1075. “พระสมเด็จควายเผือกฟ้าผ่าตาย” หลวงปู่หม่น วัดคลองสิบสอง

ตำนานหลวงปู่หม่น วัดคลองสิบสอง จ.ปทุมธานี พระเถราจารย์ผู้มีตบะบารมีแก่กล้า
ประวัติหลวงปู่หม่น

ท่านถือกำเนิดเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๐
ที่อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี (ไม่ทราบนามบิดามารดา) ครอบครัวท่านมีอาชีพทำนา
ต่อมาบิดามารดาของท่าน ได้อพยพมาปักหลักทำมาหากิน ในเขตหนองจอก โดยมาอยู่ที่บ้านนาหม่อน ไม่ไกลจากวัดพระยาปลาเท่าใดนัก
ในวัยเยาว์ท่านได้รับการศึกษาจนจบประถมปีที่ ๔ แล้วก็ออกจากโรงเรียน มาอยู่ช่วยบิดาทำนา จนกระทั่งเติบโตก็ได้แต่งงานมีภรรยาและมีลูกด้วยกัน ๒ คน เป็นบุตรชายชื่อเขียว และบุตรธิดาชื่อชง

ต่อมาได้มีเพื่อนบ้านคนหนึ่งอยู่ละแวก (วัดพระยาปลา) ตั้งใจจะออกบวช ก็ได้ไปขอฤกษ์กำหนดพิธีอุปสมบท จากนั้นทางบ้านก็จัดงานกันอย่างเอิกเกริก กลางคืนเตรียมทำขวัญนาค ในยามเช้าก็เตรียมจะทำการอุปสมบท อยู่ๆผู้เป็นนาคก็เกิดเสียชีวิตกะทันหัน เมื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเช่นนั้น ทางบ้านนาคก็เกิดความสับสน เสียงส่วนใหญ่ก็ไม่อยากให้ล้มเลิกงานบวช ไหนๆก็ได้จัดงานแล้ว จึงตกลงกันหาคนบวชมาเป็นนาคแทนเสีย อีกประการหนึ่งก็จะเป็นการอุทิศให้กับผู้ตายด้วย

ขณะนั้นเจ้าภาพงานบวชก็ได้รู้จักกับหลวงปู่หม่นอยู่แล้ว ทราบว่าท่านเอง ก็ยังไม่เคยบวช จึงมาขอให้ท่านเป็นนาคบวชแทนผู้ตาย เพื่อไม่ให้พิธีการที่เตรียมไว้เสียไป ซึ่งหลวงปู่หม่นเอง ก็ตกลงยอมโกนหัวเข้าสู่พิธีทำขวัญนาค และอุปสมบทในวันรุ่งขึ้น ขณะที่ท่านบวชนั้น ภรรยาของท่านได้เสียชีวิตไปไม่นาน ท่านได้ฝากลูกสองคน ไว้กับครอบครัว ให้ช่วยกันดูแลเลี้ยงแทนด้วย ซึ่งทางบ้านทุกคนก็เต็มใจด้วยดี

ในครั้งนั้นไม่มีใครคาดคิดเลยว่า “นายหม่น” ผู้ที่ยอมโกนหัวบวชเป็นพระ แทนนาคผู้เสียชีวิตกะทันหัน จะลาการใช้ชีวิตทางโลกตราบชั่วอายุขัยของท่าน เลยเป็นการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อย่างถาวร (ไม่ทราบนามพระอุปัชฌาย์)

หลังจากที่ท่านบวชแล้ว ก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดถึงพระบาลี คัมภีร์มูลกัจจายน์ ครั้นพอออกพรรษา ท่านมักออกธุดงควัตรปลีกวิเวก พอเข้าพรรษาบางปีก็กลับมาจำพรรษา ที่วัดพระยาปลา บางปีก็ธุดงค์จากถิ่นไปไกลๆ จำพรรษาที่อื่น ส่วนใหญ่เล่ากันว่า ท่านจะธุดงค์ไปกับ (หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก) จังหวัดฉะเชิงเทรา บางครั้งก็จะธุดงค์องค์เดียว ในช่วงระหว่างที่ธุดงค์ท่านจะบำเพ็ญศีลภาวนา อย่างเคร่งครัด หากท่านพบพระอาจารย์ท่านใดก็จะขอร่ำเรียนวิชาอาคมต่างๆ ซึ่งพระเกจิอาจารย์ส่วนใหญ่ จะไปได้วิชาอาคมจากการเดินธุดงค์ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างธุดงค์ก็ว่าได้ “หลวงปู่หม่น” ท่านเดินธุดงค์ไปทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน บางครั้งก็เข้าไปถึง ประเทศเขมร พบพระอาจารย์ระหว่างทางที่ไหนก็ขอเรียนวิชานำติดตัวกลับมา

“วัดพระยาปลา” หรือวัดนารีราษฎร์ประดิษฐ์นั้น สมัยก่อนเคยขึ้นไปอยู่ กับจังหวัดฉะเชิงเทรา ราวปี พ.ศ.๒๔๗๐ ต่อมา พ.ศ.๒๔๗๒ ก็โอนกลับมาขึ้นอยู่ กรุงเทพฯ ตามเดิม “วัดพระยาปลา” นั้น ชาวบ้านสมัยก่อนมักเรียก “วัดคลองสิบสอง” ชื่อจริงตามราชการคือ “วัดนารีราษฎร์ประดิษฐ์” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ โดยมี “อำแดงผึ้ง” เศรษฐีณีย่านหนองจอกอุทิศที่ดินบริเวณคลอง ๑๒ จำนวน ๑๐ ไร่ ให้เป็นที่สร้างวัดขึ้นมา เมื่อสร้างวัดเสร็จก็ตั้งชื่อว่า “วัดนารีราษฎร์ประดิษฐ์” โอนที่ดินให้เป็นสมบัติของวัดอย่างถูกต้องเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ ปรากฏหลักฐานไว้ ตามโฉนดที่ดินของวัด

“วัดนารีราษฎร์ประดิษฐ์” คือชื่อวัดสมัยที่ก่อตั้งแล้ว แต่ต่อๆมา ชื่อเรียกขานก็เปลี่ยนไป ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากบริเวณที่ตั้งวัดนั้น เป็นปากบึงมีปลาชุกชุมมาก ขณะที่ชาวบ้านมาช่วยกันขุดดินถมดินที่ให้เป็นโคกเพื่อสร้างวัดนั้น มีคนไปเจอปลาดุกเผือกตัวใหญ่มากผู้คนเห็นเป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะปลาดุกเผือกตัวใหญ่ยักษ์หาไม่ง่ายนัก จึงถือเอาเหตุการณ์นั้นเรียกเป็นนามวัด แบบรู้ๆกันว่า “วัดพระยาปลา” คือปลาดุกเผือกตัวใหญ่

ครั้งหนึ่งสมัยที่มีพระสงฆ์จำพรรษาแรกๆ ชื่อวัดกำหนดเรียกว่า “วัดนารีประดิษฐ์” ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ “หลวงปู่หม่น” เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด ครั้งนั้น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น “สมเด็จพระสังฆราช” ได้ทรงเสด็จไปตามลำน้ำต่างๆ ค่ำไหนพักที่นั่น บังเอิญไปพักที่วัดนารีราษฎร์ประดิษฐ์ พอวันรุ่งขึ้นชาวบ้านก็จัดทำอาหารไปถวาย อาหารที่ถวายส่วนใหญ่มีปลาเป็นหลัก เช่น แกงปลา ปลาทอด ปลานั้นล้วนแต่ตัวใหญ่ๆ ทั้งสิ้น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส” ท่านดำรัสว่า “แหมวัดนี้มีปลาใหญ่ๆ น่าจะชื่อวัดพระยาปลา” ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงพากันเรียก “วัดพระยาปลา” มาตลอดจนติดปากจนพักหลังๆ แทบจะไม่มีใครรู้จักชื่อ “วัดนารีราษฎร์ประดิษฐ์” กันเลย

เมื่อครั้งที่สร้างวัดเสร็จใหม่ๆ “อำแดงผึ้ง” พร้อมด้วยชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้ไปนิมนต์ “พระอาจารย์ทองสุข” วัดแสนเกษม คลอง ๑๓ หนองจอก มาเป็นเจ้าอาวาส ถือว่าเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัด “พระอาจารย์ทองสุข” อยู่ได้ไม่นานก็ออกธุดงค์จากวัดไป “อำแดงผึ้ง” พร้อมกับชาวบ้านจึงไปนิมนต์ “หลวงปู่เนียม” จากกรุงเทพฯ มาเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ แล้วหลวงปู่เนียม ท่านก็ธุดงค์ออกจากวัดไปอีกรูปหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่เนียมมาเป็นเจ้าอาวาส อยู่ที่วัดพระยาปลานั้น หลวงปู่หม่นท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระยาปลาแล้ว ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์ร่ำเรียนวิชาการ ทำพระหนังจากหลวงปู่เนียมด้วย ครั้นเมื่อหลวงปู่เนียมจากไป ชาวบ้านก็นิมนต์หลวงปู่หม่น ให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ปกครองวัดพระยาปลา เป็นรูปที่ ๓

สำหรับวิชาการทำ “พระหนัง” นั้น ทราบว่าพระอาจารย์ที่สอนท่านทำก็คือ “หลวงปู่เนียม” เจ้าอาวาสวัดพระยาปลาองค์ก่อน “หลวงปู่เนียม” องค์นี้ เก่งในเรื่องการทำพระหนังยิ่งนัก และพระหนังของท่านก็เลื่องลือมาก ในเรื่องของความอยู่ยงคงกระพัน จัดเป็นปรมาจารย์พระหนัง ท่านมีวิชาอาคมแก่กล้า ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดพระยาปลา ได้เพียง ๒ ปี ก็ออกธุดงค์จากวัดไป ไม่ทราบว่าท่าน ไปไหน กระทั่ง “หลวงปู่หม่น” เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดแทน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ ภายหลังที่ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด กิจธุดงค์ท่านก็ละเว้นลง เพราะมีภารกิจทางคันถธุระมากขึ้น และต่อมาท่านก็ได้เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากที่หลวงปู่หม่นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็อยู่ทำนุบำรุงวัด ก่อสร้างบูรณะเสนาสนะต่างๆให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น ในยุคนั้นชาวบ้านย่านคลอง ๑๒ หนองจอก มีนบุรี และลำลูกกา ต่างให้ความเคารพศรัทธาท่านมาก และยกย่องว่าท่าน เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีวิชาอาคมแก่กล้ายิ่งนัก ในย่านนั้นไม่มีใครมีชื่อเสียงโด่งดังเท่า “หลวงปู่หม่น” เลย

“หลวงปู่หม่น” ท่านได้สร้างพระหนังขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายกับชาวบ้าน ในยุคแรก ท่านใช้หนัง หน้าผากควายเผือกนำมาทำเป็นพระ และควายเผือกที่จะเอาหนังมาทำพระนั้น ถือเคล็ดอีกว่าจะต้องเป็นควายเผือกที่ถูกฟ้าผ่าตายเท่านั้น ควายตายอย่างอื่นใช้ไม่ได้ และเมื่อได้ควายเผือกถูกฟ้าผ่าตายมาแล้ว ก็จะต้องใช้หนังที่หน้าผากควาย หรือตรง “กบาลควาย” เท่านั้น เป็นข้อจำกัดในการทำพระหนังให้สุดยอด เปี่ยมด้วยพุทธคุณ ตรงตำรับตำราโดยแท้

เมื่อท่านทำพระหนังออกมา ก็นำมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านและลูกศิษย์ ใหม่ๆก็ไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก หลวงปู่ท่านมักจะแจกให้ลูกหลานเด็กๆ คล้องคอกัน ท่านบอกว่าเอาไว้ป้องกันงูเงี้ยวเขี้ยวขอ ซึ่งต่อมามีผู้เห็นพุทธคุณอิทธิปาฏิหาริย์ ในพระหนังมากขึ้นก็ไปขอพระหนังจากท่าน เมื่อพระหนังท่านหมดท่านก็ทำออกมาใหม่

พระหนังหลวงปู่หม่น มักแสดงอิทธิฤทธิ์ให้ผู้คนประจักษ์มากขึ้น ในเรื่องของคงกระพันชาตรี ป้องกันงูพิษขบกัดวิเศษยิ่ง เมื่อพระหนังมีชื่อเสียง ได้รับความนิยมมาก แต่การทำมีข้อจำกัด นั่นก็คือต้องเอาหนังจากกบาลควายเผือก ที่ถูกฟ้าผ่าตายเท่านั้น ทำให้การทำพระออกแจกจ่ายไม่ทันกับความต้องการ ระยะหลังท่านจึงลดข้อจำกัดลง โดยใช้เพียงหนังควายเผือกที่ถูกฟ้าผ่าตายทั้งตัว เอามาทำเป็นพระหนัง ทำให้มีพระหนัง ออกมาให้ผู้ศรัทธามากขึ้น

สำหรับควายที่ถูกฟ้าผ่าตายนั้น สมัยก่อนหาไม่ยากยิ่งย่านทุ่งหนองจอกด้วยแล้ว พื้นที่ทั้งหมดเป็นท้องนามีต้นตาลสูงขึ้นทั่วๆไป เวลาหน้าฝนมักเกิดฟ้าผ่าควายตายประจำ ควายถูกฟ้าผ่าตายจึงมีมากแต่ควายเผือกถูกฟ้าผ่าตายมีน้อยมาก ถ้าที่ไหนควายเผือกถูกฟ้าผ่าตาย ชาวบ้านมักจะรีบมาบอกหลวงปู่ ซึ่งท่านก็จะรับซื้อไว้ แล้วให้ชาวบ้านแล่เอาหนังควายไปให้ท่านเพื่อจัดสร้างพระ

วิธีการทำพระหนังของท่าน เมื่อท่านได้หนังควายเผือกที่ถูกฟ้าผ่าตายมาแล้ว ขั้นตอนแรกท่านก็เอาหนังมาแช่น้ำให้นิ่ม ต่อจากนั้นก็นำแบบพิมพ์ที่ทำเป็นบล็อก รูปองค์พระขอบเป็นใบมีดโกน นำมากดทับแผ่นหนังใช้ไม้ไผ่ตอกปั๊มให้หนังเป็นร่องลึก ตามแบบขอบใบมีดโกน จะตัดหนังเป็นสี่เหลี่ยมองค์พระตรงกลางจะได้รูปร่องลึก เป็นองค์พระประทับติดกับหนัง

จากนั้นท่านก็เอาองค์พระหนังไปตากในที่ร่มอย่าให้โดนแดดเป็นอันขาด ถ้าโดนแดดหนังจะหดตัวแทบมองไม่เห็นร่องรอยองค์พระเลย ต้องผึ่งลมให้แห้งสนิทเป็นอันใช้ได้ ลักษณะของพระหนังรูปทรงเป็นพระสมเด็จ นั่งสมาธิขัดเพชร มีอักขระขอมกำกับอยู่ด้านข้างองค์พระทั้งสองด้าน ด้านหลังเรียบ รุ่นแรกนั้นลงอักขระขอมด้านหน้าว่า “ตะ” ด้านหลังลงว่า “โจ” ส่วนรุ่นหลังๆ จะเรียบไม่มีอักขระ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแบบพิมพ์ที่ใช้กดซึ่งทำออกมาแต่ละชุดจะไม่เหมือนกัน บางองค์หลวงปู่ก็ลงจารอักขระขอม บางองค์ก็ไม่ได้ลงจาร

หลังจากทำพระหนังเสร็จหลวงปู่หม่นจะปลุกเสกเดี่ยว แล้วก็นำออกแจกจ่ายกันช่วงเข้าพรรษา พอออกพรรษาปีไหนไปธุดงค์ ท่านก็จะนำพระติดตัวไปแจกจ่ายชาวบ้านทั่วไป จนกระทั่งพระหนังหลวงปู่หม่น มีผู้ได้รับประสบการณ์มากมายจนชื่อเสียงโด่งดังระบือลือลั่น

พุทธคุณพระสมเด็จพระหนังควายเผือกหลวงปู่หม่นนั้น มีชื่อเสียงมากในเรื่องของการป้องกันและ “คงกระพันชาตรี” เรื่องการป้องกันนั้น ไม่ว่าจะป้องกันจากสัตว์ร้ายขบกัดแล้วยังป้องกันคุณไสยต่างๆ ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วย

ครั้งหนึ่งมีชาวบ้านย่านคลอง ๑๒ ห้อยพระหนังหลวงปู่หม่นเข้าป่าลึก กลับออกมาผู้ที่ไม่มีพระหนังห้อยคอเป็นไข้ป่ากันทุกคน พระหนังหลวงปู่หม่นนี้ ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสกันมาก เวลาลงนาเกี่ยวข้าวมักพกพาห้อยคอไปด้วย จะแคล้วคลาดจากการถูกงูกัดทุกราย แม้เด็กเล็กๆ ก็ไม่มีใครโดนงูกัดเลย ถ้าห้อยพระหนังหลวงปู่หม่นติดตัวไว้ ลูกเล็กเด็กแดงห้อยพระหนังแล้วจะเลี้ยงง่าย ไม่เจ็บไม่ไข้ได้ป่วย นำพระหนังมาแช่น้ำอาราธนาอธิษฐานจิตถึงหลวงปู่หม่นแล้วดื่ม น้ำจะช่วยรักษาไข้จับสั่นได้อย่างไม่น่าเชื่อ

พุทธคุณทางด้านอยู่ยงคงกระพันก็เป็นเลิศ มีคนโดนฟันเต็มๆ มีดไม่ระคายผิวเล่นเอาตะลึงทั้งงานวัด นักเลงย่านลำลูกกามีเรื่องทะเลาะวิวาทกันในงานวัด อีกพวกหนึ่งชักปืนจ่อยิงคู่อริระยะเผาขน นกสับไกปืนแต่กระสุนไม่ลั่น สับซ้ำหลายครั้งก็ไม่ได้ผล พอยกยิงขึ้นฟ้าปืนลั่นสนั่นงาน เล่นเอาบรรดานักเลงสมัยนั้น ต้องหาพระหนังมาเป็นเครื่องรางของขลังป้องกันภัยให้กับตนเอง

สมัยนั้นชื่อเสียงของหลวงปู่หม่นท่านจึงดังกระฉ่อนมาก พระหนังของท่านในภายหลัง (พระอธิการแป้น) เจ้าอาวาสองค์ต่อมาทำอีกรุ่น ลักษณะพระจะคมชัดกว่า พระของหลวงปู่หม่น องค์พระจะเคลือบแล็กเกอร์ป้องกันการหดตัว ซึ่งยังพอหาดูกันได้แถวละแวกวัดพระยาปลา

พระหนังหลวงปู่หม่นในปัจจุบันจะหาองค์สวยๆ ไม่ได้เลย เหตุเพราะว่ากาลเวลา ทำให้องค์พระหนังเกิดการหดตัว พระหนังบางองค์มององค์พระลบเลือน บางองค์แทบไม่เห็นองค์พระเลย ให้สังเกตจากความแห้งเก่าของหนังเท่านั้น

หลวงปู่หม่น ผู้สร้างตำนานพระหนังควายเผือกแห่งท้องทุ่งหนองจอกจนลือลั่น แม้ปัจจุบันท่านจะละสังขารไปนานแล้วก็ตาม แต่เมื่อเอ่ยถึงพระหนังทุกคนต้องยกให้ว่า พระหนังของหลวงปู่หม่นนั้นเป็นสุดยอดวัตถุมงคล แห่งทุ่งหนองจอกอย่างแท้จริง

หลวงปู่หม่น ท่านถึงแก่มรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓ สิริอายุได้ ๘๓ ปี

ขอขอบคุณท่านเจ้าของภาพ และที่มาเนื้อหาข้อมูล

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : พุทธคุณแดนสยาม
ข้อขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : TNews
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: