6297.”อีเพ็ง” สาวขายบริการส่งถึงกุฏิ! ต้นเหตุ ร.๔ ทรงออกกฎเข้มเอาโทษถึงกุฏิข้างเคียง ชาวบ้านก็ต้องถือเป็นหน้าที่ดูแล!!

ทุกวันนี้จะเห็นข่าวพระกับสีกาเกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นประจำ จนทำให้พูดกันว่าศาสนาเสื่อมลงกว่าสมัยก่อนมาก แต่ความจริงก็คือ สมัยก่อนเรื่องอย่างนี้ก็เกิดขึ้นไม่น้อยเหมือนกัน ทั้งนี้ก็เพราะคนที่มาบวชเป็นพระภิกษุต่างมีจิตมุ่งต่างกัน บ้างก็มาบวชตามธรรมเนียมหรือผู้ใหญ่ให้บวช ไม่ได้มีจิตศรัทธาที่จะบวช จึงไม่อาจตัดกิเลสได้ขาด ทำให้ก่อเรื่องมัวหมองแก่พระศาสนาขึ้น แต่ภิกษุส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดก็ยังคงรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด ศาสนาจึงมั่นคงยืนยงตลอดมา ไม่ได้เสื่อมไปตามคนที่บวชโดยขาดศรัทธา หรือบวชเพื่ออาศัยผ้าเหลืองแอบแฝงเหล่านั้นไปด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงผนวชมายาวนานถึง ๒๗ พรรษาก่อนขึ้นครองราชย์ เป็นเจ้าอาวาสครองวัดมาก่อนครองราชย์บัลลังก์ ซึ่งก็น่าจะมีผลทางจิตใจทำให้พระภิกษุเคร่งครัดในพระวินัยมากขึ้น แต่เรื่องพระทำปาราชิกกับสีกาบนกุฏิก็ยังเกิดอยู่หลายเรื่อง จนทำให้ทรงตั้งกฎกำหนดโทษให้เข้มงวดยิ่งขึ้น และเรื่องหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการตั้งกฎนี้ ก็คือเรื่องของ “อีเพ็ง”

“อีเพ็ง” เป็นคนหนึ่งในกลุ่มสาวใจแตกที่ทำให้พระวัดโพธิ์ต้องกลายเป็น “สมี” กันไปหลายรูป เหตุเกิดใน พ.ศ.๒๓๙๗ ซึ่งตามบันทึกไม่ได้กล่าวว่าอีเพ็งเป็นลูกเต้าเหล่าใคร บ้านช่องอยู่ที่ไหน เป็นแค่สาวรักสนุก หรือว่าถึงขั้นขายบริการแบบส่งถึงกุฏิ คงกล่าวแต่เพียงว่า

“…อีเพ็งเอาหนังสือเพลงยาวเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง นายประตูจับหนังสือเพลงยาวได้ที่อีเพ็ง นายประตูส่งอีเพ็งกับเพลงยาวเข้าวัง ขึ้นกราบทูลให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท…”

“หนังสือเพลงยาว” ที่ว่านี้ก็คือ “จดหมายรัก” นั่นเอง ซึ่งสมัยก่อนผู้หญิงไทยคงจะใจแข็งกันน่าดู หนุ่มที่เขียนจดหมายจีบจึงต้องพร่ำพรรณนาหว่านล้อมกันยืดยาว จนเรียกกันว่า “เพลงยาว” และเพลงยาวนี้เป็นของต้องห้าม นำเข้าไปในวังไม่ได้โดยเด็ดขาด ถือเป็นความผิดฉกรรจ์ทีเดียว

มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ ชำระความของอีเพ็งกับเพลงยาว

“…อีเพ็งให้การว่า หนังสือเพลงยาวนี้ของอ้ายหนูวัดพระเชตุพน ตุลาการซักความต่อไป อีเพ็งรับเป็นสัตย์ว่า เมื่ออ้ายหนูยังเป็นสมีอยู่วัดพระเชตุพนนั้น อ้ายหนูกับอีเพ็งทำชำเรากันที่กุฏิอ้ายหนู ๒-๓ ครั้ง แล้วอีเพ็งก็ซัดถึงอ้ายพึ่งว่า ได้ทำชำเรากับอีเพ็งที่ห้องกุฏิด้วย อีเพ็งซัดว่า อ้ายดวงสมีได้ทำชำเรากับอีเพ็งหลายทีที่กุฏิอ้ายดวงสมีด้วย อ้ายทิมสมีทำชำเรากับอีปรางที่ห้องกุฏิอ้ายทิมสมีด้วย อ้ายเสือทำชำเรากับอีรอด ที่ห้องกุฏิอ้ายเสือสมีด้วย…”

อีเพ็งไม่ใช่แค่รับสารภาพว่าขึ้นไปทำอุบาทว์กับพระบนกุฏิถึง ๓ รูป คือสมีหนู สมีพึ่ง และสมีดวง แต่ยังซัดไปถึงคนอื่นด้วย ตุลาการจึงได้นำตัวอีปราง อีรอด สมีทิม สมีเสือ ที่ถูกซัดมาชำระความ ทุกคนก็ให้การรับสารภาพว่าเป็นความจริงตามที่อีเพ็งกล่าว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ จึงได้นำสำนวนการสอบสวน ทั้งหมดขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระราชดำริว่า

 

“…ภิกษุสามเณรทุกวันนี้บวชอาศัยพระศาสนาอยู่เพื่อลาภสักการต่างๆ ไม่บวชด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธสิกขาบท ภิกษุสามเณรทุกวันนี้เป็นอลัชชี ประพฤติชั่วนั้นต่างๆ จนถึงเป็นปาราชิก ภิกษุสามเณรทำเมถุนธรรมได้โดยง่ายนั้นเป็นเหตุให้ภิกษุสามเณรไปหาผู้หญิงชาวบ้านนั้นโดยง่ายอย่างหนึ่ง ผู้หญิงชาวบ้านไปหาภิกษุสามเณรที่วัดที่กุฏิอย่างหนึ่ง

 

ทรงพระราชดำริเห็นเหตุอย่างนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้หลวงธรรมรักษาหมายประกาศไปแก่ พระราชาคณะ พระครูฐานา เจ้าอธิการในกรุงทั้งสิ้น ห้ามไม่ให้ภิกษุสามเณรคบผู้หญิงพูดจาบนกุฏิ ฝ่ายผู้หญิงชาวบ้านเล่า ควรที่ให้มีหมายประกาศไปห้ามไม่ให้เข้าวัด ถ้าขืนเข้าไปในวัดจะให้ตำรวจจับปรับเอาเงิน ๓ ตำลึง ก็ฝ่ายพระราชาคณะ พระครูฐานา เจ้าอธิการนั้น โปรดเกล้าฯ สั่งให้หลวงธรรมรักษามีหมายประกาศห้ามไปแล้ว แต่ผู้หญิงชาวบ้านนั้น ยังไม่ได้โปรดเกล้าฯให้มหาดไทย กลาโหม หมายประกาศห้ามเหตุนี้ มหาดไทย กลาโหมไม่ได้หมายประกาศห้ามนี้ พระราชาคณะ พระครูฐานา เจ้าอธิการ ชายหญิง-ชาวบ้าน จึงคะนองถือใจว่าจะเป็นความหลอกไม่จับจริง ฝ่ายพระราชาคณะก็เพิกเฉยไม่เกรงพระราชอาณาจักร ไม่กำชับว่ากล่าวภิกษุสามเณร ปล่อยให้ภิกษุสามเณรคบพาผู้หญิงชาวบ้านขึ้นพูดจาในที่หลับที่นอน จนถึงปาราชิก เหมือนอ้ายเปลี่ยน สมีวัดอรุณ เมื่อเดือน ๑๐ ปีขาลฉศกนี้ คบอีตาบขึ้นพูดจาทำชำเรากันในห้องกุฏิที่ลับครั้งหนึ่ง ข้อความที่อีตาบทำชำเรากับอ้ายเปลี่ยนทั้งสมีนั้น ก็ไม่มีผู้ใดฟ้องกล่าวโทษอีตาบกับอ้ายเปลี่ยนสมี ได้รู้ความข้อนี้เพราะอีตาบเอาหนังสือเพลงยาวไปในพระราชวัง นายประตูจับตัวอีตาบได้ โปรดฯให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวรจักรธรานุภาพชำระ อ้ายเปลี่ยนสมี อีตาบให้การรับเป็นสัตย์ว่าได้ทำชำเรากันทั้งเป็นสมีบนกุฏิวัดอรุณราชวรารามครั้งหนึ่ง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้หลวงธรรมรักษาเผดียงห้ามพระราชาคณะ พระครูฐานา เจ้าอธิการ ตามกระแสพระบรมราชโองการ ให้พระราชาคณะเอาใจใส่ภิกษุสามเณรอย่าให้คบผู้หญิงขึ้นพูดจาบนกุฏิเป็นอันขาด ถ้าขืนกระแสพระบรมราชโองการจะพระราชทานลัญจกรสำคัญ ให้กรมทหารขวาซ้ายเป็นกองจับ ถ้าจับภิกษุสามเณรพูดจากับผู้หญิงได้ที่กุฏิใด ภิกษุสามเณรที่อยู่ใกล้เคียงกันก็จะปรับโทษเสมอกันกับที่พูดกับผู้หญิง เพราะภิกษุสามเณรอยู่ใกล้นั้นไม่ตักเตือนว่ากล่าวกัน อนึ่งถ้ากองจับเชิญพระราชลัญจกรเป็นสำคัญ ให้ภิกษุสามเณรแลผู้หญิงชาวบ้านดูรู้ว่าเป็นกองจับแล้วก็อย่าให้สู้รบเป็นอันขาด ถ้าไม่ได้เชิญตราหลวงให้ภิกษุสามเณรผู้หญิงชาวบ้านดู ผู้นั้นเป็นคนปลอมจับ ให้ภิกษุสามเณรจับคนนั้นส่งให้กับเจ้ากระทรวงให้จงได้

ให้พระครูทักษิณคณิสร พระครูอุดรคณารักษ์ พระครูอมรวิไชย หมายประกาศไปแก่พระราชาคณะ พระครูฐานา เจ้าอธิการให้รู้จงทั่ว ห้ามอย่าให้ผู้หญิงตั้งแต่มารดา พี่ น้อง ญาติแลผู้อื่น อย่าให้ขึ้นกุฏิเป็นอันขาด ให้เจ้าคณะใหญ่เร่งหมายไปอย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง

หมายมา ณ วันศุกร์เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาลฉศก”

ไม่เพียงแต่จะเอาผิดกับพระภิกษุสามเณรตัวการเท่านั้น แม้แต่รูปอื่นที่อยู่ใกล้เคียงแล้วไม่ห้ามปราม ก็ทรงถือว่ามีความผิดเท่ากับตัวการด้วย ถ้าปัจจุบันยังใช้ระเบียบนี้ ก็อาจถึงขั้นสึกยกวัดกันเลย

 

ภาระของพระสงฆ์สมัยยังไม่มีโรงเรียน
ภาระของพระสงฆ์สมัยยังไม่มีโรงเรียน

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงห่วงใยในเรื่องความเสื่อมเสียของพระภิกษุสามเณรมาก มีประกาศหลายฉบับที่กำหนดโทษในเรื่องนี้ เช่นในประกาศฉบับที่ ๒๖ ในปี พ.ศ.๒๓๙๖ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…ด้วยพระสงฆ์ทุกวันนี้ ดูเหมือนจะไม่มีศรัทธาที่จะให้เป็นประโยชนชั่วนี้ชั่วหน้า บวชในพระศาสนาแล้วตั้งใจจะหาแต่ลาภสักการ แล้วกระทำอุลามกต่างๆ เป็นต้นว่าไปคบหาผู้หญิงพูดจากันในที่ลับแต่สองต่อสองจนถึงชำเรากัน ดังนี้เห็นจะมีอยู่โดยมาก แต่หากว่าไม่มีผู้ใดฟ้องร้องว่ากล่าว เหมือนเรื่องอ้ายเสนไปคบหากันกับอีหนู ไปมาหากันจนถึงชำเรากันทั้งพระ แล้วมีคนไปฟ้องหาในกรมพระธรรมการ กรมพระธรรมการแลตุลาการชำระอ้ายเสนเป็นสัจไม่ ด้วยเห็นแก่อ้ายเสน ครั้งมาภายหลังอ้ายเสนกับอีหนูกลับมาเป็นผัวเมียกันเข้า ครั้นเอาตัวอีหนูมาถามกลับรับเป็นสัจ แต่ตัวอ้ายเสนนั้นหนีไปยังไม่ได้ตัว และพระสงฆ์อื่นๆ ก็เห็นจะเป็นเหมือนอ้ายเสนจะมีอยู่มาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯว่าแต่นี้สืบไป ถ้าผู้ใดรู้เห็นว่าพระสงฆ์รูปใดวัดใดเป็นเช่นอ้ายเสนนี้แล้ว ให้เห็นแก่พระศาสนาอย่าได้ปิดบังอำพรางไว้ ให้มาฟ้องร้องว่ากล่าวในกรมพระธรรมการตามกระทรวง แลถ้ากรมพระธรรมการเห็นแก่ฝ่ายจำเลย แลผัดเพี้ยนไปให้เนิ่นช้า ให้ทำเรื่องราวฎีกามาทูลเกล้าฯถวายพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท จะได้โปรดเกล้าฯให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทคนหนึ่งคนใดชำระ ถ้าชำระได้ความเป็นสัจ ก็จะทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานรางวัลให้แก่ผู้โจทก์นั้นโดยสมควร ถ้าผู้ใดที่บ้านใกล้เรือนเคียง แลรู้เห็นแล้วปิดยังอำพรางไว้ไม่มาฟ้องร้องว่ากล่าวก็ดี จะโปรดเกล้าฯให้ปรับไหมผู้นั้น ถ้าถือศักดินา ๑๒๐๐ ไร่ลงไปให้จ่ายเข้าเดือนๆ หนึ่ง ถ้าถือศักดินา ๔๐๐ ไร่จะให้ผู้นั้นเข้าเดือน ๒ เดือน อนึ่ง ถ้าผู้รู้เห็นเป็นใจแลช่วยชักสื่อพระให้ผู้หญิง ชักผู้หญิงให้พระ ถ้าชำระเป็นสัจจะโปรดเกล้าฯให้ปรับไหมผู้นั้นให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้างด้วยเสมอโทษปาราชิก

ต่อมาในประกาศฉบับที่ ๒๗ ท่านก็เปิดโอกาสให้พระที่เคยพูดจากเกี้ยวพาผู้หญิงหรือเขียนเพลงยาวจีบ ซึ่งถือว่าเป็นปาราชิก ให้มาขอลุกะโทษ จะยกโทษให้ โดยประกาศว่า

“…ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสั่งว่า พระราชาคณะ พระครู ฐานานุกรมเปรียญเจ้าอธิการอนุจร แลสามเณรรูปใดๆ ซึ่งรักใคร่ชอบพอสตรีภาพผู้ใดปรารถนาจะหาเตรียมไว้เมื่อสึก ให้ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นสื่อไปพูดจาเกี้ยวแทะโลมสตรีภาพผู้นั้น แลให้หนังสือเพลงยาวกาพย์โคลง แลจดหมายข้อความที่รักใคร่บอกไปถึงสตรีที่รักใคร่ ปรารถนาจะต้องการไว้เป็นภรรยา แลได้พูดจากับสตรีในที่ลับที่แจ้ง ในการพูดเกี้ยวทางชู้กันตำบลใดๆ จนถึงเป็นปาราชิก แลได้พูดจาชักสื่อสตรีให้รักใคร่เป็นชู้กับพระสงฆ์สามเณรรูปใดๆ แลชักสื่อนำข่าวสารถ้อยคำพระสงฆ์สามเณรรูปใดให้รักใคร่เป็นชู้กับสตรีคนใดคนหนึ่งก็ดี หรือรู้ว่าพระสงฆ์หรือสามเณรรูปใดเป็นชู้รักใคร่กับสตรีคนใด พูดกับสตรีในที่ลับที่แจ้งจนถึงเป็นปาราชิก ความอย่างกล่าวมาแล้ว ก็ให้พระสงฆ์สามเณรรูปนั้นมาให้การลุกะโทษต่อกรมพระธรรมการแต่ในเดือน ๑๒ จนถึงเดือน ๔ ปีฉลูเบญจศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะยกโทษโปรดพระราชทานให้กับผู้ที่มาลุกะโทษนั้น อนึ่งพระสงฆ์สามเณรซึ่งประพฤติอนาจารทุจริตอย่างกล่าวมานี้ ไม่มาลุกะโทษ บอกความชั่วลามกของตัวต่อกรมพระธรรมการแล้ว แลมีบุรุษสตรีผู้ใดผู้หนึ่งมาให้การลุกะโทษต่อกรมพระธรรมการว่า พระสงฆ์สามเณรรูปนั้นพระอารามนั้นประพฤติอนาจารทุจริตอย่างกล่าวมานี้ พิจารณาเป็นสัจ จะให้มีโทษกับพระสงฆ์สามเณรรูปนั้นตามโทษานุโทษจงหนัก…..”

ในประกาศฉบับ ๒๙ ที่ออกตามมา ท่านก็กำหนดที่จะเล่นงานพ่อสื่อแม่ชักที่ชวนพระภิกษุสามเณรให้ประพฤติอนาจารโดยประกาศว่า

“…ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้าอย่าให้ผู้ใดไปมาคบค้ากับพระสงฆ์แล้วแลคิดจะให้พระสึกออกมาอยู่กินเป็นผัวเป็นเมียกัน ถึงจะยังไม่ได้เป็นปาราชิก แต่พระยังบวชอยู่ก็ดี เป็นแต่ติดพันกันก่อนแล้วจึงสึกออกมาเป็นผัวเป็นเมียกันต่อภายหลังนี้แล

อนึ่ง ผู้ใดเป็นแม่สื่อได้นำเอาหนังสือเพลงยาว กาพย์ โคลง สิ่งของที่เขาจะทำบุญให้ทานกับถ้อยคำเป็นเชิงเกี้ยวข้างพระไปให้กับผู้หญิง ไปบอกกับผู้หญิงเอาข้างผู้หญิงไปให้ข้างพระก็ดี รู้เห็นเป็นใจด้วยกันดังนี้ ถ้ามีผู้ใดมาร้อง ฟ้องหรือเกิดความด้วยประการใดๆก็ดี จะเอาโทษแก่ผู้นั้นเป็นตะพุ่นหญ้าช้างเหมือนเป็นปาราชิกกับพระนั้น ถ้าเป็นแต่รู้เห็น มิได้ช่วยในการสื่อสนไม่เอาความมาฟ้องว่ากล่าวด้วยคิดเห็นว่าชั่วชั่งชี ดีชั่งพราหมณ์ เป็นคนใจบุญนอกทางดังนี้ จะปรับผู้นั้นเป็นโทษละเมิดลาหนึ่งเอาเป็นพินัยไปจำหน่ายทำพระอารามหลวง

อนึ่ง พระสงฆ์ใส่บ่อนถั่วบ่อนโป แลการพนันต่างๆ ถ้าผู้ใดไปเล่นกับพระก็ดี หรือใครเอาลูกไปฝากเป็นศิษย์วัดไว้ พระใช้ให้ต้มเหล้าต้มฝิ่นแลลักภาษีอากรใดๆ ก็ดี จะปรับไหมเอาตามความแผ่นดินเมืองแก่ศิษย์วัดคฤหัสถ์ที่ไปคบกับพระด้วย จึงทรงพระราชดำริว่า แต่ก่อนมาก็มีคนไปคบกับพระอยู่ดังนี้ก็จะมีมาก จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯสั่งให้ประกาศว่า ผู้ใดไปคบกับพระมีความสิ่งใดๆ อยู่อย่างนี้ให้มาลุกะโทษเสียต่อกรมพระธรรมการแต่ในเดือนอ้าย ปีฉลูเบญจศก จะโปรดเกล้าฯ มิให้เอาโทษกับผู้นั้น

อนึ่งห้ามมิให้ผู้ใดนิมนต์พระไปเทศน์ไปสวดโลนก็ดี แลให้พระกินเหล้าก็ดี กินข้าวค่ำก็ดี อนึ่งจีนไทยผู้ใดห้ามมิให้ขายหมี่ ขายเหล้าให้พระกินที่โรงที่ร้านของตนก็ดี แลใส่บ่อนถั่วโปก็ดี แลการพนันต่างๆ ห้ามมิให้คบพระสงฆ์ไปเล่นในบ้านเรือน ในโรงบ่อนของตัวก็ดี ผู้หนึ่งผู้ใดมีละครเป็นเจ้าของงานก็ดี หรือเป็นเจ้าของละครก็ดี แลมีพระสงฆ์เข้าไปดูละครในบ้านของตัวแลโรงละคร ให้จับพระมาส่งกรมธรรมการ ถ้ามีจับเอามาส่งอย่างพระราชบัญญัติดังประกาศไว้นี้ จะปรับไหมให้กับผู้มาฟ้องบ้าง ให้กับผู้ชำระบ้าง เหลือนั้นจะเอาเป็นพินัยหลวง จำหน่ายให้ทำพระอารามหลวง ด้วยว่าพระสงฆ์ทำอนาจารดังนี้ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศต่อบ้านต่อเมือง อายกับนานาประเทศ และผู้ที่ล่วงพระราชบัญญัติดังนี้ เป็นคนใจบุญนอกทาง ตามใจพระสงฆ์ไม่ว่ากล่าวฟ้องร้องนั้นหาชอบไม่ จึงให้ปรับผู้นั้นให้เสียสินพินัยจำหน่ายให้แก่ผู้นั้นทำพระอารามหลวง ก็จะเป็นกุศลเป็นอันมาก และเป็นเกียรติยศงามพระนครถาวรนานไปข้างหน้า แลนานาประเทศจะมิได้หมิ่นประมาทได้ตามรับสั่ง….”

การปกป้องพระศาสนากำจัดอลัชชีที่ทำพระศาสนาต้องเศร้าหมองนี้ พระองค์ท่านทรงกำชับให้คฤหัสถ์ต้องช่วยกันดูแล ไม่ถือว่า ชั่วชั่งชีดีชั่งสงฆ์ และต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้จนถือว่าเป็นหน้าที่ ฉะนั้นถ้าใครไม่ทำตามหน้าที่ก็ต้องมีความผิด มีโทษต่างๆ ตั้งแต่ถูกปรับหรือต้องไปทำงานรับใช้หลวงในหน้าที่ตะพุ่นหญ้าช้าง คือ เกี่ยวหญ้าเลี้ยงช้าง และยังให้อำนาจคฤหัสถ์จับพระที่กระทำความผิดได้ทันที โดยไม่ต้องไปแจ้งพนักงานมาจับ

พฤติกรรมของพระประเภทแค่มาขออาศัยผ้าเหลืองในยุคนั้นก็คงเหลือทน ในประกาศที่ออกมาหลายฉบับในเรื่องนี้ จึงระบุพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้นไว้มากมาย อย่างในประกาศฉบับที่ ๓๐ เรื่องห้ามคฤหัสถ์ไม่ให้คบภิกษุสามเณรที่ประพฤติอนาจารมีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…แต่นี้สืบไป ห้ามอย่าให้คฤหัสถ์ทั้งปวงคบภิกษุสามเณรสูบฝิ่น สูบกัญชา กินสุราน้ำตาลส้ม กินข้าวค่ำ แลกินของที่ไม่ควร ภิกษุสามเณรจะกินในเพลาค่ำกินกับภิกษุสามเณร ณ บ้านเรือนโรงร้านของตนเป็นอันขาด อนึ่ง ห้ามอย่าให้ขายฝิ่น สุรา กัญชา น้ำตาลส้ม แลขายของที่ไม่ควรภิกษุสามเณรจะกินในเพลาค่ำให้ภิกษุสามเณรกิน แลสมคบให้ภิกษุสามเณรกระทำอนาจารสิ่งใดๆ ณ บ้านเรือนโรงร้านของตน อนึ่ง ห้ามอย่าให้ชายหญิงทั้งปวงคบภิกษุสามเณรเล่นโป ถั่ว ไพ่ โปงแปะ แลชนไก่ปลากัดปลาเข็ม เล่นการพนันต่างๆ ที่บรรดาเจ้าภาษีนายอากร ผู้พระราชทรัพย์ส่งขึ้นท้องพระคลังหลวง แลห้ามอย่าให้ชายหญิงทั้งปวงคบภิกษุสามเณรให้เข้ามาอยู่ในบ้านเรือนโรงร้านของตนตั้งแต่เพลา ๒ ยาม จนรุ่งสว่างเป็นอันขาด ถ้ามีกิจใดๆ จะนิมนต์ภิกษุสามเณรเข้ามาในเวลาต้องห้าม ในกรุงเทพพระมหานครแลแขวงกรุงเทพพระมหานคร ก็ให้เจ้าบ้านเรือนโรงร้านนั้นๆ มาบอกกรมธรรมการแลนายอำเภอ ผู้ใดผู้หนึ่งให้จดหมายศุภมาส วันคืนไว้เป็นสำคัญว่า วันนี้มีธุระสิ่งนั้นจะนิมนต์ภิกษุสามเณร ชื่อนั้น อยู่พระอารามนี้ เข้ามาในบ้านเรือน โรงร้านของตนแต่เพลา ๒ ยามจนรุ่งสว่าง ถ้าภิกษุสามเณรรูปใดสิ้นกิจแล้ว แลจะให้กลับไปวัด ก็ให้มาบอกกรมธรรมการนายอำเภอจดหมายศุภมาสวันคืนไว้ด้วย ถ้าหัวเมืองให้มาแจ้งต่อเจ้าเมืองกรมการธรรมการ สำหรับเมืองแลแขวงกำนันให้รู้ไว้เหมือนกรุงเทพพระมหานคร ให้เจ้าเมืองกรมการธรรมการแขวง กำนันผู้นั้นๆ จดหมายศุภมาสวันคืนขึ้นแรมไว้เป็นสำคัญ อนึ่ง ห้ามอย่าให้คฤหัสถ์ชายหญิงทั้งปวงลงเรือร่วมภิกษุสามเณรซึ่งเป็นพาลไปเที่ยวดูกระทง เล่นกฐิน ผ้าป่า เที่ยวพายเรือแข่งเบียดเสียดชายหญิง แลเที่ยวดูโขน หุ่นละคร งิ้ว หนัง แลการเล่นฟ้อนรำขับร้องต่างๆ ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทำให้ชนอันมาแต่นานาประเทศซึ่งถือศาสนาต่างๆ ดูหมิ่นประมาทได้…” และ

“…ผู้ใดมีศรัทธานิมนต์ภิกษุสามเณรมาเทศมหาชาติก็ดี สวดศพก็ดี ถ้าภิกษุสามเณรเทศมหาชาติแลสวดศพตลกคะนองนอกพระบาลีแล้ว ก็ให้เจ้าของกัณฑ์ เจ้าของศพแลผู้นิมนต์ผู้มาฟังนั้นจับภิกษุสามเณรรูปนั้นมาส่งกรมธรรมการแต่ใน ๓ วันจึงจะพ้นโทษ ถ้าไม่จับมาส่งไม่นำความมาว่าต่อกรมธรรมการแต่ในกำหนด ๓ วันแล้ว มีผู้มาฟ้องกล่าวโทษพิจารณาเป็นสัจ ให้ปรับไหมเจ้าของกัณฑ์ เจ้าของศพผัวเมียแลผู้นิมนต์ โดยฐานละเมิดตามบรรดาศักดิ์เป็นพินัยหลวง ผู้ที่มานั่งฟังนั้นให้ปรับไหมกึ่งเจ้าของกัณฑ์เจ้าของศพ

อนึ่งผู้ใดเป็นเจ้าของงานหาโขน หุ่น หาละคร งิ้ว หนัง แลการเล่นฟ้อนรำขับร้องต่างๆ มาเล่น ณ บ้านเรือนก็ดี ตำบลใดๆ ก็ดี ผู้เป็นนายกำกับงานไปเล่นก็ดี ผู้มาดูงานโรงนั้นก็ดี นอกจากงานภิกษุสามเณรในพระอารามแล้ว ให้เจ้าของงานผู้กำกับงานแลผู้ซึ่งมาดูงานเล่นฟ้อนรำทั้งปวงเอาใจใส่คอยดูแลระวัง ถ้าเห็นพระภิกษุสามเณรเข้ามาดูงานเล่นฟ้อนรำขับร้องแล้ว ก็ให้จับภิกษุสามเณรที่มาดูงานรูปนั้นๆ มาส่งกรมธรรมการตามรับสั่ง ถ้าจับไม่ได้ก็ให้มาว่ากล่าวต่อกรมธรรมการแต่ใน ๓ วันจึงจะพ้นโทษ ถ้าเจ้าของงานเป็นผู้เป็นนายกำกับการเล่นฟ้อนรำ ขับร้องต่างๆ แลผู้มาดูงานโรงนั้นเห็นภิกษุสามเณรมาดูงาน แล้วไม่จับตัวมาส่ง ไม่นำความมาว่าใน ๓ วัน มีผู้มาว่า พิจารณาเป็นสัจ ให้ปรับไหมเจ้าของงานแลผู้เป็นนายกำกับไปเล่นนั้น โดยฐานละเมิดตามบรรดาศักดิ์เป็นพินัยหลวง แล้วให้เจ้าของงานผู้กำกับการเล่นฟ้อนรำขับร้องต่างๆ นั้นสาบานตัวจำเพาะพระพักตร์พระปฏิมากรและพระธรรมพระสงฆ์จงสาหัสแล้ว ให้ตุลาการซักถามเจ้าของงานผู้กับงานว่า ผู้ใดมาดูการเล่นฟ้อนรำขับร้องร่วมเพลาภิกษุสามเณรบ้าง ถ้าเจ้าของงานผู้กำกับการงานให้การว่า คนนั้นๆ มาดูงานร่วมเพลาภิกษุสามเณรนั้น มาพิจารณาได้ความจริงแล้วให้ปรับไหมกึ่งเจ้าของงาน”

แบบนี้ถ้ามีพระภิกษุสามเณรเข้าไปร่วมงานบันเทิงเพียงรูปเดียว ทั้งคนจัดคนดูก็ต้องโดนปรับหมดทั้งงานไปเลย

กุฏิสงฆ์ในวัดโพธิ์ ปัจจุบันยังรักษาสภาพอดีตไว้
กุฏิสงฆ์ในวัดโพธิ์ ปัจจุบันยังรักษาสภาพอดีตไว้

 

ยังไม่หมดแค่นี้ ข้อความในประกาศฉบับนี้ยังมีต่อไปอีกว่า
“อนึ่ง ผู้ที่เห็นภิกษุสามเณรประพฤติอนาจารทุจริต กระทำความผิดต่างๆจนถึงเป็นปาราชิกแล้ว ผู้นั้นไม่จับภิกษุสามเณรรูปนั้นมาส่งหรือไม่มาว่ากล่าวในกำหนด ๓ วันแล้ว มีผู้มาว่าพิจารณาเป็นสัจ ให้ปรับไหมผู้ที่เห็นภิกษุสามเณรประพฤติอนาจารดังกล่าวมานี้นั้นกึ่งผู้เป็นเจ้าของเรือนตามบรรดาศักดิ์เป็นพินัยหลวง ถ้าเป็นปาราชิกให้ปรับไหมกึ่งผู้ผิด แต่ผู้ที่รู้ว่าภิกษุสามเณรประพฤติอนาจารดังกล่าวมานี้ ถ้ารู้แล้วไม่นำความมาว่าต่อกรมธรรมการภายใน ๓ วัน จนถึงมีผู้มาฟ้องกล่าวโทษ โปรดให้ตุลาการพิจารณาได้ความจริงนั้น ให้ตุลาการทอดเส้นเชือกแต่เรือนผู้ผิดไป ๓๐ วา ถ้าความปาราชิกผู้อยู่ใน ๑๐ วา ให้ปรับไหมเข้าเดือน ทำพระอาราม ๓๐ วัน ถ้าผู้อยู่ใน ๒๐ วา ให้ปรับไหมเข้าเดือนทำพระอาราม ๑๐ วัน ถ้าศักดินาตั้งแต่ ๔๐๐ ไร่ขึ้นไป ให้บ่าวไปทำแทนแล้วปรับไหมทวีคูณ โดยสมควรตามศักดินามากแลน้อย ถ้าเป็นภิกษุสามเณร ประพฤติอนาจารลามกสิ่งใดๆ นอกจากความเป็นปาราชิกแล้ว ให้ปรับไหมผู้ที่รู้ความแล้วนิ่งเสียนั้นเสมอผู้อยู่ใน ๓๐ วา…”

ท่านให้ใช้เชือกวัดกันเลย ใครอยู่ในรัศมี ๓๐ วาเป็นโดนหมด แต่ผู้มีบรรดาศักดิ์กลับให้บ่าวไปรับโทษแทนได้ สบายไปอีก

เหตุผลที่ท่านต้องเข้มงวดในเรื่องนี้ก็เพื่อ

“…ภิกษุสามเณรทั้งปวงนั้นก็จะเข็ดขยาด มิอาจกระทำความชั่วลามกดังกล่าวมาต่างๆได้ พระศาสนาก็จะวัฒนาการรุ่งเรืองสืบต่อไป พอเป็นที่เลื่อมใสแก่สัปบุรุษทายกทั้งปวง…”

 

ขอขอบคุณเว็บ Manager

ติดตามเรื่องราวครูบาอาจารย์ได้เพิ่มเติมที่

แอพเกจิ Facebook: www.facebook.com/appgeji

Web Sit: www.appgeji.com

App Store (IOS): https://appsto.re/th/wlGScb.i

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: