าง” พอตามท่านสมภารผู้เป็นลุงจึงถามว่า “บ่าหนาน คิงจะสู้ กู้เมืองคืนจากพม่าได้ก่อ” หนานจึงพนมมือวันทาแล้วตอบว่า “อันพม่าลำพูนก็เตียวดิน กิ๋นข้าวอย่างหมู่เฮา ข้าตึงบ่อกลัวสักน้อยเจ้า” ท่านสมภารได้ยินดังนั้นจึงมอบบริวารให้ประมาณ ๓๐๐ คน ให้หนานทิพย์ช้างเตรียมตัวไว้ ถ้าได้โอกาสดีจะได้ตีเอาเมืองคืนจากพม่าต่อไป ย้อนเรื่องราวกล่าวถึงท้าวมหายศ แม่ทัพพม่าลำพูน เมื่อฆ่าขุนนางทั้ง ๓ ได้แล้วก็ยังไม่สบายใจเพราะหนีไปอีกคนหนึ่ง คือจเรน้อย ดันหนีไปหาท้าวลิ้นก่านอดีตเจ้าเมืองคนเก่าซึ่งขณะนั้นลี้ภัยไปอยู่ดอยประตูผาโน่น ขืนปล่อยไว้ก็จะเป็นหนามยอกอก ปกครองนครลำปางไม่ราบลื่นแน่นอน จึงสั่งการให้ ๓ ทหารเสือของตนไปทำการปราบปรามต่อไป (หาญฟ้าแมบ, หาญฟ้าง้ำ และหาญฟ้าฟื้น)

ณ ดอยประตูผาที่ลี้ภัยของท้าวลิ้นก่านกับพวกนั้นเป็นเชิงเขาเวิ้งชะโงก เดิมมีช่องย่องผ่านเข้าไปที่แคบ ๆ ทะลุไปสู้เมืองต้า เมืองลอง เมืองแพร่ ก่อนนั้นทางนี้เป็นทางลัดตรงที่สุด ใช้เป็นที่แอบซ่อมสุมกำลังได้ดีที่สุด ทหารเอกของท้าวลิ้นก่าน ขณะนั้น พญามือเหล็ก และ จเรน้อย ที่มาสมทบใหม่พร้อมบริวารเพียงเล็กน้อยกำลังคิดหาทางกู้อิสรภาพคืนจากพม่าลำพูนอยู่ทุกลมหายใจ แต่ขณะนั้นยังขาดกำลังอย่างเดียวเท่านั้น และนึกไม่ฝันว่าพม่าจะส่งกำลังมารังควาญ จึงไม่ได้เตรียมตัวแต่อย่างใดเลย

ถึงคราวจะสิ้นชื่อ ให้ชาวดลระบือเกียรติคุณสืบไปตราบชั่วหลานเหลนโพ้น สามทหารเอกของท้าวมหายศ อันมีหาญฟ้าแมบ หาญฟ้าง้ำ หาญฟ้าฟื้น ได้กรีฑาทัพ ไปยังประตูผาทันที ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้รุ่งสุริยากำลังจะมาเยือนขอบโลกเบื้องบูรพาทิศ จเรน้อย เห็นข้าศึกก่อนจึงออกต่อกรไม่ยอมช้าได้ต่อสู้พม่าเป็นสามารถแต่ขาดอาวุธ ในที่สุดพม่าบุกทะลวงไล่จเรน้อยไปยังหน้าผาตูบ พม่าได้ใจรุกไล่ไม่ลดละ พญามือเหล็ก เห็นว่าหากปล่อยพม่าเข้ามาท้าวลิ้นก่านราชาก็สิ้นนามกันคราวนี้ จึงฉวยดาบคู่ชีพรีบกระโดยสกัดกั้นทหารพม่าที่กรูเข้ามาถูกพญามือเหล็ก มีพลังใจเสกเป่าคาถาอาคมที่ครูบาให้มาเท่าใดนำออกมาใช้จนหมดพุม คราวน้ำฉวยดาบทั้งสองมือยืนจังก้าหน้าประตูผาทหารพม่าข้าศึกนึกว่าไทยคนเดียวหรือจะสู้กู พม่าเป็นสองสามร้อยคนได้ จึงเรียงแถวตรงเข้าไปพญามือเหล็กขยับดาบมือซ้ายเบา ๆ เอาพม่าเป็นศพเช่นคมดาบได้ถึง ๕ คน ป่ายดาบมือขวาได้พม่าเซ่นดาบอีก ๑๐ คน หยุดการเดินเดี่ยวของพม่าได้ชะงักนัก

ภาพวาดพญามือเหล็กรบกับศัตรู

ฝ่ายหาญฟ้าง้ำเห็นพวกเสียที ไม่รีรอถลกโสร่งเข้าไปหมายแก้มือให้เพื่อ ฟันซ้ายป่ายขวาไม่นับ พญามือเหล็กแทบรับไม่ทัน ในที่สุดดาบหักไปอันหนึ่ง จึงใช้ศอกซ้ายรับอาวุธแทนโล่ มือขวาถือดาบคอยจ้องฟันแม้คมดาบ จะไม่ระคายเคืองผิวหนังเลย แต่ศอกซ้ายก็บวมเป่งงอมช้ำเอาดื้อ ๆ โตขึ้นถึง ๓ เท่าตัว เหนื่อย ก็เหนื่อยข้าวไม่ได้ตกท้องเลยตั้งแต่เช้า เจ็บมือซ้ายย้ายมาใช้มือขวารับคมดาบศัตรูแทนโดยไม่ยอมถอยหลังแม้แต่ก้าวเดียว จนมือขวาก็บวมเลือดไหลซิบ ๆ เท่ายางบอน อดทนต่อกรกับพม่าหมาหมู่ อยู่ต่อไปไม่ปริปากหาญฟ้าง้ำนั้นคิ้วบากหน้าเบี้ยวเห็นทีจะสู้คนเดียวต่อไปไม่ไหวแน่แหกปากร้องให้นายฟ้าแมบผู้เฒ่าเข้าไปช่วยสองต่อหนึ่ง สู้กันถึงใจเลือดไหลเข้มข้นเสมอ

พญามือเหล็ก รู้สึกหิวโหยโรงแรงแต่แข็งใจสู้บริวารที่อยู่เบื้องหลังเสียงดาบปะทะกันไม่ไหวหนีตายอนาถกันหมดสิ้น ทั้งสองทหารพม่าประดาหน้าเข้าใส่หลับตาฟัน หลับตาแทนไม่เลือกที่ ทั้งกายของพญามือเหล็ก ระบมบอบช้ำบวมเป่งไปทั่วสารพางค์ สู้กันตั้งแต่เที่ยงวันยันบ่ายสามโมงยังไม่มีทีท่าว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ พม่า ๒ คนชักระอาใจจะหนีไปก็เสียเหลี่ยม ฝืนใจสู้ต่อไปอย่างนั่นเองจังหวะขณะที่หาญฟ้าง้ำโสร่งลุ่ยก้มหน้าย่อตัวนุ่งโสร่ง พอโย่งโย้ขึ้นมาอนิจจา พญามือเหล็ก รวมพลังครั้งสุดท้ายมือขวายกไม่ไหว มือซ้ายถือดาบฟันฉับลงที่แสกหน้าผ่าแล่งเป็นสองส่วนพอดิบพอดี ไม่มีเวลาร้องสั่งเพื่อนแม้แต่อ้าปาก

ฝ่ายทหารฟ้าแมบผู้เฒ่าไม่เอาไหน เห็นเพื่อนตายไปต่อหน้า ถ้าขืนชักช้าอยู่สู้มันไม่ได้ พอดีพญามือเหล็กใกล้ขาดใจจึงเบนกายเข้าไปพิงหน้าผายืนสง่าสิ้นลมปราณ อย่างชายชาติทหารเอก มือยังถือดาบอยู่ หาญฟ้าแมบไม่รู้นึกว่า พญามือเหล็ก แบเอาท่าทีจำงุมมือกำดาบไม่ว่าเลย…อนิจจาเพื่อนตายไปทั้งสองกูจะเอาชีวิตมาทิ้งเหรอ ยังอาลัยเมียเก่าลูกรักที่เมือง ตนจึงหันหลังวิ่งแล่นไม่เหลียวกลับ ทัพพม่าจึงยึดดอยประตูผาไม่สำเร็จด้วยประการฉะนี้แล

ศาลเจ้าพ่อประตูผา(พญามือเหล็ก)อยู่ห่างจากตัวจังหวัดลำปางตามเส้นทางลำปาง – งาว กิโลเมตรที่ ๔๘ ศาลเจ้าพ่อประตูผาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ผู้สัญจรไปมาผ่านเส้น ทางนี้มักแวะสักการะและจุดประทัดถวาย เจ้าพ่อประตูผา เดิมชื่อพญาข้อมือเหล็กเป็นผู้อยู่คงกระพัน ชาตรี เป็นทหารเอกของเจ้าผู้ครองนครลำปาง (เจ้าลิ้นก่าน) ครั้งหนึ่งได้ทำการต่อสู้กับพม่าที่ช่องประตูผา จนกระทั้งถูกรุมแทงตายในลักษณะมือถือดาบคู่ยืนพิงเชิงเขา ทหารพม่ากลัวไม่กล้าบุกเข้าไปตีนครลำปาง ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเกิดศรัทธา และได้ตั้งศาลขึ้นบูชาเป็นที่นับถือของชาวลำปางและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ช่วงประมาณวันที่ ๒๐ – ๒๕ เมษายน ของทุก ๆ ปี ประชาชนและหน่วยงานของรัฐได้ร่วมกันจัดงานประเพณีบวงสรวงสักการะรดน้ำดำหัวเจ้าพ่อประตูผา มีการจัดขบวนแห่เครื่องบวงสรวงและสักการะอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา

กล่าวถึงท้าวลิ้นก่านกับจเรน้อย เมื่อเห็นว่าเงียบเสียงดาบเสียงคนแล้ว จึงพากันออกมา อนิจจา…ฟ้าดิน “พญามือเหล็ก” ผู้กล้าหาญยืนมือถือดาบท่าทางสง่าปานราชสีห์ สิ้นใจตายจากไปเสียแล้ว จึงสั่งทหารหาญ นำร่างไร้วิญญาณไปวางไว้ที่ผาลาดปลงศพวีรชนตามมีตามเกิดแล้วสร้างศาลเพียงตา อัญเชิญดวงวิญญาณ พญามือเหล็กมาสิงสถิตให้เป็นที่สักการบูชาของเหล่าปวงชนรุ่นหลังต่อไป แทนที่ศาลนี้จะเรียกว่า “ศาลพญามือเหล็ก” ปัจจุบันกลับเรียกกันว่า “ศาลเจ้าพ่อประตูผา” ตามชื่อดอยประตูผาสืบต่อมาคราบเท่าทุกวันนี้

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

http://shopping.sanook.com
http://www.pralanna.com
http://www.banrongkhun.com
http://slmlp142.igetweb.com

http://www.bloggang.com(คัดจากหนังสือคนดีเมืองเหนือ)
http://forum.narandd.com(ศาลเจ้าพ่อประตูผา-ลำปาง,jacky )

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : historicallanna โดยคุณชัชวาลย์ คำงาม
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: