1078. ย้อนตำนาน ‘หลวงพ่อโม'(จบ) ผู้แก่กล้าอาคม-เหรียญยอดนิยม

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาต่อพระศาสนา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้นสำเร็จสมบูรณ์ จึงทรงมีพระราชศรัทธาให้หล่อพระพุทธชินราช จำลองจากพิษณุโลก เพื่อประดิษฐานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร

ในพิธีการหล่อพระพุทธชินราชจำลองคราวนั้น ได้มีการอาราธนาพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางเวทมนตรŒคาถา เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป มาประกอบพิธีนั่งปรกปลุกเสกจำนวนมากมาย ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ “หลวงพ่อโม”

“หลวงพ่อโม” วัดสามจีน (วัดไตรมิตรวิทยาราม) กรุงเทพฯ ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง ถือสันโดษ มักน้อย และยังถือเอกา คือ การฉันมื้อเดียวมาโดยตลอดตั้งแต่บวชจนกระทั่งมรณภาพ โดยอุปนิสัยเป็นผู้ที่มีอารมณ์เยือกเย็น พูดจานิ่มนวล มีเมตตาต่อชนทุกชั้นวรรณะและสัตว์ทั้งปวง กิจวัตรที่ไม่เคยขาดคือการลงโบสถ์ทำวัตรสวดมนต์ทุกเช้าและเย็น รวมทั้งการบิณฑบาตที่ท่านถือเป็นภารกิจของสงฆ์ที่ควรปฏิบัติมิได้ขาด

สิ่งที่แปลกก็คือ เมื่อท่านบิณฑบาตมาแล้วจะนำอาหารทั้งหมดถวายพระภิกษุ-สามเณร โดยตักแบ่งให้ทั่วทุกองค์ ส่วนตัวท่านนั้นฉันเจมาโดยตลอด แสดงให้เห็นถึงความมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ ไม่เป็นผู้เบียดเบียน ชีวิตสัตว์ทั้งหลาย ด้วยคุณงามความดี ตลอดจนศีลาจารย์วัตรอันงดงามของท่าน จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรฝ่ายวิปัสสนา ที่ “พระครูวิริยกิจจารี”

ในสมัยก่อนกล่าวกันว่า หญิงที่ตั้งครรภ์ถ้าได้ “ดอกบัวเสก” จากท่านไปต้มกิน บุตรที่คลอดออกมาจะมีผิวพรรณเปล่งปลั่งดั่งสีทอง และคลอดง่าย ซึ่งเรื่องนี้ชาวจีนย่านเยาวราชต่างพากันนับถือมาก แต่ละวันจะมีประชาชนมาให้ท่านรดน้ำมนต์ไม่เว้น ยิ่งเครื่องรางของขลังแทบไม่ต้องพูดถึง ท่านจะทำตะกรุด และผ้า ยันต์แจกเสมอ

ปกติหลวงพ่อโม ท่านมีพลานามัยแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ก่อนมรณภาพในระหว่างปี พ.ศ. 2460 ท่านได้อนุญาตให้คณะศิษย์จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนไว้เป็นที่ระลึก โดยท่านบอกว่าต่อไปของชิ้นนี้จะเป็นตัวแทนของฉันได้ เก็บรักษาไว้ให้ดี เมื่อท่านสร้างเหรียญแจกจนหมด พอถึงปี พ.ศ. 2461 จู่ๆ ในระหว่างกลางเดือนกันยายน หลังจากทำวัตรเย็นเสร็จ ท่านได้อบรมพระภิกษุ-สามเณรในพระอุโบสถว่า “ขอให้ศิษย์ทุกองค์ จงตั้งมั่นปฏิบัติธรรมและคอยช่วยทะนุบำรุงวัดให้เจริญก้าวหน้า และสามัคคีกันให้ดี อีกไม่นานฉันต้องจากพวกเธอไปแล้วนะ”

ทั้งพระเณรได้ฟังเช่นนั้น ก็ไม่คิดว่าท่านจะมรณภาพ เพราะเห็นว่าสุขภาพของท่านยังแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยใดๆ คิดว่าท่านอาจจะย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่นก็เป็นได้

จนกระทั่งเช้าวันที่ 30 ก.ย.2461 พระภิกษุ-สามเณรเห็นท่านไม่เปิดกุฏิออกมาบิณฑบาต อย่างเช่นเคย จึงได้ไปเคาะประตูเรียกก็เงียบจนผิดสังเกต จึงเปิดประตู (ไม่ได้ใส่กลอน) เข้าไปพบว่าหลวงพ่อโมนั่งสมาธิมรณภาพไปแล้ว ยังความโกลาหลอลหม่านต่อบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่งนัก รวมสิริอายุได้ 55 ปี พรรษา 34

ในสมัยที่หลวงพ่อโมยังมีชีวิตอยู่ วัตถุมงคลที่ท่านสร้างแจกก็มีตะกรุด ผ้ายันต์ เหรียญรูปเหมือน และพระพุทธชินราช หล่อด้วยเนื้อตะกั่ว ผสมปรอท แต่ที่วงการพระเครื่องรู้จักกันดี และเป็นที่โด่งดังแสวงหากันมากมีอยู่ 2 ชนิดคือ “เหรียญรูปเหมือน” รุ่นแรกปี 2460 ซึ่งเป็นเหรียญที่ออกแบบได้งดงาม เป็นทรงรูปไข่ห่วงเชื่อม ด้านหน้ามีรูปหลวงพ่อหน้าตรงครึ่งองค์ ข้างบนขอบเหรียญนั้นมีช่อดอกไม้ จะคล้ายกับเหรียญหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย และเหรียญพ่อบ่าย วัดช่องลม จ.สมุทรสงคราม จำนวนการสร้างน้อย เท่าที่พบเห็นมีแต่เนื้อเงิน ส่วนทองแดงนั้นไม่เคยพบ ปัจจุบันสภาพสวยๆ ราคาเล่นหาว่ากันเกือบหลักแสนแล้ว

อีกชนิดหนึ่งคือ “พระพุทธชินราชหล่อ เนื้อตะกั่ว” สาเหตุที่สร้างสืบเนื่องจากท่านนิยมชมชอบพุทธลักษณะของพระพุทธชินราช เมื่อครั้งไปพำนักอยู่ที่วัดพระศรีมหาธาตุ เมื่อกลับมาครองวัดสามจีนจึงได้หล่อพระพิมพ์พุทธชินราชขึ้นเพื่อแจกจ่ายลูกศิษย์ มีประสบการณ์เลื่องลือในสงครามอินโดจีน ราคาเล่นหาหลักพัน

กล่าวกันว่า “ใครมีพระหลวงพ่อโม นักเลงโตไม่กล้าแหยม” ลองถามคนรุ่นเก่าแถวเยาวราชดูได้

เขายกนิ้วให้ในความเหนียวจริงๆ

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : puistore.com โดยคุณปุ๊ย
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : ท่าพระจันทร์ (พระหอวัง)
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: