1139. ผู้สร้างตำนานเบี้ยแก้อันโด่งดัง หลวงปู่รอด วัดนายโรง

ผู้สร้างตำนานเบี้ยแก้อันโด่งดัง

หลวงปู่รอด วัดนายโรง พระเถราจารย์ยุคเก่าผู้มีตบะบารมีแก่กล้า
ในบรรดา “เบี้ยแก้” ที่เกจิอาจารย์ชื่อดังมากมายนิยมสร้างกันตามสูตรโบราณเฉพาะของแต่ละท่านนั้น ล้วนทรงพุทธคุณเป็นที่ปรากฏทั้งสิ้น แต่ที่ได้รับความนิยมยกย่องและมีชื่อเสียงที่สุดของไทย ก็คือ เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง ธนบุรี หนึ่งใน “เบญจภาคีประเภทเครื่องรางของขลัง”

คนโบร่ำโบราณได้เคยแต่งไว้เป็นคำกลอนอย่างคล้องจอง ถึงพุทธคุณอันลือลั่นเป็นที่ปรากฏ ดังนี้ …

“หมากดีที่วัดหนัง ถ้าเบี้ยขลังวัดนายโรง ไม้ครูคู่วัดอินทร์ ส่วนมีดบินวัดหนองโพธิ์ พิสมรวัดพวงมาลัย ครั่งเหลือร้ายวัดโตนดหลวง ราหูคู่วัดศีรษะทอง เเหวนอักขระต้องวัดหนองบัว ลูกเเร่ที่วัดบางไผ่ ฤทธิ์เหลือร้ายหาใดปาน ทุกสิ่งล้วนเป็นมงคล ทั่วทุกคนควรค้นหา ติดกายยามยาตรา ภัยมิกล้ามาเเผ้วพาน”

#กล่าวถึงประวัติและเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด
หลวงปู่รอด วัดนายโรง พระเถราจารย์ยุคเก่า ผู้สร้างตำนานเบี้ยแก้อันโด่งดัง

เป็นชาวบ้านบางพรม เขตอำเภอตลิ่ง ชัน ธนบุรี อุปสมบทที่วัดเงิน หรือวัดรัชฎาธิษฐาน ที่คลองบางพรม อันเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงทางด้านพระวิปัสสนากรรมฐาน ฝ่ายอรัญวาสี

ต่อมาท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดนายโรง จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ของวัดนายโรง ด้วยความที่ท่านมีความเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระระดับสูง และล่ำลือถึงคุณวิเศษทางพุทธาคมและวิทยาคม จึงได้รับการนับถือในแถบย่านคลองบางกอกน้อย หลวงปู่รอดเป็นพระคณาจารย์ในยุคสมัยเดียวกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒา จารย์ (โต พรหมรังสี) และหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง

เบี้ยแก้ ของหลวงปู่รอด จะใช้วัตถุอาถรรพ์ต่างๆ เป็นองค์ประกอบ อันได้แก่ เบี้ยพู ปรอท ชันโรงใต้ดิน (เป็นสัตว์ตระกูลผึ้งนำรังมาใช้ผสมสร้าง) นอกจากนี้ยังมีแผ่นตะกั่วทุบ ซึ่งท่านได้นำวัตถุทั้งหมดมาปลุกเสกลงอักขระขอมโบราณ กำกับด้วยคาถา “พระเจ้า 16 พระองค์” และ “คาถาตรีนิสิงเห” เมื่อเสร็จพิธีก็จะมอบให้กับสานุศิษย์พกติดตัว

คุณลักษณะ เฉพาะที่พิเศษของ “เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด” ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณา คือ ท่านมักจะคัดตัวเบี้ยที่มีขนาดไล่เลี่ยกันและเลือกตัวสมบูรณ์ตามสูตรโบราณ คือ มีฟันเบี้ยครบ 32 ซี่ เหมือนมนุษย์ ถ้าหากนำเบี้ยแก้มาสั่นฟังข้างๆ หู จะมีเสียงดังคลิกเบาๆ อันเป็นเสียงของปรอทที่บรรจุไว้ภายใน

นอกจากนี้ ที่ใต้ท้องเบี้ยจะต้องมีรังชันโรงใต้ดินปิดและเกาะติดแน่นอยู่ในสภาพเก่าและแห้ง ซึ่งเบี้ยแก้ส่วนใหญ่จะหุ้มด้วยแผ่นตะกั่วทุบทั้งลูก มีบ้างบางตัวอาจเปิดด้านหลังเบี้ยไว้ หรือบางตัวอาจไม่มีแผ่นตะกั่วหุ้มก็มี หากมีแผ่นตะกั่วหุ้มจะมีอักขระเลขยันต์เรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย และต้องดูความเก่าให้ออกตามวันเวลากว่า 100 ปี

ประการสำคัญ “เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด” ส่วนใหญ่จะถักเชือกหุ้มทับเอาไว้ มีทั้งหุ้มปิดหลังเบี้ยและเปิดหลังเบี้ย เบี้ยที่ถักเชือกหุ้มนั้นส่วนมากจะทายางลูกมะพลับ บ้างลงรัก หรือชุบรักเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อความคงทน

ยางมะพลับหรือรักที่ลงจะมีลักษณะแห้ง มีความเก่า มีสีดำอมแดงไม่ดำสนิททีเดียว หากมีการลงรักปิดทองให้สังเกตความเก่าของรักกับทองให้เป็น และเบี้ยแก้ของท่านจะปรากฏทั้งแบบมีห่วงและไม่มีห่วง บางตัวยังทำพิเศษบรรจุตะกรุดเอาไว้ด้วย เรียกว่าหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรอีกครับผม

บทความโดย :นสพ.ข่าวสด พันธุ์แท้พระเครื่อง โดย ราม วัชรประดิษฐ์
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : ตำนานเล่าขานพระผู้ทรงฌานอภิญญา ครูบาอาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคม
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: