1067. เสี่ยปรีชา ชัยรัตน์ กับ…ปาฏิหาริย์ ‘หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน’

ศูนย์วัฒนธรรมไทยจีนอุดรธานี ก่อสร้างขึ้นจากดำริของคณะกรรมการมูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี เพื่อเป็นการเชิดชูองค์เจ้าปู่-ย่า ที่เป็นที่เคารพและศรัทธาของชาวอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งเป็นแหล่งในการสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของชาวจีนที่อพยพจากประเทศจีนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารใน จ.อุดรธานี

บุคคลสำคัญที่มีส่วนในการจัดสร้างคือ นายปรีชา ชัยรัตน์ เจ้าสัวตัวจริงเมืองอุดร ที่คนอุดรมักเรียกสั้นๆ ว่า “เสี่ยปรีชา” ผู้ซึ่งเป็นประธานจัดงานประกวดพระเครื่องเมืองอุดร ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๔ มีนาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา โดยในวันงานจะนำพระเครื่องที่สะสมซึ่งมีการประเมินมูลค่าไม่ต่ำกว่า ๑ พันล้านมาโชว์เป็นครั้งแรกด้วย

เสี่ยปรีชา บอกว่า พระที่แขวนคอเป็นประจำ คือ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน เพราะว่า “คุณพ่อชื่อเงิน ไชยรัตน์” โดยแขวนพระมาตั้งแต่ได้จากคุณกำพล วีระเทพสุภร เมื่อแขวนแล้วเกิดปาฏิหาริย์ตลอดเวลา โดยนิสัยส่วนตัวแล้วชอบไปเล่นการพนันในบ่อนต่างประเทศ ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะมีความโชคดีกับการเสี่ยงโชคมากเป็นพิเศษ จากนั้นเป็นต้นมาไม่เคยลืมแขวนพระหลวงพ่อเงินเลยสักครั้งเดียว

นอกจากนี้พระหลวงพ่อเงินยังแสดงปาฏิหาริย์เรื่องการค้าและเรื่องธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากจบ ม.๓ ได้ขอพ่อไปเรียนต่อเมืองนอก ท่านไม่ให้ไปแต่ให้น้องๆ ไปแทน เหตุผลเดียวที่ยังจำคำพูดของพ่อได้อย่างแม่นยำคือ “พ่อจบ ป.๔ ยังได้ขนาดนี้ มึงจบ ม.๓ มึงทำดีและไปได้ไกลกว่ากูแน่” และคำพูดของพ่อก็เป็นคำพูดที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

“พระดีมีเยอะ ได้มาเพราะคุณประชา ชัยรัตน์ ซึ่งเป็นน้องชาย เป็นคนเล่นพระ มักจะช่วยหาพระสวยๆ มาให้เช่าเก็บอยู่เป็นประจำจนกลายเป็นว่ามีพระสวยๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะพระสมเด็จจิตรลดา ที่เช่ามาพร้อมกับใบกำกับ” เสี่ยปรีชากล่าว

พร้อมกันนี้ เสี่ยปรีชา ยังเล่าด้วยว่า ระหว่างที่ทำงานอยู่กับพ่อท่านจะสอนเสมอ ครั้งหนึ่งเคยนั่งสัปหงกหลับนกเก้าอี้ตอนกลางวัน ท่านเดินมาเตะเก้าอี้พร้อมกับพูดว่า “มึงเป็นหัวหน้าคนอย่ามานั่งหลับตรงนี้ ถ้าง่วงก็ไปนอนซะแล้วกลับมาทำงานใหม่” คำพูดดังกล่าวทำให้คิดได้ว่า “การเป็นหัวหน้าคนอย่าทำความอ่อนแอให้ลูกน้องเห็น”

นอกจากนี้แล้วพ่อจะสอนเรื่องการทำบุญไว้พระด้วย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน พ่อกับแม่จะต้องไปไหว้พระขอพรวัดหลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา เป็นประจำ คืออย่างน้อยต้องไปไหว้ปีละครั้ง หลังเทศกาลตรุษจีน ทุกวันนี้แม้ว่าพ่อแม่ตายไปแล้วก็ยังคงไปอยู่ และเมื่อกลายเป็นพ่อแม่ก็พาลูกไปเหมือนครั้งที่พ่อแม่เคยพาเราไป

สิ่งหนึ่งที่เสี่ยปรีชาไปวัดหลวงพ่อโสธร คือ ทุกครั้งที่ไปวัดหลวงพ่อโสธรก็จะไปกินข้าวต้มที่โรงเจ ตอนเด็กๆ เคยคิดว่าแม่พาไปกินเพราะอยากให้อิ่มท้อง แต่ความจริงแล้วกินเพื่อเอาโชคชัยมากกว่า เมื่อมาได้เป็นประธานศาลเจ้าจึงทำโรงทานเช่นเดียวกับที่วัดหลวงพ่อโสธร

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นประธานศาลเจ้าปู่-ย่า จ.อุดรธานี จึงมีแนวความคิดว่าเงินที่ประชาชนมีความศรัทธาต่อเจ้าปู่-ย่า น่าจะเป็นการสร้างบุญต่อ จึงมาตั้งเป็นมูลนิธิปู่เจ้าย่า โดยในอดีตนั้น เมื่อกรรมการหมดวาระต้องใช้เงินให้หมดทุกๆ ปี ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เงินของกรรมการและประธานเลยสักบาทเดียว จึงเอาเงินจากศาลเจ้าเข้ามาอยู่ในมูลนิธิ หากเมื่อใดต้องใช้เงินเพื่องานการกุศลก็สามารถเอามาใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องเรี่ยไรบอกบุญ

ทั้งนี้ เสี่ยปรีชา เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า ผมเป็นคนไม่มีตั้งแต่เกิด ตอนเด็กๆ ได้เงินไปโรงเรียนวันละ ๕๐ สตางค์ พ่อเป็นคนต้อนวัวไปขายที่กรุงเทพฯ แม่เปิดร้านขายของชำเล็กๆ ตอนเด็กๆ ต้องหารายได้จากการขายไม้กวาด ขายเสื่อจันทบูร ขายไอติม ขายตะกร้าจักสาน เดินขายลอตเตอรี่ใบละ ๑.๕๐ บาท ทุกวันนี้เมื่อต้องซื้อของจากแม่ข้าหาบเร่แผงลอยตามริมถนนจะไม่ต่อเลยสักบาทเดียว แต่ถ้าต้องซื้อเพชร ซื้อของจากร้านติดแอร์จะต้องต่ออย่างเต็มที่

“ผมพยายามสอนลูก สอนลูกน้องว่า ถ้าช่วยคนได้โดยที่ไม่เดือดร้อนก็ควรช่วย การทำบุญใช่เป็นสิ่งที่ต้องบังคับ มีกฎเกณฑ์ว่าต้องทำเท่าไร จงทำเมื่อมีโอกาสทำ อะไรก็ได้ที่เป็นความดีถือว่าเป็นบุญ อย่าทำบุญจนกระทั่งเราเดือดร้อน ชีวิตคนเรารู้ว่าเราเกิดมาเมื่อไร แต่ในช่วงที่เรามีชีวิตอยู่เรารู้ว่าเราทำดีหรือไม่ดี เมื่อเรารู้ว่าดีคืออะไรเราต้องรีบทำ เพราะเราอาจจะไม่มีโอกาสทำดีในวันพรุ่งนี้ ด้วยเหตุที่ว่าวันพรุ่งนี้อาจจะไม่มีอยู่จริง เราอาจจะตายไปก่อนที่จะทำความดี ชีวิตที่มีอยู่เพื่อที่จะสร้างบุญ โดยแต่ละปีผมทำบุญปีละไม่กว่า ๒๐ ล้านบาท” เสี่ยปรีชา พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด

ปาฏิหาริย์เซียมซีใบที่๕๑

ศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งของเมืองอุดรธานี เพราะถือเป็นจุดศูนย์รวมน้ำใจทั้งของชาวพื้นเมืองเดิมและชาวจีน และนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมะที่สำคัญของเมืองแห่งหนึ่ง เพราะนอกจากเป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองอุดรธานี มากราบไหว้ขอพรให้ชีวิตมีความสำเร็จ ความสุขในชีวิตแล้ว ก็ยังมีนักเรียน นักศึกษา จะมากราบไหว้ขอพรให้สอบผ่านสำเร็จแล้ว ชื่อเสียงของศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี ยังระบือไปจนถึงชาวจีนในต่างประเทศ ทุกปีจะมีชาวจีนที่อาศัยอยู่ต่างประเทศเดินทางมากราบไหว้ขอพรศาลเจ้าปู่-ย่า เพิ่มขึ้นทุกปี

ในบริเวณศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี จะมีศาลต่างๆ อยู่ในบริเวณเดียวกันจำนวน ๖ ศาล คือ ศาลเทพยาดาฟ้าดิน หรือ ทีตี่แป่บ้อ, ศาลเจ้าปู่-ย่า ซึ่งเป็นศาลประธานตั้งอยู่ตรงกลาง, ศาลเจ้าพ่อหนองบัว, ศาลเจ้าที่ หรือ ตี่จู้เอี๊ย, พระสังกัจจายน์ และแงง่วนส่วย หรือเทพแห่งปราชญ์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของนักเรียนและนักศึกษา

อย่างไรก็ตามในอดีตเราเข้าใจว่าศาลเจ้าเกียนอันเกง ที่ชุมชนกุฎีจีน ติดกับวัดหลวงพ่อโต ซำปอกง หรือวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี กทม. เป็นศาลเจ้าที่เป็นต้นแบบของใบเซียมซี ซึ่งมากที่สุด คือ ๒๘ ใบ แต่ที่ “ศาลเจ้าปู่-ย่า” จ.อดุรธานี มีใบเซียมซีมากถึง ๖๐ ใบ น่าจะมากที่สุดในประเทศไทย

เสี่ยปรีชาเล่าว่า เมื่อรับงานต่อจากพ่อใหม่ๆ หลายครั้งไม่มีที่ไปจะมานั่งที่ต้นไทร หน้าศาลเจ้าปู่-ย่า เมืองอุดรธานี ก่อนกลับจะตั้งจิตอธิษฐานขอว่า “สิ่งที่ผมจะกลับไปทำในวันนี้ วันพรุ่งนี้ และวันต่อๆ ไป ขอให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องขอให้ได้สติคิดได้” จากวันนั้นเป็นต้นมา เมื่อเกิดปัญหาคิดอะไรไม่ได้แก้ปัญหาไม่ตกก็จะมาจุดธูปเทียนบอกเจ้าปู่-ย่า

“บนร้อยขอพันอย่าง” เป็นสิ่งที่ประชาชนเดินทางมากราบไหว้ขอพรเจ้า-ปู่เจ้า-ยา จากคำบอกเล่าของเสี่ยปรีชา โดยเฉพาะใบเซียมซีที่มีมากถึง ๖๐ ใบ น่าจะมีมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ หากอธิษฐานขอเรื่องใดเรื่องหนึ่งคำทำนายในเซียมซีจะแม่นยำมาก

เมื่อครั้งรับเป็นประธานศาลเจ้าปู่-ย่า สมัยที่ ๕๑ ซึ่งต้องมีการคัดเลือกกรรมการจัดเลือกทุกๆ วันที่ ๓ ธันวาคม ของทุกๆ ปี ในปีนั้นได้รับเลือกให้เป็นประธาน โดยประกาศไปว่าจะพากรรมการศาลเจ้าไปเที่ยวอเมริกาทุกคน ถ้าเซียมซีออกตามเลขที่ตั้งจิตอธิษฐานไว้และก็ได้เลข ๕๑ ตรงกับสมัยที่ ๕๑ จริงๆ จึงเอาเลขนั้นไปเล่นหวย โดยในงวดนั้นออก ๔๕๑ จึงได้พากรรมการไปเที่ยวอเมริกาตามที่พูดไว้

ขอขอบคุณรูปภาพสวยและข้อมูลดีๆ โดยคุณไตรเทพ ไกรงู (ข่าวสด)
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: