931. สาธุรัวๆ ปาฏิหาริย์บารมี!!”หลวงปู่รอด” อาจารย์”หลวงพ่อเอี่ยม” ก้าวเดินบนใบบัวได้ ไม่มีตก!!

พระอาจารย์ของหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง

ปรากฏตามหลักฐานชัดเจนว่า หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร แห่งวัดหนัง ราชวรวิหาร ได้ศึกษาด้านวิปัสสนาธุระ และพุทธาคม สรรพวิทยาคมต่างๆ กับ หลวงปู่รอด ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ในคราวอุปสมบทของท่านเอง หลวงปู่รอดท่านเป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่เก่งกล้าในด้านพุทธาคม สรรพวิทยาคมต่างๆ มีตบะเดชะที่กล้าแข็ง และสำเร็จวิชชา ๘ ประการ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ล่วงรู้วาระจิต รู้อดีต รู้อนาคต แสดงฤทธิ์ได้ ฯลฯ และจากการศึกษาชีวประวัติของหลวงปู่เอี่ยม จะเห็นได้ว่าท่านเจริญรอยตามพระอาจารย์รูปนี้มาโดยตลอด ท่านถอดแบบอย่างมาจากหลวงปู่รอดแทบจะเป็นพิมพ์เดียวกัน หลวงปู่รอดเก่งอย่างไร หลวงปู่อี่ยมก็เก่งอย่างนั้น เช่นเดียวกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจริญรอยตาม สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ผู้สร้างพระสมเด็จ “อรหัง” และพระสมเด็จฯ วัดพลับ เช่น ในการที่หลวงปู่เอี่ยมท่านได้สร้างพระปิดตาและพระปิดทวาร ฯลฯ ขึ้น ก็ถอดลักษณะมาจากพระเครื่องทั้ง ๒ ชนิดของหลวงปู่รอด

วิทยาคุณและคุณวิเศษ

วิทยาคุณและคุณวิเศษของพระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด) ที่จะบรรยายต่อไปนี้ คุณปู่ทรัพย์ ทองอู๋ ผู้ซึ่งเป็นบุตรของลูกพี่ลูกน้องของหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร แห่งวัดหนัง ราชวรวิหาร และเป็นบิดาของคุณพ่อพูน ทองพูนกิจ ได้เล่าให้ทายาทฟังต่อๆ กันมา ซึ่งจะได้นำมาประมวลเข้าไว้ดังต่อไปนี้

การเดินบนใบบัว

เรื่องนี้เนื่องมาจาก การเดินธุดงค์ในสมัยที่ “หลวงปู่เอี่ยม” ยังเป็นสามเณร ได้เล่ากันต่อๆ มาว่า ในครั้งนั้นหลวงปู่รอดได้เดินธุดงค์โดยมี สามเณรเอี่ยม ร่วมทางไปด้วย ในระหว่างทางห้วยกระบอกหรือห้วยกลด เขตจังหวัดกาญจนบุรี พอมาถึง ณ ที่แห่งหนึ่ง เห็นกลดของพระธุดงค์ร้างปักอยู่มาก เนื่องจากหนีสัตว์ป่าไปเสียข้างหน้า ภูมิประเทศโดยรอบเป็นภูเขาสูงชันมากยากแก่การปีนป่าย และมีต้นไม้ขึ้นเต็มไปหมด ซ้ำยังมีบึงบัวใหญ่ขวางหน้าอยู่อีก ท่านจึงพิจารณาว่าจะต้องข้ามทางบึงบัวนี่แหละ จึงจะออกจากสถานที่นั้นได้ หลวงปู่รอดจึงบอกกับสามเณรเอี่ยมว่า เมื่อท่านเดินก้าวลงใบบัวในหนองน้ำนั้น ชึ่งเป็นพืดติดต่อกันไปถึงฝั่งตรงข้าม ให้สามเณรคอยก้าวตาม เหยียบทับรอยเท้าของท่านบนใบบัวแต่ละใบ อย่าให้พลาดโดยเด็ดขาด รอยไหน รอยนั้น

หลวงปู่รอดจึงบอกคาถาให้บริกรรมขณะที่จะก้าวเดิน แล้วท่านก็เจริญอาโปกสิณอยู่ครู่หนึ่ง ท่านก็ได้ก้าวเดินบนใบบัวที่กางใบสลอนทั่วบึงนั้น ทีละก้าว ส่วนสามเณรเอี่ยมก็ก้าวตามไปพร้อมด้วยบริกรรมคาถา ผ่านท้องน้ำอันเวิ้งว้างไปโดยตลอด ราวกับว่าใบบัวนั้นเป็นถาดไม้รองรับน้ำหนักตัวของหลวงปู่รอด และสามเณรเอี่ยมได้โดยไม่ยุบจมหายไปในน้ำนั้นเสีย เท้าต่อเท้า ก้าวต่อก้าว ไม่มีผิด ไม่มีพลาด อาจารย์ทิ้งรอยเท้าไว้ สามเณรเอี่ยมก็รีบสวมรอยเท้านั้นทันที จนในที่สุดสามเณรเอี่ยมเห็นว่า ใบบัวก้าวสุดท้ายของหลวงปู่รอดก่อนที่ท่านจะก้าวขึ้นฝั่งนั้น เป็นใบบัวที่เล็กมากและอยู่เกือบชิดตลิ่งแล้ว จึงไม่เหยียบตามหลวงปู่รอดไป จะสืบเท้าก้าวขึ้นฝั่งเลยทีเดียว แต่ไม่สำเร็จ เพราะใบบัวที่เท้าหลังเหยียบอยู่ยุบตัวลงเสียก่อน สามเณรเอี่ยมจึงตกลงไปในน้ำเสียงดังโครม ดีที่ว่าใกล้ตลิ่งมากแล้วจึงไม่ได้รับอันตรายมาก หลวงปู่รอดหันมาดู ได้แต่หัวเราะชอบใจเสียงดัง และกล่าวขึ้นว่า

“บอกให้เดินตามทุกก้าวไป ก็ไม่ยอมเดิน ถ้าเป็นกลางบึงคงสนุกกันใหญ่ละ”

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : dhammajak.net
ขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : TNews
แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: