6133. “สมาคมลับอั้งยี่” มาเฟียเยาวราช สู่เหตุการณ์นองเลือด “เลียะพะ”

เยาวราชเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทยเชื้อสายจีนมาตั้งเเต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวจีนโพ้นทะเลพากันหอบเสื่อผืนหมอนใบลงเรือเดินทะเลข้ามมหาสมุทรมาปักหลักอยู่ในเมืองไทย เยาวราชคือสวรรค์ของชาวจีนอพยพที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าอยู่หัวแห่งสยามประเทศ ที่เยาวราชเป็นแหล่งรวมตะกูลแซ่ ใครแซ่ไหนก็ไปขออาศัยทำงานกับคนแซ่เดียวกัน

ในเยาวราชกลับมีองค์การลับที่รู้จักกันในหมู่คนจีนในนาม ”อั้งยี่” อั้งยี่คือสมาคมลับดำเนินการใต้ดิน แบ่งพื้นที่ในเยาวราชออกเป็นส่วนๆ แล้วใช้อิทธิพลข่มขู่เรียกค่าคุ้มครองจากร้านค้า โรงงิ้ว รวมไปถึงกิจการขนส่งทางน้ำ ทางบก หากมีการบุกรุกพื้นที่เพื่อแย่งเก็บค่าคุ้มครองก็จะยกพวกเข้าตีรันฟันแทงกันตาย

เขตปกครองส่วนใหญ่ของอั้งยี่ก๊กต่างๆจะอยู่แถบถนนตก บางรัก สาทร เจริญกรุง เยาวราช หัวลำโพง ราชวงศ์ และสามยอด อาชีพหลักของอั้งยี่คือเรียกค่าคุ้มครอง รับจ้างฆ่าคน ค้าอาวุธเถื่อน ค้าธนบัตรปลอม มีการติดต่อกับคณะก่อการล้มราชวงศ์ชิงของพระนางซูสีไทเฮา ส่งเงินส่วนหนึ่งไปช่วย เรียกว่ากองทุนโพ้นทะเล มี ดร.ซุน ยัดเซิน เป็นหัวหน้า ท่านผู้นี้เป็นหลานของขุนพลซุนที่ถูกพระนางซูสีไทเฮาใช้เล่ห์สั่งประหารชีวิต เคยเดินทางมาหาทุนถึงเมืองไทย ปรากฏหลักฐานอยู่จนทุกวันนี้

ในสมัยพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบรมราชาธิราช อั้งยี่ก่อความวุ่นวาย ในที่สุดก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระนเรศวรฤทธิ์เจ้ากรมพระนครบาล นำกำลังตำรวจขึ้นรถรางไประงับเหตุ จับตัวหัวหน้าอั้งยี่เเละลิ้วล้อ คุมตัวมาสอบสวนเพื่อฟ้องศาลต่อไป แต่อั้งยี่ก็ยังคงไม่หมดไปจากเยาวราช

ศึกอั้งยี่ครั้งใหญ่ที่เลื่องลือมากครั้งหนึ่ง คือ การยกพวกตีกันเองระหว่างกรรมกรแต้จิ๋วกับกรรมกรฮกเกี้ยน เมื่อพุทธศักราช 2432 ที่เรียกกันว่า ศึกอั้งยี่ปล่องเหลี่ยม เพราะยึดเอาถนนเจริญกรุงตรงหลังโรงสีห้างวินเซอร์ที่เรียกกันว่า “โรงสีปล่องเหลี่ยม” เป็นดั่งสมรภูมิรบ

วันที่ 19 มิถุนายน 2432 จีนทั้งสองฝั่งพากันรื้อสังกะสีมุงหลังคา ขนโต๊ะตู้จากร้านรวงมาสร้างป้อมค่าย แล้วเริ่มลงมือตะลุมบอนกัน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสเล่าไว้ในโบราณคดีว่า “ท้องที่ถนนเจริญกรุงตั้งแต่ตลาดบางรักลงไป ก็ตกอยู่แก่อั้งยี่ทั้ง 2 พวก เริ่มขว้างปาตีรันกันแต่เวลาบ่าย พอค่ำลงก็เอาปืนออกยิงกันตลอดคืน”

ศึกอั้งยี่ปล่องเหลี่ยมครั้งนี้กินเวลาถึงสามวัน พอถึงวันที่สามทหารก็ลงไปปราบ ปิดหัวปิดท้ายถนน แล้วบีบพวกอั้งยี่ไว้ให้จนมุม สมัยนั้นคนจีนยังไว้เปียอยู่ ทหารจับได้ก็ให้เอาเปียผูกกันไว้เป็นพวงๆ ไม่ให้หลบหนี ในที่สุดศึกอั้งยี่ก็ยุติลง จนกระทั่งอีก 55 ปีต่อมา ศึกครั้งใหม่ก็ระอุคุกรุ่นอีกครั้ง

ตอนนั้นเป็นเดือนกันยายนของปี 2488 สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติลงหมาดๆ ญี่ปุ่นที่รุกรานจีนกลายเป็นชาติแพ้สงคราม จีนก๊กหมินตั๋งประกาศชัยชนะ ชาวจีนสยามก็รู้สึกผงาด หวังว่ารัฐบาลไทยจะให้รัฐบาลจีนเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นในไทย แต่กลับเป็นว่า บทบาทไปตกอยู่กับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ จึงทำให้ชาวจีนในไทยไม่ค่อยพอใจ ตอนนั้นเองที่มีการปลุกปั่นให้ปิดร้านค้าเลิกค้าขาย หวังบีบรัฐบาลไทยกลายๆ ใครไม่ปิดร้านก็จะถูกทำร้าย แล้วก็เกิดเหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียว ในคืนวันไหว้พระจันทร์ 20 กันยายน รถสามล้อคนไทยชนคนจีนล้ม เกิดการตะลุมบอนกัน แล้วบานปลายออกไปเป็นจลาจล เหตุการณ์นี้เรียกกันว่า “เลียะพะ” มาจากคำสองคำ คือ เลียะ ที่แปลว่า จับ กับ พะ ที่แปลว่า ตี พูดง่ายๆ ก็คือ ต่อยตี น่าจะมาจากเมื่อคนจีนเจอคนไทยจะตะโกนบอกกันให้จับ เลียะ แล้วก็รุมตี พะ คนที่ได้ยินได้ฟังมาจึงพากันเรียกว่า เลียะพะ ใครออกไปเดินมืดๆ ค่ำๆ คนเดียวก็จะถูกทักว่า “ระวังจะโดนเลียะพะ” การจลาจลในครั้งนี้ ก็ดุเดือดไปแพ้ตอนอั้งยี่ปล่องเหลี่ยม แต่ตอนนั้นเป็นจีนต่างภาษาตีกัน คราวนี้เป็น จีนกับไทย มีการขึ้นไปบนตึก แล้วยิงลงมาใส่ผู้คนด้านล่าง ย่านเยาวราช เจริญกรุง หัวลำโพง บางลำพู กลายเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัย ผู้คนแทบไม่กล้าผ่านไปมา ความไม่พอใจในเชื้อชาติเดือดเป็นระยะๆ อย่างเนืองๆ จนไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เพราะการจับขังคุก ไม่ได้เป็นการช่วยให้ความรุนแรงยุติ แต่ต้องทำให้ทุกคนยุติที่หัวใจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ซึ่งเป็น สมเด็จพระอนุชาในขณะนั้น ได้ทรงต้องการที่จะหยุดความรุนแรงทั้งหมด จึงได้ทำหมายกำหนดการณ์เสด็จประพาสสำเพ็ง ซึ่งเป็นหมายกำหนดการหนึ่งในหลายพระราชกรณียกิจของล้นเกล้าทั้ง 2 พระองค์ ที่ทำให้ประเทศชาติเกิดความมั่นคง หลังจากที่ได้เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย เป็นครั้งที่ 2เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2488

การตัดสินพระทัยของพระองค์ท่านในขั้นต้น ได้รับการทักท้วงเพราะรัฐบาลเกรงว่าจะผิดราชประเพณี แต่ทรงมีรับสั่งให้สำนักราชเลขานุการในพระองค์ แจ้งยืนยันให้รัฐบาลทราบ เพราะทั้งรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ก็เคยเสด็จพระราชดำเนินมาแล้ว จึงมีหมายกำหนดการเสด็จประพาสเยี่ยมชาวจีนที่สำเพ็ง ในวันที่ 3 มิถุนายน 2489 และเมื่อชาวจีนในสำเพ็งได้ทราบข่าวอันน่ายินดีนี้ ต่างได้ร่วมแรงร่วมใจกันทั้งไทย และ จีน เก็บกวาดขยะสิ่งรกรุงรังเพื่อเตรียมสถานที่รอรับเสด็จ

ด้วยพระราชกรณียกิจในครั้งนั้น ช่วยให้สัมพันธภาพระหว่างคนไทยกับคนจีนกลับมาแน่นแฟ้นกันอีกครั้งหนึ่ง และนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่คนไทยเชื้อสายจีนต่างน้อมรับและเทิดทูนไว้ตั้งแต่รุ่นบรรพชนจนถึงรุ่นลุกหลานในปัจจุบันอย่างมิรู้ลืม

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : TNews
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: