1006. ตำนาน พระเนื้อผงมหาเสน่ห์แดนใต้ หลวงปู่จันทร์ ขันติโก วัดโฉลกหลำเกาะพงั้น

หลวงพ่อมีนามเดิมว่า จันทร์ นามสกุล จันทร์อินทร์ เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 10 ปีชวด ประมาณ 2443

โยมบิดาของท่านชื่อ นายครบ โยมมารดาชื่อ นางทองดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน คือ หลวงพ่อจันทร์, นางจอน, นายเกลื้อม, นางเคล้า, นางนวล, นางพัฒน์ จันทร์อินทร์ และน้องสาวต่างมารดา 1 คน คือ นางกระจ่าง พรหมรักษ์
หลวงพ่อจันทร์เกิด ณ. บ้านมะเดื่อหวาน ตำบลเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

คลอดเอาเท้าออก
เมื่อหลวงพ่อจันทร์คลอดนั้น กล่าวกันว่าท่านเอาเท้าออกก่อน ด้วยผู้คนสมัยนั้นเชื่อสืบต่อกันมาว่า เมื่อใครเกิดก้างปลาติดคอ หากกลืนกล้วย กลืนข้าวปั้นเป็นก้อนแล้ว ก้างปลายังไม่หลุด ก็ให้ไปหาคนที่เวลาคลอดเอาเท้าออกก่อน แล้วให้คนผู้นั้นเอาหัวแม่เท้าจุ่มน้ำ เอาน้ำนั้นให้กิน ก้างปลาจักหลุดแล

ดังนั้น เมื่อคนละแวกบ้านมะเดื่อหวานมีปัญหา ก้างปลาติดคอ หลังจากหมดทางแก้แล้วก็มักมาหาหลวงพ่อจันทร์ ผู้เป็นดั่งเสมือนที่พึ่งสุดท้าย เพื่อขอให้ท่านเอาหัวแม่เท้าจุ่มน้ำ สำหรับใช้ดื่มแก้ก้างปลาติดคออยู่เสมอ หลวงปู่จันทร์ จึงเป็นผู้ช่วยปลดเปลื้องทุกข์บางประการของชาวบ้านในยุคที่วิทยาการทางแพทย์ มีเพียงแค่ระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก
แม้หลวงพ่อจันทร์มรณภาพแล้ว หลายคนยังนิยมเอาเหรียญของท่านมาแช่น้ำทำเป็นน้ำมนต์ดื่มแก้อาการก้างติดคอ กันอยู่เหมือนกัน ซึ่งก็ได้เห็นผลกันมาแล้วมากราบ

ศิษย์หลวงพ่อเพชร วชิโร
ราวปี พ.ศ. 2456 เมื่ออายุประมาณ 13 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดมะเดื่อหวาน โดยมี หลวงพ่อเพชร วชิโร (พระครูวิบูลย์ธรรมสาร) เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชแล้วสามเณรจันทร์ก็ติดตามไปอยู่รับใช้และเล่าเรียนอักขระวิธี กรรมฐานวิปัสสนา กับหลวงพ่อเพชรที่วัดเขาน้อย

การได้ศึกษาฝึกฝนกับหลวงพ่อเพชรซึ่งเป็นพระที่เคร่งครัดเชี่ยวชาญชำนาญการ สอนวิปัสสนากรรมฐาน นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่เสมือนเป็นการช่วยสร้างพื้นฐานอันแน่นหนาในเรื่อง เอกัคตาจิต ให้ท่านตั้งแต่วัยเยาว์ รวมตลอดทั้งเคล็ดวิธีอุปเท่ห์ในทางเวทวิทยาคมบางประการด้วย เมื่อมีพื้นฐานที่แน่นหนา มั่นคง เหมาะสม ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เติบโต เจริญก้าวหน้าได้ดียิ่งในอนาคต

สามเณรจันทร์ได้อยู่ศึกษาปฏิบัติ ปลูกสร้างพื้นฐานกับหลวงพ่อเพชร สุดยอดพระเถราจารย์ของเกาะพะงันเป็นเวลากว่า 2 พรรษาแล้วก็ลาสิกขาออกไปเผชิญโลกต่อไป
ครั้นอายุครบอุปสมบทท่านได้บวชเป็นพระภิกษุ ตามประเพณีของลูกผู้ชายชาวไทย ณ วัดใหม่ (วัดศรีทวีป) อดีตเจ้าคณะอำเภอเกาะสมุยรูปที่สาม เป็นพระอุปัชฌาย์บวชอยู่ 2-3 พรรษาก็สละเพศบรรพชิต ลาสิกขา แล้วท่านก็มีครอบครัว ภรรยาของท่านชื่อ นางหีดนุ้ย เป็นชาวใต้ เกาะพะงัน มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คนคือ

1. นายเจน จันทร์อินทร์
2. นางเจิม ชำนาญกิจ
ครอบครัวของท่านตั้งอยู่ที่ บ้านบ่อผุด เกาะสมุย หลังจากภรรยาของท่านถึงแก่กรรม ท่านก็เกิดเบื่อหน่ายฆราวาสวิสัย ตระหนักในไตรลักษณ์ที่ว่า

“สรรพสิ่งล้วน เปลี่ยนแปร ไม่แท้เที่ยง
ทุกสิ่งเพียง ของสมมุติ อย่ายึดมั่น
มิใช่ตัว ใช่ตนจริง ทุกสิ่งนั้น
ล้วนแปลงผัน ล้วนทุกข์ท้น มิทนทาน”

ประมาณ พ.ศ.2489 ท่านได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้งหนึ่งด้วยเจตจำนงแน่วแน่ที่จะยึดถือ เป็นตัวตาย ตั้งใจที่จะให้ได้มีผ้าเหลืองห่อหุ้มศพ เป็นการบวชตลอดชีวิตที่จะไม่ลาสิกขาออกมาอีก ครั้งนี้หลวงพ่อจันทร์ อุปสมบทที่วัดสำเร็จ เกาะสมุยโดยมี พระครูทีปาจารคุณารักษ์
(มี อินทสุวัณโณ) อดีตเจ้าคณะอำเภอเกาะสมุย รูปที่ 4 เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายาว่า “ขันติโก”

เมื่อหลวงพ่อจันทร์บวชแล้ว ได้มาอยู่ปฎิบัติธรรมที่บ้านโฉลกหลำ สถานที่ที่ท่านพำนักเป็นเพียงที่พักสงฆ์ เรียกว่า ที่พักสงฆ์เจริญสุข ซึ่งมีเพียงศาลาหลังเล็กๆ สำหรับที่พระภิกษุพักอาศัย

ครั้นประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 25 บ้านโฉลกหลำ ได้กลายเป็นท่าเรือประมง ที่บรรดาเรือประมงซึ่งจับปลาอยู่บริเวณใกล้เคียงมักมาขายส่งปลาให้แก่เรือ รับซื้อที่เรียกว่า เรือห้องเย็น รวมทั้งอาศัยเป็นที่กำบังลมพักผ่อนและเติมเสบียงในช่วงฤดูที่มิใช่หน้าลม ว่าว ครั้นถึงยามฤดูลมว่าวประมาณระหว่างเดือน (จันทรคติ) 12 ถึงเดือน 2 อ่าวโฉลกหลำเป็นจุดรับลมว่าว ภายในอ่าวมีคลื่นลมแรง เหล่าเรือประมงจะต้องใช้อ่าวแห่งอื่น เช่น อ่าวน้ำตกธารเสด็จ เป็นท่าเรือ

ด้วยความเป็นท่าเรือดังกล่าว ทำให้โฉลกหลำเป็นแหล่งที่มีเงินสะพัด เป็นแหล่งงาน เป็นที่แสวงโชค เป็นแหล่งธุรกิจที่สำคัญของเกาะพะงันในขณะนั้น ก่อนที่เกาะพะงันกลายเป็นแหล่งที่ท่องเที่ยวในปัจจุบันนี้

เมื่อหลวงพ่อจันทร์ มาพำนักอยู่ยังที่พักสงฆ์เจริญสุขแล้ว ท่านได้ก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ รวมทั้งอุโบสถ กระทั่งทำที่พักสงฆ์ได้กลายเป็นวัดตามกฎหมาย โดยมีประกาศตั้งวัดเมื่อ วันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2519 เรียกว่า สำนักสงฆ์โฉลกหลำ เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2520 จึงเป็นสภาพเป็นวัดโดยบริบูรณ์ และใช้ชื่อว่า ”วัด” ได้ตามกฎหมายแล้วทางวัดก็ได้จัดงานผูกพัทธสีมาในปี พ.ศ. 2522 หลวงพ่อจันทร์ ขันติโก จึงเป็นพลังสำคัญในการสร้างวัดและเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโหลกหลำ

สร้างเมรุ
หลวงพ่อจันทร์ ขันติโก ยังได้ชักชวนชาวบ้าน ภายใต้ความสนับสนุนร่วมแรงแข็งขันของท่านกำนันวุฒิ ชมอินทร์ อดีตกำนันดีเด่นของตำบลเกาะพะงัน คนดีที่โลกไม่เคยลืม ได้ช่วยกันสร้างเมรุในวัดโฉลกหลำ

นับเป็นเมรุเผาศพแบบใหม่เป็นแห่งแรกของอำเภอเกาะพะงัน เพราะขณะนั้นวัดอื่นๆ ยังใช้เมรุแบบเก่าที่ตั้งโลงบนฐานปูน ตะแกรงเหล็ก ไม่มีอะไรปกปิด แล้วสุมเพลิงข้างล่างแบบที่ฝรั่งนักท่องเที่ยวเรียกแบบล้อเลียนว่า ที่กระทำบาบีคิว หรือ ที่ปิ้งบาบีคิว

หลวงพ่อจันทร์ ขันติโก
นายโชติ เมืองทอง เล่าว่าหลวงพ่อจันทร์ เป็นพระที่มีนิสัยใจคอเยือกเย็น ดีก็ไม่พูด ร้ายก็ไม่พูด แม้ใครนินทา ติเตียนก็ไม่พูด ไม่โต้ตอบ ใจคอท่านหนักแน่นมีขันติ มีความอดกลั้นต่อสิ่งที่ไม่ชอบใจ นับว่าหลวงพ่อจันทร์เป็นผู้ที่มีความอดกลั้น อดทนสมกับฉายาของท่าน


พระสมเด็จปกโพธ์ยุคต้น

ปาฏิหารย์ หลวงพ่อจันทร์
1 .หลงบ้าน
ในงานวันขึ้นปีใหม่ ครั้งหนึ่งชาวบ้านโฉลกหลำจำนวนมากได้เข้าไปทำบุญปีใหม่ในวัดโฉลกหลำเพื่อ ความเป็นสิริมงคล จึงมีการนิมนต์หลวงพ่อจันทร์ มาอวยพรปีใหม่พร้อมทั้งประพรมน้ำพระพุทธมนต์

นายโชติ เมืองทอง ซึ่งขณะนั้นไม่ค่อยเลื่อมใสนัก เมื่อมีผู้มาชวนไปรับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์จากหลวงพ่อจันทร์ จึงได้กล่าวเป็นหมิ่นทำนองว่า “ประพรมน้ำ ถ้ายังไม่พอ ที่บ้านยังมีอีกบ่อ” เนื่องจากตามบ้านเรือนในท้องถิ่นไทยภาคใต้นั้นโดยส่วนมากนักขุดบ่อน้ำไว้ สำหรับใช้สอยประจำบ้านแทบทุกหลัง

คำกล่าวเชิงหมิ่นของนายโชติ มีความหมายว่า หากน้ำพุทธมนต์ที่หลวงพ่อจันทร์ใช้ประพรมอยู่ไม่เป็นการเพียงพอก็ให้ไปเอา น้ำในบ่อที่บ้านของตน ซึ่งอยู่ใกล้วัดมาใช้แทนด้วย มีเจตนาที่จะชี้ให้เห็นว่า น้ำพระพุทธมนต์ของหลวงพ่อจันทร์ ก็เหมือนกับน้ำในบ่อที่บ้านนั้นแหละหามีอะไรแตกต่างกันไม่

เสร็จพิธีแล้วนายโชติ ก็ยังนั่งเสวนาอยู่ในวัด จนเริ่มมืด ตามบ้านเรือนและภายในวัดต่างเปิดไฟฟ้าสว่างไสว เมื่อเห็นว่าค่ำแล้วนายโชติก็เดินกลับบ้านซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ วัด ห่างจากเขตวัดเพียงประมาณ 50 เมตรเท่านั้น แต่ปรากฏว่านายโชติเดินวนเวียนรอบวัดอยู่ 2-3 รอบ ก็ยังหาหนทางที่จะเดินจากวัดไปยังบ้านไม่พบ กระทั่งฝ่ายภรรยาเห็นว่าค่ำมืดมากแล้วยังไม่กลับบ้านก็เลยออกมาตามหา นั้นแหละนายโชติจึงสามารถกลับบ้านได้ถูก

เหตุการณ์หลงบ้านตนเองครั้งนั้นใครๆ ต่างเข้าใจว่านายโชติ เมาจนกลับบ้านไม่ถูก แต่นายโชติปฎิเสธว่ามิได้เมามายขนาดนั้น และบ้านก็ยังอยู่ติดกับวัดมองกันก็เห็นเพราะตั้งอยู่ในที่โล่ง ไม่มีทัศนียภาพอื่นมาบดบัง อีกทั้งบริเวณใกล้วัดก็มิได้มีบ้านเรือนอยู่หนาแน่นแต่ประการใด กับการได้เคยเดินเข้าออกมาแต่ไหนแต่ไรถึงจะเมาสักขนาดไหนก็ย่อมเดินกลับได้ ถูกอยู่ดี ส่วนเหตุที่เป็นดังนั้นคงเนื่องมาจากคำพูดที่นายโชติได้พูดเชิงดูหมิ่น บันดาลให้นายโชตหลงทาง เที่ยวเดินวนเวียนรอบวัด หาทางกลับบ้านไม่ถูก

นายโชติยืนยันว่าที่หาทางกลับบ้านไม่ถูกในครั้งนั้นมิใช่เพราะความเมาอย่าง แน่นอน แต่เป็นเพราะบางสิ่งบางอย่างลึกลับเชื่อว่าเป็นเพราะอิทธิฤทธิ์ของหลวงพ่อ จันทร์ กระทำให้ตนต้องสำนึกว่าสงฆ์ผู้ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบ มีศีล สมาธิและวิทยาคมย่อมกระทำบางสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ต่างจากสามัญธรรมดา
ตั้งแต่เหตุการณ์วันนั้นเป็นต้นมานายโชติได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในอิทธิคุณของหลวงพ่อจันทร์เป็นอันมาก

2.ไม่ค่อยจำวัด ในยามเวลากลางคืน
บรรดาศิษย์ที่เคยอยู่รับใช้หลวงพ่อจันทร์ กล่าวพ้องต้องกันว่าในยามกลางคืนท่านไม่ค่อยจะจำวัด มักใช้เวลาในเพลากลางคืนสำหรับการสวดมนต์ภาวนา ทำสมาธิ กรรมฐาน เขียนผงเรียกสูตรนาม ทำพระ หรือปลุกเสกพระ โดยเฉพาะในคืนที่เป็นวันธรรมสวนะ ท่านมักทำพระ ปลุกเสกพระสมเด็จเสมอๆ

หลวงพ่อจันทร์มักทำพิธีปลุกเสกพระเพียงลำพัง ท่านจะใช้เวลานั่งบริกรรมปลุกเสกพระเกือบตลอดทั้งคืน และทำการปลุกเสกติดต่อกันหลายราตรี กระทั่งประจักษ์แจ้งว่าเป็นการเพียงพอเพียบพร้อมอิทธิสรรพคุณแล้วจึงจักออก แจกจ่าย

ด้วยความพิถีพิถันในการประสิทธิอิทธิคุณในองค์พระดังกล่าว จึงยังผลให้ผู้มีพระสมเด็จหลวงพ่อจันทร์บูชา ต่างมั่งมีมากมายหลากหลายประสบการณ์

3.สติปัฏฐาน
เพราะเหตุที่หลวงพ่อจันทร์ได้ใช้เวลากลางคืนปฏิบัติกิจต่างๆ ไม่ค่อยได้พักผ่อน ไม่ค่อยได้จำวัดในเวลากลางคืนเลย ท่านจึงต้องใช้เวลาพักผ่อนในตอนกลางวัน ช่วงบ่ายเป็นประจำ
แต่น่าแปลกนักที่ว่า ขณะที่ท่านกำลังจำวัดอยู่นั้นเมื่อพระบวชใหม่รูปใดซึ่งมักชอบท่องจำบทสวด เสียงดังอยู่ในกุฏิใกล้ๆ กันนั้น เกิดออกเสียงอักขระในบทสวดมนต์ผิดพลาดคลาดเคลื่อนแม้เพียงตัวเดียว หลวงพ่อจันทร์ก็จะร้องทักเสียงที่ผิดอักขระทันที ทั้งๆ ที่ท่านกำลังจำวัดอยู่

จึงเป็นที่เชื่อกันว่าหลวงพ่อจันทร์ คงปฏิบัติแนวสติปัฏฐานด้วย ดังนั้น แม้ยามนอนหลับขณะกำลังจำวัดอยู่ ก็ยังมีสติกำกับ ยังได้ยิน สามารถรับรู้อยู่ตลอดเวลา

ศึกษาตำราหลวงพ่อเพชร
มีตำราเป็นสมุดโบราณเล่มหนึ่งซึ่งบันทึกเรื่องราวเวทวิทยาคม มนตราอักขระเลขยันต์ พิธีอุปเท่ห์ต่างๆ ที่สืบทอดกันมาแต่บรรพกาล เป็นตำราของเก่าที่ หลวงพ่อเพชร วชิโร อดีตเจ้าคณะอำเภอเกาะสมุย รูปที่สอง พระเถราจารย์ที่ชาวประชานับถือกันว่าเป็น พระสงฆ์ระดับเหนือโลก องค์หนึ่งของสุราษฎร์ธานี

หลวงพ่อจันทร์ได้เคยนำมาศึกษาฝึกฝนทดลองปฏิบัติในครั้งที่หลวงพ่อเพชรยัง อยู่ในวัยหนุ่ม ตำราเล่มนี้มีชื่อเรียกขานในหมู่ลูกศิษย์ว่า ” ตำรา ตาขาว ” ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามนามของท่านผู้เป็นเจ้าของเดิม ด้วยเหตุที่ ตาขาว

ผู้เป็นเจ้าของเดิมของตำราพระเวทเล่มนี้ มีศักดิ์ (ตามความเกี่ยวเนื่องทางสายเลือด) เป็นปู่ของหลวงพ่อจันทร์ ดังนั้นหลังจากหลวงพ่อเพชรมรณภาพแล้ว ตำราดังกล่าวจึงตกทอดสู่หลวงพ่อจันทร์ ท่านจึงได้รับตำราศักดิ์สิทธิ์ไว้เป็นคู่มือปฏิบัติ ประกอบกับหลวงพ่อจันทร์เคยมีพื้นฐานที่แน่นหนามั่นคงในทางเอกัคตาจิต ตั้งแต่ที่เคยบวชเป็นสามเณร เคยฝึกฝนปฏิบัติอยู่กับหลวงพ่อเพชร ครั้นมีตำราคู่มือปฏิบัติที่พร้อมสรรพ จึงทำให้ท่านสามารถบรรลุสัมฤทธิ์ผลได้ แม้จะเป็นการศึกษาด้วยตนเอง

4.หนังเหนียว
นายสามารถ เรืองโรจน์ เคยเห็นหลวงพ่อจันทร์ นั่งลับมีดโกนตราตุ๊กตาคู่ ซึ่งเป็นมีดโกนที่ผู้ใช้ต่างเชื่อถือในคุณภาพ ความคมกริบ เพื่อไว้สำหรับปลงเกศาในวันโกน หลวงพ่อจันทร์นั่งลับมีดโกนอยู่ครู่ใหญ่จนคมกริบดีแล้ว ท่านได้ใช้มีดโกนเล่มนั้นกรีดแขนของท่านอย่างแรง นายสามารถเห็นแล้วตกใจ คิดว่าเลือดคงไหลโกรกเป็นแผลเหวอะหวะ และงุนงงว่าอยู่ดี ๆไยท่านถึงได้ทำร้ายตัวเองเช่นนั้น แต่ปรากฏว่าคมมีดโกนมิอาจทำอันตรายใดๆ ให้แก่ผิวหนังของท่านได้ แม้ท่านจักได้กรีดซ้ำหลายหนก็ตาม

อีกครั้งหนึ่ง นายชา ชมจันทร์ อาสาลับมีดโกนให้หลวงพ่อจันทร์ ได้นั่งลับมีดอยู่เป็นเวลานานกระทั่งเห็นว่าคมดีแล้วก็ยื่นมีดถวายท่านพร้อม กับพูดทำนองว่า ”มีดคมขนาดนี้ รับรองปลงผม 2-3 หัว ใช้เวลาไม่กี่นาที”

หลวงพ่อจันทร์ รับมีดโกนมามองดูแล้วกล่าวว่า ”คมยังไง” พร้อมกับใช้มีดโกนนั้นกรีดแขนของท่านอย่างแรง แทนที่เลือดจะไหลทะลัก ผิวหนังเป็นแผลตามรอยมีดกรีดดั่งสามัญวิสัยตามปกติกลับไม่ เป็นว่าไม่ระคายผิวท่านเลย

นายชาเห็นดังนั้นแล้วถึงร้องไห้โฮ บ่นว่า อุตสาห์นั่งลับอยู่ตั้งนานนึกว่าจะคม ที่ไหนได้กลับเชือดเนื้อเถือหนังหลวงพ่อจันทร์ก็ไม่เข้า

เขียนผง
เดิมทีเดียวหลวงพ่อจันทร์เขียนผงลบผงเก็บไว้สำหรับผสมแป้งหอมทาตัว เมื่อผู้ใช้หลายคนได้ประจักษ์ถึงสรรพคุณในทางเมตตามหาเสน่ห์ มหานิยม มีประสบการณ์บ่อยๆ เข้า ผู้ศรัทธาเลยขอให้ท่านทำเป็นพระ เมื่อผู้ศรัทธารบเร้าเรียกร้องมากๆ เข้าในที่สุดหลวงพ่อจันทร์ก็ได้ตอบสนองคำร้องขอของผู้ศรัทธา จึงทำพระรูปสี่เหลี่ยมอย่างที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า พระสมเด็จ ออกมา โดยพระรุ่นแรกของท่านสร้างออกมาประมาณหลังจาก พ.ศ. 2510

อนึ่ง หลวงพ่อจบ เรืองโรจน์ เคยบอกว่า หลวงพ่อจันทร์เป็นผู้มีความสามารถชำนาญใน การทำยันต์เต่าเรือน มาก โดยได้ศึกษาเคล็ดวิธีจากตำราตาขาวฉบับที่หลวงพ่อเพชร วชิโร เคยศึกษา
นายสามารถ เรืองโรจน์ สมัยเมื่อเป็นนักเรียนชั้นประถมและเป็นเด็กวัดด้วย เคยแอบดูหลวงพ่อจันทร์ทำผงพระในกุฏิเวลากลางคืน เห็นท่านขึงผ้าขาวไว้ผืนหนึ่งที่หน้าโต๊ะบูชา ความสูงของผ้าอยู่ระดับศีรษะ (เวลานั่ง) แล้วท่านก็ก้มลงเขียนอักขระในกระดานชนวนที่วางอยู่ด้านล่างของผ้าขาว

แท่งดินสอที่ใช้เขียนในอักขระเป็นแท่งผงปั้นที่ท่านได้จัดทำขึ้นเอง เขียนไปบริกรรมไปจนหมดแท่งผง แล้วท่านก็ลุกขึ้นทำการกวาดผงจากข้างบนผ้าขาวที่ขึงไว้ด้านบน
นายสามารถยืนยันว่า ไม่เคยเห็นท่านกวาดผงจากกระดานชนวน เพราะผงได้ลอยขึ้นไปอยู่ทางด้านบนของผ้าขาวที่ขึงไว้ข้างบนซึ่งไม่ทราบว่า ลอยขึ้นไปได้อย่างไรกัน
นับว่าหลวงพ่อจันทร์มีกรรมวิธีทำผงที่แปลกกว่าใคร เพราะโดยส่วนมากพระคณาจารย์ต่างๆ มักใช้ผงพระจากกระดานชนวน หรือที่ทะลุลงใต้กระดานชนวน แต่หลวงพ่อจันทร์กลับใช้ผงที่ลอยทะลุผ้าขึ้นไปอยู่บนด้านบนของผ้าที่ขึงไว้ เหนือศีรษะอีกทีหนึ่ง เป็นเรื่องอัศจรรย์มาก

พิมพ์สมเด็จสามชั้น

ขนาด 3.2 x 2.3 ซม.

พระสมเด็จ
พระสมเด็จหลวงพ่อจันทร์ได้สร้างออกมาเป็นระยะตลอดชีวิตของท่าน การจำแนกระหว่างรุ่นแรกกับรุ่นหลังๆ มักดูกันที่เนื้อหา ความอ่อน-แก่ของปูน คือพระรุ่นหลังๆ จะมีความแก่ปูนมากกว่ารุ่นแรกๆ วรรณะของพระยุคแรกมักมีสีน้ำตาลหรือเหลืองอ่อน หนึกนุ่มกว่า กับทั้งมีร่องรอยของผงถ้วยนรสิงห์บดผสมอยู่ด้วย

แต่โดยส่วนมากแล้ว นักเล่นหามักไม่ค่อยจำแนกรุ่น เพราะถือว่าเจตนาในการสร้างของหลวงพ่อ ก็มิได้ตั้งเกณฑ์กำหนดรุ่นไว้ และถือว่าพระยุคแรกหรือยุคหลังมีความแตกต่างกันนิดหน่อยของเนื้อหาขององค์ พระเท่านั้น ส่วนสรรพคุณอิทธิคุณนั้นมิได้แตกต่างกันแต่อย่างใด
พระสมเด็จของหลวงพ่อจันทร์มีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ทรง อาทิเช่น

1. พระสมเด็จฐานสามชั้น จำแนกออกได้เป็นสามแบบ กล่าวคือ
1.1 พิมพ์ใหญ่ มีขนาดประมาณ 2.6 x 3.9 ซม. ส่วนหนาประมาณ 0.5 ซม. เส้นซุ้มคู่และที่ระหว่างเส้นซุ้มกับขอบองค์พระมีลวดลายเป็นเส้นนูน
1.2 พิมพ์กลาง องค์พระจะอยู่ภายในครอบแก้ว หรือเส้นซุ้มเดี่ยว
1.3 พิมพ์เล็ก องค์พระจะอยู่ภายในเส้นซุ้มเดี่ยว เช่น เดียวกับพิมพ์กลาง
2. พระสมเด็จฐานเจ็ดชั้น เป็นพระที่มีน้อย ไม่ค่อยจะได้พบเห็น
3. พระสมเด็จฐานเก้าชั้น องค์พระอยู่ภายในเส้นซุ้มเดี่ยว
4. พระสมเด็จพิมพ์แหวกม่าน
5. พิมพ์ขุนแผน
6. พิมพ์นางพญา มีหลายแบบ
7. พิมพ์ปิดตา

ในแต่ละพิมพ์ มีขนาดแตกต่างกันอยู่บ้าง และมีรูปแบบศิลปะย่อยๆ แตกต่างกันออกไปอีก สรุปรวมจำแนกอย่างละเอียดแล้ว พระสมเด็จของหลวงพ่อจันทร์มีจำนวนประมาณ 30 กว่าพิมพ์ พระของท่านส่วนมากเป็นพระเนื้อผง มีเนื้อว่านอยู่เพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น

พิมพ์ขุนแผน

ขนาด 4.8 x 2.8 ซม. หนา 1 ซม.

วิธีการสร้างพระผงของหลวงพ่อจันทร์

ท่านจะทำออกมาเรื่อยๆ คือเมื่อท่านเขียน ผงนอโม ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ฯลฯ ได้จำนวนพอสมควรแล้วก็เอามาผสมกับมวลสารอื่นๆ เช่น เกสรดอกไม้ ผงถ้วยนรสิงห์บดละเอียด แร่เหล็กไหลเกาะพะงัน ที่ตกทอดมาจากหลวงพ่อเพชร (เฉพาะยุคแรกเท่านั้น) ข้าวก้นบาตร กล้วยหอม ฯลฯ แล้วตำให้อยู่ในตัวครกเล็กโดยส่วนมาก

โดยเฉพาะในยุดแรกๆ หลวงพ่อจะเป็นผู้ดำเนินการด้วยตัวท่านเองหมดทุกขั้นตอน ทั้งการผสม การตำ การกดพิมพ์ ภายหลังมีพระเณรมาช่วยตำ ช่วยกดพิมพ์บ้าง แต่ก็อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมอย่างใกล้ชิดของท่าน
แม่พิมพ์ที่ใช้สร้างพระสมเด็จของหลวงพ่อจันทร์ โดยส่วนมากมักเป็นแม่พิมพ์ที่แกะจากหินลับมีดโกน ซึ่งมีความเปราะ แตกหักง่าย ใช้ได้ไม่นานก็มักชำรุดต้องเปลี่ยนแม่พิมพ์ใหม่ เป็นเหตุให้ พระของท่านมีรูปแบบศิลปะพิมพ์ทรงแยกย่อยได้ประมาณกว่า 30 พิมพ์ โดยมีรูปลักษณ์หลักอยู่ 4 แบบ คือ สมเด็จสามชั้น เจ็ดชั้น เก้าชั้น และพิมพ์แหวกม่าน ดังกล่าวแล้ว

ครั้นพิมพ์พระสมเด็จแล้ว ท่านก็เลือกฤกษ์ยามตามพิธี เริ่มทำการปลุกเสกโดยลำพัง ติดต่อกันไปเรื่อยๆ ตามอุปเท่ห์กลวิธีที่เล่าเรียนมา กระทั่งถูกต้องครบถ้วนตามกระบวนการตำราพิธี มั่นใจในอิทธิคุณ อันสัมฤทธิ์แล้ว ก็จักนำมาออกแจกจ่ายให้ญาติโยม

พิมพ์นางพญา

พระโชว์

ด้วยเหตุนี้ ยุคสมัยอ่าวโหลกหลำมีสถานภาพเป็นท่าเรือประมงสำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ฝั่ง ตะวันออก เรียกประมงจากจังหวัดต่างๆ ได้แวะเวียนอาศัยพักหลบลม จำหน่ายปลา พักผ่อนและเติมเสบียงอยู่เสมอ พวกเรือประมง (ยุคนั้น) โดยมากเป็นคนในแถบที่ชาวเกาะเรียกว่า “พวกเมืองใน” คือพวกชาวไทยที่พูดสำเนียงภาคกลางในจังหวัดชายทะเลละแวกปริมณฑลของกรุงเทพ ฯ เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ ”พวกวันอ๋อ” หรือ พวกตะวันออก เช่น ระยอง จันทบุรี รวมทั้งที่มาจากเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กับปากน้ำหลังสวนชุมพร จึงทำให้พระสมเด็จหลวงพ่อจันทร์จำนวนมากได้รับการแจกจ่ายไปอยู่ตามจังหวัด ชายทะเลเหล่านั้น

พระสมเด็จของหลวงพ่อจันทร์ ปรากฏอิทธิคุณในด้านต่างๆ ทั้ง คงกระพัน มหาอุตม์ เมตตา มหาเสน่ห์ ฯลฯ แต่ที่โด่งดังเป็นอันมากก็คือ เรื่องมหาเสน่ห์ แต่ ณ ที่นี้ จะของดเว้นกล่าวถึงในส่วนรายละเอียด เพราะเกรงว่าอาจมีผลข้างเคียงในทางที่กลายเป็นการชี้โพรงให้กระรอก เพราะการบันทึกเรื่องราวไว้เป็นลายลักษณ์อักษรสิ่งตีพิมพ์นั้น เป็นสิ่งที่ควรอยู่ถาวร ทั้งสามารถแพร่หลายไปได้โดยกว้าง มิอาจจำกัด ควบคุม จำแนกรับรู้ข่าวสารได้ ไม่ได้มีข้อจำกัดเหมือนการเล่าด้วยวาจา ที่อาจเลือกเฟ้นผู้รับมีวงจำกัดในการเผยแพร่ และคงอยู่แต่ในเพียงความทรงจำ

อีกทั้งการนำอิทธิคุณ ความศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหาริย์ของวัตถุบูชาแทนพระรัตนตรัย ไปใช้ในการเสริมสนองขุนเลี้ยงตัณหา โลภะ โทสะ โมหะ และการกระทำข่มเหงกดขี่ บีบบังคับ เอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ ย่อมมิใช่เจตนารมณ์ของการเกิดแห่งวัตถุบูชา และมิใช่วัตถุประสงค์ของท่านผู้สร้าง ผู้เสกวัตถุบูชา เหล่านั้น อิทธิคุณความศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหาริย์ของวัตถุบูชาแทนพระรัตนตรัยควรมีไว้ สำหรับเพื่อการป้องกัน ปกป้องให้รอดปลอดพ้นจากทุจริตมิจฉากรรม จำกัดกรรมที่มิควรประสงค์มิให้บังเกิดหรือเสริมสนองเอื้ออำนวยกิจอันควรแก่ การณ์เท่านั้น

ด้วยข้อจำกัดของการสื่อสารที่มิอาจเฟ้นผู้รับการสื่อสารได้ เพื่อมิให้เกิดผลข้างเคียงในทางลบ แม้พระสมเด็จของหลวงพ่อจันทร์จักมีประสบการณ์มากมายในทางนี้ ก็ต้องกราบขออภัยที่จำเป็นต้องงดเว้นการกล่าวถึงวิธีการรายละเอียดแห่งการ ปรากฏผลด้านมหาเสน่ห์ของสมเด็จหลวงพ่อจันทร์ไว้ ณ ที่นี้

พิมพ์ปิดตาจิ๋ว เนื้อหาและมวลสารยุคต้น

พระโชว์
อนึ่ง หลวงพ่อจันทร์ ได้มีข้อห้ามประการสำคัญข้อหนึ่ง สำหรับผู้ใช้พระของท่านนั่นคือ
ห้ามอมพระ (ห้ามเอาพระใส่ปากอม) โดยเด็ดขาด

ที่มา http://www.wat-chaloklum.com/loungporjun.php
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : loungporjun.blogspot.com
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: