1137. วิชาอาคมทางภาคใต้

มาดูของดีวิชาอาคมทางภาคใต้กันมั้งนะคับ

วิชาคงกระพันชาตรี

เขาใช้เมื่อเวลาจะออกรบ ผู้เป็นเจ้านายหรือผู้มีวิชาอาคมก็จะแจกเครื่องรางของขลังต่างๆ ทั้งตะกรุดผ้ายันต์และวัตถุมงคลต่างๆ บ้างก็ลงอักขระสักยันต์ลงตามร่างกายเป็นหมึกบ้างน้ำมันบ้าง บางรายก็เขียนยันต์ลงตามร่างกาย บางรายก็เป่ายันต์ลงตามร่างกาย แล้วแต่ว่าใครจะเรียนมาแบบไหน

ก็จะใช้วิชาตามที่ตนเรียนมา แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ก็มีจุดประสงค์เดียวกันคือ เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ตัวของผู้เข้าทำพิธีและเพื่อให้มีพลังงานมาประจุลงสู่ตัวของคนนั้นๆ เมื่อมีพลังงานมาประจุแล้วก็จะส่งผลให้เนื้อหนังมีความคงทนต่อคมอาวุธทุกประเภท จนมีดฟันแทงไม่เข้า แต่ถ้าจะทำให้ตายต้องใช้ของแหลมแทงสวนทวารอย่างเดียว

วิชาคงกระพันชาตรีนั้นยังมีแยกออกไปอีก 9 วิชา

วิชาอาพัด, เหล้า, หมาก, ใบพลู, ยาสูบ, พริกไทย, ว่านและรากไม้ต่างๆ วิชานี้ใช้เสกของกินเพื่อให้เกิดความคงกระพันชาตรี

วิชาปูนคาดคอ
วิชานี้ใช้เพื่อให้เกิดความคงกระพันชาตรี

วิชาเรียกน้ำมันเข้าตัว
วิชานี้ใช้เสกเรียกน้ำมันให้เข้าไปอยู่ในตัว เพื่อให้เกิดความคงกระพันชาตรี

วิชาอาบน้ำว่าน
วิชานี้ใช้อาบ เพื่อให้เกิดความคงกระพันชาตรี

วิชาอาบน้ำมันเดือด
วิชานี้ใช้เสกอาบ เพื่อให้เกิดความคงกระพันชาตรี แต่เวลาอาบจะไม่รู้สึกร้อนแต่อย่างใด

วิชาเสกฝุ่นทาตัว
วิชานี้ใช้เสกฝุ่นทาตัว เพื่อให้เกิดความคงกระพันชาตรี ในบางทีเรียกว่า “ หนุมารคลุกฝุ่น ”

วิชาสักยันต์
วิชานี้จะใช้ของแหลมจุ่มหมึกหรือน้ำมันมาแทงลงบนผิวหนัง เพื่อให้เกิดเป็นยันต์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความคงกระพันชาตรี

วิชาเขียนยันต์
วิชานี้จะใช้ของไม่แหลมจุ่มน้ำมันมาเขียนลงบนผิวหนัง เพื่อให้เกิดเป็นยันต์ต่างๆ, เพื่อให้เกิดความคงกระพันชาตรี

วิชาเป่ายันต์วิชานี้จะใช้เป่ายันต์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความคงกระพันชาตรี

วิชาชาตรี คนส่วนใหญ่มักเรียกรวม วิชาคงกระพัน กับ วิชาชาตรีเข้าด้วยกัน เป็นวิชาคงกระพันชาตรีแต่ที่จริงแล้ววิชาชาตรีนั้นต่างจากวิชาคงกระพันตรงที่……….

วิชาคงกระพันพันแทงไม่เข้าแต่ก็ยังมีความเจ็บปวดเกิดขี้นอยู่ แต่วิชาชาตรีนั้น ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บเลย เพราะวิชาชาตรีนั้นทำให้ของหนักต่างๆที่จะมากระทบตัวจะเบาไปหมด คนที่สำเร็จวิชานี้สามารถกระโดดได้สูงเกินสามวา วิชานี้เป็นวิชาแต่งตัวแล้วบริกรรมคาถา และเอามือทั้งสองลากไปตามตัว

เรียกว่า “ ชักยันต์ ” แต่ส่วนมากมักจะเป็นวิชาของอิสลาม
พิธีกรรม ด้านคงกระพัน สำนักเขาอ้อ

วัดเขาอ้อ เป็นแหล่งวิทยาคมทางไสยศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาแล้ว ตั้งแต่สมัยโบราณ พระเกจิอาจารย์ผู้สืบต่อวิชาทางไสยศาสตร์ ต่างก็เป็นที่พึ่งที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป เช่น พระอาจารย์ทองเฒ่า พระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด) พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ พระอาจารย์ศรีเงิน วัดดอนศาลา พระครูพิพัฒน์สิริธร (อาจารย์คง) วัดบ้านสวน พระอาจารย์ปาน วัดเขาอ้อ และ ที่เป็นฆราวาสที่คนทั่วไปรู้จักกันดีได้แก่ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นต้นและยังมีพิธีกรรมทางด้านคงกระพันชาตรี ของสำนักเขาอ้อ หรือ วัดเขาอ้อ ตกทอดสืบต่อกันมาถึงทุกวันนี้

พิธีกรรมทางไสยศาสตร์

ความเชื่อทางไสยศาสตร์ของสำนักวัดเขาอ้อที่สำคัญถือเป็นหลัก นิยมใช้ประกอบพิธีกรรมให้สานุศิษย์และประชาชนที่ศรัทธาโดยทั่วไปมี 4 พิธี คือ พิธีเสกว่านให้กิน พิธีหุงข้าวเหนียวดำ พิธีเสกน้ำมันงานดิบ และพิธีแช่ว่าน นอกจากนี้ก็ยังมีพิธีอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น พิธีสอนให้ชักยันต์ด้วยดินสอ และการสร้างพระเครื่องรางของขลัง วิชาดูฤกษ์ยาม ตำรารักษาโรคภัยไข้เจ็บจากสมุนไพร และการรักษาด้วยคาถาอาคม เพื่อประโยชน์ของการศึกษาทางด้านความเชื่อทางไสยศาสตร์ จึงขอนำเอาพิธีกรรมที่กล่าวแล้วข้างต้น มาอธิบายไว้ในที่นี้พอสังเขป…

1.พิธีเสกว่านให้กิน หมายถึง การนำเอาว่านที่เชื่อว่ามีสรรพคุณทางด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรี หรือทางด้านมหาอุด มาลงอักขระเลขยันต์ทางเวทมนต์คาถา แล้วนำไปให้พระอาจารย์ผู้ชำนาญเวท ปลุกเสกด้วยอาคมกำกับอีกครั้งหนึ่ง ว่านที่นิยมใช้ในพิธี ได้แก่ ว่านขมิ้นอ้อย ว่านสบู่เลือด ว่านสีดา ว่านเพชรตรี ว่านเพชรหน้าทั่ง ต้นว่านเหล่านี้เชื่อกันว่ามีเทพารักษ์คอยคุ้มครองรักษา พันธุ์ว่านบางชนิดต้องไปทำพิธีกินในสถานที่พบ ที่นิยมมาก ได้แก่ การกินว่านเพชรหน้าทั่ง

การทำพิธีกินต้องหาฤกษ์ยามเสียก่อน เมื่อได้ฤกษ์แล้วพระอาจารย์จะนำสายสิญจน์ไปวนไว้รอบต้นว่าน แล้วตั้งหมากพลูบูชาเทพารักษ์ ปลุกเสกอาคมทางหลักไสยศาสตร์ เมื่อเสร็จพิธีแล้วนำมาแจกจ่ายกินกัน เชื่อว่าจะทำให้ผู้นั้นเป็นคนอยู่ยงคงกระพันชาตรี

การเสกว่านให้กิน เมื่อสิ้นพระอาจารย์ทองเฒ่าแล้ว นิยมไปทำกันที่วัดดอนศาลา ต.มะกอกเหนือ โดยมีพระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด) เจ้าอาวาสวัดดอนศาลาเป็นผู้ประกอบพิธี เช่น การประกอบพิธีกินว่านหน้าทั่ง เมื่อวันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ.2473 มีพระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ (ยังเป็นฆราวาส) เป็นผู้หาฤกษ์ยาม ผู้ร่วมกินมี พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช และพระเณรในวัดดอนศาลา .

2.พิธีหุงข้างเหนียวดำ นิยมทำพร้อมกับพิธีเสกน้ำมันงาดิบ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “กินเหนียวกินมัน” แต่ละปีจะประกอบพิธีกิน 2 ครั้ง คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 และ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10

พิธีหุงข้าวเหนียวดำ หมายถึง การนำเครื่องยาสมุนไพร หรือว่านชนิดต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 108 ชนิด มาผสมกันแล้วต้มเอาน้ำยามาใช้หุงข้าวเหนียวดำ

การประกอบพิธีนิยมทำกันภายในอุโบสถมากกว่าสถานที่อื่นๆ ในสมัยก่อนนิยมทำกันในถ้ำฉัตรทันต์ หม้อและไม้ฟืนทุกอัน จะต้องลงอักขระเลขยันต์กำกับด้วยเสมอ พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะเริ่มปลุกเสก ตั้งแต่จุดไฟ จนกระทั่งข้าวเหนียวในหม้อสุก แล้วนำข้าวเหนียวที่สุกแล้วไปประกอบพิธีปลุกเสกอีกครั้งหนึ่งจนเสร็จพิธี

พิธีกินข้าวเหนียวดำ จะทำพิธีกันภายในอุโบสถ ก่อนกินถ้าสานุศิษย์คนใดไม่บริสุทธิ์ต้องทำพิธีสะเดาะ หรือเรียกว่า “พิธีการเกิดใหม่” หรือ “พิธีบริสุทธิ์ตัว” เพื่อให้ตัวเองบริสุทธิ์จากสิ่งไม่ดีชั่วร้ายทั้งปวง

เมื่อถึงเวลาฤกษ์กินข้าวเหนียวดำ สานุศิษย์จะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นนุ่งด้วยผ้าขาวม้าโจงกระเบนไม่ใส่เสื้อ แล้วเข้าไปกราบพระอาจารย์ผู้ประกอบพิธี 3 ครั้ง เสร็จแล้วพระอาจารย์จะให้นั่งชันเข่าบนหนังเสือ เท่าทั้ง 2 เหยียบบนเหล็กกล้าหรือเหล็กเพชร ปิดศรีษะด้วยหนังหมี มือทั้ง 2 วางบนหลังเท้าของตัวเอง พระอาจารย์ใช้มือซ้ายกดมือทั้ง 2 ไว้ พร้อมกับภาวนาพระคาถา ส่วนมือขวาปั้นข้าวเหนียวดำเป็นก้อนป้อนให้ศิษย์ครั้งละ 1 ก้อน แล้วปล่อยมือศิษย์ที่กดไว้บนเหลังเท้า มือทั้ง 2 ของศิษย์จะลูบขึ้นไปตั้งแต่หลังเท้าจนทั่วตัวจดใบหน้า

การลูบขึ้นนี้เรียกว่า “การปลุก” เสร็จแล้วลูบลง เอามือทั้ง 2 ไปวางไว้บนหลังเท้าทั้ง 2 เช่นเดิม โดยกะประมาณว่ากินข้าวเหนียวก้อนแรกหมดพอดี สำหรับผู้ที่ไม่เคยกินอาจกลืนลำบาก เนื่องจากว่าข้าวเหนียวมีรสขมมาก บางคนป้อนก้อนแรกถึงกับอาเจียนออกมาก็มี แต่ถ้ากลืนก้อนแรกจนหมดได้ ก้อนต่อไปจะไม่มีปัญหา พระอาจารย์จะป้อนจนครบ 3 ก้อน ในแต่ละครั้งจะลูบขั้นลูบลง เช่นเดียวกับครั้งแรก แต่ครั้งที่ 3 นั้นเมื่อศิษย์กินข้าวเหนียวหมดแล้ว พระอาจารย์จะใช้มือซ้ายกดมือทั้ง 2 ไว้ที่เดิมหัวแม่มือขวาสะกดสะดือศิษย์ ทำทักษิณาวัตร 3 รอบ พร้อมกับภาวนาพระคาถาไปด้วย เป็นการผูกอาคม

สำหรับคุณค่าของการกินข้าวเหนียวดำ สานุศิษย์ของสำนักเขาอ้อ เชื่อกันว่าใครกินได้ถึง 3 ครั้ง จะทำให้อยู่ยงคงกระพันชาตรี เป็นมหานิยม และยังเป็นยาแก้โรคปวดหลังปวดเอวได้เป็นอย่างดี

3.พิธีเสกน้ำมันงาดิบ การเสกน้ำมันงาดิบ ต้องมีเครื่องบูชาครูเช่นเดียวกับการหุงข้าวเหนียวดำ คือ หมาก 9 คำ ดอกไม้ 9 ดอก เทียน 1 เล่ม ธูป 3 ดอก สายสิญจน์ หนังเสือ หนังหมี เอาวางไว้ที่หน้าเครื่องบูชา การเสกน้ำมันส่วนใหญ่นิยมใช้น้ำมันงาดิบ หรือน้ำมันยางแดงประสมว่าน พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะนั่งบริกรรมพระคาถาจนน้ำมันแห้งเป็นขี้ผึ้ง เรียกว่า “พิธีตั้งมัน”

เมื่อเสกจนน้ำมันแห้งแล้ว พระอาจารย์จะทำพิธีป้อนน้ำมันให้สานุศิษย์แบบเดียวกับพิธีป้อนข้าวเหนียวดำ คือ ผู้ที่จะกินมันต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่เคยผิดศีลข้อกาเมมาก่อน ถ้าบุคคลใดไม่บริสุทธิ์ ต้องให้พระอาจารย์ทำพิธี “บริสุทธิ์ตัว” คือ “สะเดาะ” เสียก่อน เสร็จแล้วก็ทำเช่นเดียวกับกินข้าวเหนียวดำ โดยพระอาจารย์ ผู้ประกอบพิธีจะป้อนน้ำมันให้กิน 3 ช้อน แต่ละช้อนมีขมิ้นอ้อย 1 ชิ้น เมื่อกินช้อนที่ 3 หมด พระอาจารย์จะตักน้ำมันมาทาบบนฝ่ามือทั้ง 2 ของศิษย์ แล้วเขียนตัวอักขระตัว “นะโม” ข้างละ 1 ตัว จับมือศิษย์ทั้ง 2 ประกบกันละเลงให้น้ำมันทั่วฝ่ามือ แล้วนำไปทาบนหลังเท้าทั้ง 2 ข้าง ข้างละมือ พร้อมกับพระอาจารย์จะปลุกเสกคาถากำกับไปด้วย ต่อจากนั้นใช้มือลูบขึ้นและลูบลงเช่นเดียวกับการกินข้าวเหนียวดำ เสร็จแล้วมือซ้ายของอาจารย์จะกดมือทั้ง 2 ไว้หัวแม่มือขวาสะกดสะดือศิษย์ไว้ เช่นเดียวกับการกินข้างเหนียวดำ เพื่อเป็นการผูกอาคม เป็นอันเสร็จพิธีการกินน้ำมันงาดิบ

คุณค่าการกินน้ำมันงาดิบของสำนักวัดเขาอ้อ เชื่อกันว่ามีคุณค่าทางด้านอยู่ยงคงกะพัน มีเมตตามหานิยม แต่มีข้อห้ามไว้ว่า ถ้าผิดลูกเมียผู้อื่นเมื่อใด น้ำมันที่กินเข้าไปจะไหลออกมาตามขุมขนจนหมดสิ้น และถ้าจะกินน้ำมันใหม่ก็ต้องทำพิธีสะเดาะใหม่อีกครั้ง

4.พิธีแช่ว่านยา เป็นพิธีกรรมชั้นสูงทางไสยศาสตร์ของสำนักวัดเขาอ้อ การแช่ว่านยา หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ลงไปนอนแช่ในน้ำว่านยาที่ได้ทำพิธีปลุกเสกตามหลักวิชาไสยศาสตร์ จากพระอาจารย์ผู้เรืองอาคม เพื่อประสงค์ให้ตัวเองอยู่ยงคงกระพันชาตรี วัดเขาอ้อจึงได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า “วัดพระอาจารย์หลัง” หลายคนเชื่อกันว่าวัดเขาอ้อเป็นต้นตำรับพิธีการแช่ยา ต่อมาเมื่อมีลูกศิษย์มากขึ้น พิธีการนี้ก็แพร่หลายออกไปตามวัดต่างๆ เช่น วัดดอนศาลา วัดบ้านสวน อ.ควนขนุน วัดเขาแดงออก วัดยาง วัดปากสระ อ.เมือง พัทลุง เป็นต้น

พิธีการแช่ยาที่วัดเขาอ้อ นิยมประกอบพิธีบนไหล่เขาหรือภายในถ้ำฉัตรทันต์ ในราวเดือน 5 เดือน 10 ของทุกๆปี โดยก่อเป็นรูปอ่างน้ำสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือใช้เรือขุดจากไม้ก็ได้ให้มีขนาดพอที่จะให้คนลงไปนอนได้ประมาณ 3-4 คน ส่วนมากไม่มีการกำหนดขนาดที่แน่นอน อ่างน้ำนี้เรียกว่า “รางยา”

เนื่องจากพิธีกรรมแช่ว่าว่านยาเป็นพิธีใหญ่มาก และเป็นพิธีชั้นสูงของสำนักวัดเขาอ้อและทำได้ยากลำบาก เครื่องบูชาครูจึงต้องมีมากเป็นธรรมดา คือ หัวหมู บายศรีไหญ่ ยอดบายศรี สวมแหวนทองคำหนัก 1 บาท หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ และมีหนังสือหนังหมี เหล็กกล้า เป็นเครื่องประกอบ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : นักเลง โบราณ ตำนานหนังเหนียว
ขอขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : kamfungfun
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: