6146. ประเทศไทยมีใครบ้าง ไม่รู้จัก “แม่นาค พระโขนง”

ศาลแม่นาคพระโขนง
ศาลแม่นาคพระโขนง

เป็นภาพวาดจากนิมิตของพระอาจารย์หนู วัดสุทธาราม (วัดพระฉิม) ตอนที่พระอาจารย์อาพาธหนักนอนอยู่โรงพยาบาล ย่านาค ได้ไปช่วยรักษา จนท่านหาย ตั้งแต่นั้นมา พระอาจารย์ก็วาดภาพย่านาค เก็บไว้ที่พิพิทธภัณฑ์ ผลงานปฏิมากรรม ของท่านที่วัดฯ

 

เรื่องราวของแม่นาคพระโขนงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว เพราะมีหลักฐานว่าใน สมัยรัชกาลที่ ๕ มีคนรู้จักแม่นาคพระโขนงมากกว่าบุคคลสำคัญของบ้านเมืองเสียด้วยซ้ำที่กล่าวดังนี้ ก็เนื่องจาก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล ฟังว่า ในสมัยที่พระองค์ท่านยังเป็นนายทหารประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวังนั้นมีเจ้าพี่เจ้าน้องมาประทับคุยด้วยอยู่ใกล้วังกับประตูบ่อยๆ ทรงเห็นมีคนเข้าออกประตูวังเนืองแน่นอยู่เสมอก็ ทรงคิดกันว่าน่าจะทดลอง ความรู้คนเหล่านั้นดูจึงทรงจดชื่อบุคคล ๔ คนคือ

๑. ท่านขรัวโต (สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี วัดระฆัง)

๒. พระพุทธยอดฟ้า (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
รัชกาลที่ ๑ )

๓. จำไม่ได้ว่าใคร (เอกสารเสียหาย)

๔. อีนาคพระโขนง(เอกสารเสียหาย)

แล้วให้คนไปคอยถามผู้ที่เข้าออกประตูวังทุกคนว่า ตามรายชื่อทั้ง ๔ คนนั้น รู้จักใครบ้าง ความมีชื่อเสียงของแม่นาคได้ทำให้วัดมหาบุศย์ ริมคลองประเวศบุรีรัมย์ แขวงพระโขนง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พลอยเป็นที่รู้จักของคนทั้งหลายด้วย ในฐานะเป็นวัดที่ฝังศพแม่นาค วัดมหาบุศย์นี้ พระศรีสมโภชน์ (พระศรีสมโพธิ) เจ้าคณะวัดสุวรรณฯ เป็นผู้สร้าง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ในขณะที่ท่านยังเป็นพระในวัดมหาบุศย์

เรื่องราวของแม่นาคมีทั้งที่เป็นนิยายและภาพยนตร์ บุคคลแรกที่ทำให้แม่นาคพระโขนงโด่งดังขึ้นมา ก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์ พระองค์ท่านทรงนำเรื่อง “อีนาคพระโขนง” ออกแสดงเป็นละครเวทีที่โรงละครปรีดาลัยจนเกรียวกราวได้รับการต้อนรับจากดูเป็นอย่างมาก จนต้องแสดงซ้ำอยู่ถึง ๒๔ คืน

แม่นาคพระโขนง
แม่นาคพระโขนง

เล่ากันว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)วัดระฆัง ท่านรู้ข่าวการอาละวาดของผีแม่นาคซึ่งก่อความหวาดกลัวและเดือดร้อนแก่ชาวบ้านแถววัดมหาบุศย์เป็นอย่างมาก แม้แต่หมอผีเก่งๆ ก็ยังพ่ายแพ้คอพับคอย่น (เพราะถูกบีบคอ) ไปหลายราย สมเด็จโต จึงมาค้างที่วัดมหาบุศย์ แต่ท่านไม่ได้ทำพิธีอะไรมากมายอย่างหมอผีทั้งหลาย เพพอตกค่ำท่านก็ไปนั่งที่บริเวณหลุมศพแล้วเรียกนางนาคขึ้นมาสนทนากัน แต่ท่านจะพูดจาตกลงกับนางนาคว่าอย่างไรไม่มีใครรู้ ลือกันว่าท่านได้เจาะเอากระดูกหน้าผากจากศพ ของนางนาค ขัดกระดูกแผ่นนั้นจนเกลี้ยงเป็นมันแล้วนำกลับไปยังวัดระฆัง ลงยันต์กำกับและเจาะทำเป็นหัวเข็มขัด เวลาท่านจะไปไหนก็เอาคาดเอวติดไปด้วย นับตั้งแต่นั้นมาผีแม่นาคที่เคยอาละวาดที่วัดมหาบุศย์คลองพระโขนงก็สงบไป เมื่อไปอยู่ที่กุฏิสมเด็จโต เวลานั้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ยังเป็นสามเณร อยู่ในกุฏินั้นด้วย ได้ถูกแม่นาครบกวน สามเณรก็ฟ้องสมเด็จโต ว่าสีกามากวนเขาเจ้าข้า สมเด็จโต ท่านก็ร้องปรามว่า….นางนาคเอ๊ยอย่ารบกวนคุณเณรซิ แม่นาคก็เงียบไป แล้วนานๆ ก็ออกมาแหย่เล่นเสียครั้งหนึ่ง (แมนาคคงจะเหงาหน่ะ) พอถูกปรามก็หยุดไป เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ครั้นสมเด็จโตท่านชรามากขึ้นก็มอบกระดูกหน้าผากนางนาค ประทานหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ และให้สามเณร ม.ร.ว.เจริญ ไปอยู่ด้วย นางนาคยังคงเล่นสนุกเย้าแหย่สามเณรตามเคย หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ทรงกริ้วดุนางว่า…..

“เป็นผู้หญิงยิงเรืออย่ามากวนเณร คุณเณรจะได้ดูหนังสือหนังหานางนาคจึงเงียบไป”

ต่อมาหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ (หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ “ทัต” ) ได้ประทานกระดูกหน้าผากนางนาคให้แก่หลวงพ่อพริ้ง (พระครูวิสุทธิ์ศีลาจารย์) วัดบางปะกอก

ภายหลังหลวงพ่อพริ้ง ก็มอบกระดูกนางนาคแด่

“กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์”

กระดูกนางนาคจึงไปอยู่ในซองผี ที่วังนางเลิ้ง (ในเวลานี้เป็นโรงเรียนพาณิชยการพระนคร) อยู่ที่วังนางเลิ้งไม่นานเท่าไรนางนาคก็มากราบทูลลา (คงจะหมดเวรหมดกรมไปเกิดใหม่ แต่จะเกิดเป็นคนหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะนางนาคอาจจะไปเกิดเป็นอมนุษย์ก็ได้และคำว่าอมนุษย์ก็ครอบคลุมกว้างมากตั้งแต่ ผี ปีศาจ ยักษ์ มาร นางไม้ เทวดา เป็นต้น หากให้สันนิษฐาน นางนาคน่าจะเกิดในระดับที่สูงกว่าผีขึ้นไป) และกระดูกนางนาคชิ้นนั้นก็อันตรธานหายไปไม่พบเรื่องราวอีกเลย เรื่องราวแม่นาคที่บางครั้งก็ดูจริงจังเกินกว่าเรื่องนิยายอย่างนี้ทำให้เกิดความคิดขึ้นสองอย่าง…. บ้างก็ยังคงเชื่อว่า เป็นเรื่องนิยาย แต่มีมากกว่าที่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง และฝ่ายที่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริงนั้น ได้พยายามรวบรวมหลักฐานมายืนยัน เช่น ขุนชาญคดี (ปั่น) กำนันตำบลพระโขงสมัยนั้น ได้เล่าถวาย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (พระองค์เจ้ายุคลทิฆัมพร พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ ) ว่า…..

” นางนาคเป็นบุตรสาวของขุนศรีฯ นายอำเภอ บ้านอยู่ปากคลองพระโขนงฝั่งตะวันตกข้างวัดมหาบุศย์ตามหลักฐานนี้ ”

แม่นาคไม่ใช่ลูกสาวของตามั่นยายมีแต่อย่างไร และไม่ใช่เด็กสาวกำพร้าด้วย และเป็นสาวสวยที่จะหาสาวใดในย่านพระโขนงมาเทียบเคียงได้ยาก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์เมื่อได้ทรงฟังเรื่องราวแล้ว ถึงกับรับสั่งว่า

“สวยสดงดงามถึงอย่างนั้นทีเดียวรึ มิน่าเล่าเจ้าพวกหนุ่มๆ ถึงได้ตอมกันนัก และปีศาจก็มีฤทธิ์ร้ายแรงถึงเพียงนั้น”

และหลักฐานที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ บรรณาธิการหนังสือ “สยามประเภท ” ตอบข้อข้องใจของคนอ่าน ลงในหนังสือเล่มที่ ๓ วันเสาร์ที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ว่า…….

จะเป็นวันเดือนปีใดจำไม่ได้เป็นคำพระศรีสมโภช (บุด) วัดสุวรรณเล่าถวายสมเด็จอุปัชฌาย์ว่า ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ อำแดงนาก บุตรขุนศรีนายอำเภอ บ้านอยู่ปากคลองพระโขนง เป็นภรรยานายชุ่มตัวโขนทศกรรฐ์ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอจ้าวฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี อำแดงนากมีบุตรถึงอนิจกรรม นายชุ่มทศกรรฐ์สามีนำศพอำแดงนากภรรยาไปฝังที่ป่าช้าวัดมหบุด ศพอำแดงนากฝังไว้ที่นั่นไม่มีปีศาจหลอกผู้ใด เป็นแต่พระศรีสมโภชเจ้าของวัดมหาบุด เล่าถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสว่า นายชุ่มทศกรรฐ์ เป็นคนมั่งมี บุตรนายชุ่มมีชายหญิงหลายคน แต่ล้วนยังไม่มีสามีภรรยาทั้งสิ้น บุตรนายชุ่มหวงทรัพย์สมบัติของบิดา เกรงว่าบิดาจะมีภรรยาใหม่ พวกลูกชายจึงทำอุบายให้คนไปขว้างปาชาวเรือ ตามลำคลองริมป่าช้าที่ฝังศพอำแดงนากมารดา กระทำกิริยาเป็นผีดุร้ายหลอกคน จนถึงช่วยนายชุ่ม ถีบระหัดน้ำเข้านาแลวิดน้ำกูเรือของนายชุ่มที่ล่มก็ได้ บุตรชายแต่งกายเป็นหญิงให้คล้ายอำแดงนากมารดาทำกิริยาเป็นผีดุร้ายให้คนกลัวทั่วทั้งลำคลองพระโขนง บุตรนายชุ่มทศกรรฐ์หลายคนได้เล่าถวายเสด็จอุปชฌาย์ว่า ตนได้ทำมายาเป็นปีศาจอำแดงนากมารดาหลอกชาวบ้าน จริงดั่งพระศรสมโภชกราบทูลเสด็จอุปัชฌาย์ทุกประการ (จากหนังสือ ตามรอยนางนากพระโขนง ของ ส.พลายน้อย ** ภาษาอาจแปลกๆเนื่องจากเป็นหนังสือเก่า )

ตามความข้างต้นนี้ สามีของแม่นาคแทนที่จะเป็นนายมากกลับเป็นนายชุ่ม และวัดมหาบุดที่กล่าวถึงก็คือวัดมหาบุศย์นั่นเอง

แต่หลักฐานทั้งสองนี้ก็ยังคงขัดแย้งกันเอง จึงต้องแล้วแต่ว่าใครจะเชื่อในเรื่องไหน แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของแม่นาคพระโขนง ก็ยังคงเป็นตำนานรักอมตะประจำถิ่นพระโขนงมาตราบเท่าทุกวันนี้ และเพื่อเป็นการระลึกถึงแม่นาค ทางวัดมหาบุศย์จึงได้สร้างศาลแม่นาคพระโขนงขึ้นในบริเวณวัด เพื่อให้ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ได้แวะมากราบไหว้ย่านาคกัน

หมายเหตุ : ความเชื่อของคนไทยเรื่องแม่นาค

๑. เชื่อว่าชื่อ สี่แยกมหานาค ที่เขตดุสิตในปัจจุบัน มาจากการที่แม่นากอาละวาดขยายตัวให้ใหญ่ และล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ก็ยังเคยเสด็จทอดพระเนตรด้วย หรือ เชื่อว่าพระรูปที่มาปราบแม่นากได้นั้นคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นต้น อีกทั้งยังเชื่อว่า ท่านเป็นคนเจาะกะโหลกที่หน้าผากของแม่นากทำเป็นปั้นเหน่ง เพื่อสะกดวิญญาณแม่นาก และได้สร้างห้องเพื่อเก็บปั้นเหน่งชิ้นนี้ไว้ต่างหาก หรือหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ยังได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งเป็นสมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก ท่านเคยเห็นเรือนของแม่นากด้วย เป็นเรือนลักษณะเหมือนเรือนไทยภาคกลางทั่วไปอยู่ติดริมคลองพระโขนง มีเสาเรือนสูง มีห้องครัวอยู่ด้านหลัง ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว

๒. เชื่อว่ายังมีผู้สืบเชื้อสายจากแม่นากมาจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้น คือ พีท ทองเจือ ดารานักแสดงชื่อดัง ซึ่งครั้งหนึ่ง พีท ทองเจือ ก็เคยได้รับแสดงบทพ่อมาก ในละครเรื่องแม่นาค ของทางช่อง ๗ อีกด้วย

๓. เชื่อว่าเป็นปั้นเหน่งที่ทำจากหน้าผากกะโหลกแม่นาก ปัจจุบันถูกครอบครองโดยนักสะสมพระเครื่องผู้หนึ่ง

๔. ชื่อแม่นาค เขียนได้สองอย่างคือ นาก ซึ่งหมายถึงของมีค่า จำพวกทอง เงิน นาก และ นาค ซึ่งเป็นชื่อที่นิยมใช้ในรุ่นหลังๆ

ทำอย่างไรถึงจะได้รับข้อความที่ทางเพจโพสทุกครั้ง … กดคำว่า “ถูกใจ” แล้ว ใต้ “ภาพหน้าปก” จะมีคำว่า “รับการแจ้งเตือน” ให้กดที่คำนี้ จนเห็นเครื่องหมาย ‘ถูก’ ปรากฎขึ้น เพียงเท่านี้ คุณก็จะไม่พลาดข้อความดีๆอีกต่อไป

 

ศิษย์มีครู

——————————————————————————-

ติดตามเรื่องราวครูบาอาจารย์ได้เพิ่มเติมที่

แอพเกจิ Facebook: www.facebook.com/appgeji

Web Sit: www.appgeji.com

App Store (IOS): https://appsto.re/th/wlGScb.i

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: