6189. “ขุนรองปลัดชู” วีรบุรุษผู้เคยเป็น “เจ้าเมืองกุยบุรี” ก่อนเหลือตำแหน่งเพียง “รองปลัด” ?!!!

“ขุนรองปลัดชู” ตามตำนานที่เชื่อถือกันมา (และมีการผลิตซ้ำสร้างภาพจำในรูปแบบภาพยนตร์ไปอีกเมื่อไม่กี่ปีก่อน) นั้นว่ากันว่า ท่านเป็นครูดาบผู้มีฤทธิ์เดช และเป็นนายหมู่บ้านแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ (ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอ่างทอง) เมื่อกรุงศรีอยุธยาผลัดแผ่นดินได้ไม่นาน (สู่แผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์) กษัตริย์อังวะก็ส่งทัพมารุกรานกรุงศรีฯ ขุนรองปลัดชูจึงอาสานำทัพชาวบ้านร่วมทัพไปกับพระยารัตนาธิเบศเพื่อสกัดทัพอังวะทางภาคใต้ ไกลถึงเมืองกุยบุรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์) และด้วยความที่กำลังของท่านมีเพียงไม่กี่ร้อยนายย่อมไม่อาจต้านทานทัพพม่าที่มีหลายพัน (ไปจนถึงหลายหมื่นแล้วแต่ว่าจะยึดพงศาวดารฉบับไหน) จึงต้องแตกพ่ายไป

เรื่องราวของขุนรองปลัดชูจึงนับได้ว่าเป็นตำนานของวีรชนผู้กล้าหาญโดยแท้ แม้ท่านจะมีกำลังเพียงน้อยนิดก็หาได้หวาดเกรงกำลังของศัตรูที่เหนือกว่าไม่ (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า ท่านเป็นคนมีของถึงพ่ายแพ้ก็ไม่ตายแต่ถูกพม่าจับตัวไป แต่ฉบับอื่นส่วนใหญ่นอกจากจะบอกว่าทัพของท่านแพ้แล้วก็ไม่กล่าวถึงอีก)

นั่นก็เป็นเรื่องราวของตำนานที่มีการขัดเกลาให้เข้ากับอุดมคติตามยุคสมัย แต่ถ้าลองมองในมุมของประวัติศาสตร์และว่ากันตามหลักฐานแล้วละก็ เรื่องราวของ “ขุนรองปลัดชู” น่าจะต่างไปจากความรับรู้ของคนทั่วไปเยอะทีเดียว

จากการขุดคุ้ยหลักฐานโดยคุณปรามินทร์ เครือทอง พบว่า ขุนรองปลัดชูจริงๆ แล้ว แต่เดิมน่าจะไม่ใช่คนวิเศษชัยชาญอย่างที่หลายคนเชื่อกันด้วยซ้ำ! แต่ควรจะเป็นคนกุยบุรีมีศักดิ์เป็นถึงเจ้าเมืองมากกว่า

เหตุที่คุณปรามินทร์ตั้งข้อสงสัยนี้ขึ้นมาก็เพราะว่าสมัยนั้นมีข่าวว่า อังวะจะยกทัพจะเข้าตีอยุธยาถึง 3 ทาง คือทางมะริด ท่ากระดาน และเชียงใหม่ ถ้าขุนรองปลัดชูแกมี “สำนึกรักบ้านเกิด” จริง ก็น่าจะรอรับศึกที่บ้านเกิดดีกว่า หรือจะร่วมทัพไปกับกองทัพที่ไปตั้งรับที่ท่ากระดานก็ยังสมเหตุสมผลมากกว่าที่จะยกกำลังไปถึงกุยบุรี

แถมพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียมก็ยังได้กล่าวถึงทัพที่ตั้งรับพม่าที่กุยบุรีเอาไว้ว่า “ด้วยมิได้มีวิจารณ์พระเชาวญาณ ก็พาลเขลาทรงเชื่อเอาทั้ง ๓ ทาง [ผู้แต่งพงศาวดารตั้งใจวิจารณ์พระเจ้าเอกทัศน์ว่าไม่มีพระปรีชาสามารถไม่รู้กลศึกข้างอังวะ ที่จริงๆ ตั้งใจจะยกทัพมาเพียงข้างมะริดทางเดียว] จึ่งดำรัสสั่งให้พระยาพิชัยสงคราม นามชื่อปลัดชู พระจุฬา หลวงศรียศ หลวงราชพิมล ขุนศรีวรคัณฑ์ ๕ คน คุมพล ๕,๐๐๐ ออกไปต้านทานข้างมะริดก่อน” (เห็นได้ว่าตัวเลขตรงนี้ก็เยอะอยู่ ต่างจากตำนานที่ถือพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาเป็นเกณฑ์ที่มักจะบอกว่าปลัดชูมีกำลังราวๆ 400 นายเท่านั้น)

เช่นเดียวกับฉบับพระพนรัตน์ ที่บอกว่า ทัพของพระยาพิชัยสงคราม นามชื่อ “ปลัดชู” ได้ไปตั้งทัพรอฝ่ายพม่าที่จะยกมาทางมะริดอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้มาเกณฑ์ชาวบ้านวิเศษชัยชาญไปร่วมทัพของพระยารัตนาธิเบศตามมาทีหลังเหมือนอย่างที่ฉบับพระราชหัตถเลขาระบุไว้ (ซึ่งกลายมาเป็นเรื่องเล่ากระแสหลักไปแล้ว)

คุณปรามินทร์กล่าวต่อไปว่า “ปลัดชู” ที่กล่าวถึงในพงศาวดารแต่ละฉบับนี้ก็น่าจะเป็นคนเดียวกันแน่เพราะอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันทุกฉบับ แต่ปลัดชูตัวจริงเป็นใครกัน? ตรงนี้คุณปรามินทร์ได้ยก “พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง” ในกฎหมายตราสามดวงขึ้นมาอ้างอิง โดยตำรานี้ได้ระบุถึงตำแหน่งของ “พระพิชัยสงคราม” เอาไว้สองท่าน ท่านหนึ่งคือ “พระพิไชยสงคราม เจ้ากรมอาษาซ้ายตราพาลี ถือพระขรรค นา ๕,๐๐๐” เป็นตำแหน่งคู่กับพะรามคำแหง เจ้ากรมอาษาขวา สังกัดสมุหพระกลาโหม

แต่ตำแหน่งที่คุณปรามินทร์มองว่าน่าจะเข้าเค้ามากกว่าคือ “ออกพระพิไชยภักดีศรีวิสุทธิสงคราม เมืองกุย ขึ้นประแดงอินปัญาซ้าย” พูดง่ายๆ ว่า ขุนรองปลัดชูที่เรียกๆ กันนั้นเดิมน่าจะเป็นเจ้าเมืองกุยบุรีที่รวมกำลังมาปกป้องบ้านเมืองตัวเองมากกว่าที่จะเป็นผู้นำชาวบ้านวิเศษชัยชาญที่ยกทัพอาสามาไกลจากอ่างทอง

แล้วจาก “เจ้าเมืองกุยบุรี” กลายมาเป็น “ขุนรองปลัดชู” ได้อย่างไร? ตรงนี้หากพิจารณาจากผลการพ่ายศึกในสมรภูมิหว้าขาว ที่กุยบุรี จะเห็นว่า แม่ทัพนายกองหลายท่านทีเดียวที่ต้องรับโทษ ที่มีออกชื่อในพงศาวดารก็คือ พระยาอภัยราชา พระยายมราช และพระยาเพชรบุรี แต่หลักฐานโดยตรงถึง “พระยาพิชัยสงคราม นามชื่อปลัดชู” นั้นไม่มี คุณปรามินทร์จึงกล่าวว่า เป็นไปได้ที่ท่านจะถูกพม่าจับไป อย่างที่พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาว่าไว้ หรือไม่ก็ถูกจองจำอยู่เมืองหลวงเหมือนแม่ทัพนายกองอีกหลายคน

และหลังจากเสร็จศึกที่กุยบุรีได้ 16 ปี ก็ได้เกิด “ศึกอะแซหวุ่นกี้” ขึ้นในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งคราวนี้ ชื่อของ “ขุนรองปลัดชู” ก็กลับมาอีกครั้ง ในฐานะ “กองอาทมาต” ดังความปรากฏในพระราชพงศาวดารสยาม ฉบับบริติชมิวเซียมว่า

“ณ วันเสาร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓

ยกกระบัตรเมืองชัยนาทมากราบทูลว่า หลวงพลขุนรองปลัดชู ไปสืบข่าวราชการ ณ เมืองกำแพงเพชรเห็นค่ายพม่า ณ บ้านโนนศาลา ๒ ค่าย บ้านถลกบาดค่ายหนึ่ง”

ถ้าหากว่า “พระยาพิชัยสงคราม นามชื่อปลัดชู” เป็นคนเดียวกันกับ “ขุนรองปลัดชู” แห่งกองอาทมาตจริงไม่ว่าจะสังกัดชัยนาท หรือวิเศษชัยชาญ ก็เท่ากับว่า ปลัดชูได้ถูกย้ายจากตำแหน่งเจ้าเมืองกุยบุรี ศักดินา 3,000 มากินตำแหน่งรองปลัดเมือง ศักดินา 300 แทน ซึ่งหากปลัดชูจะกลายไปเป็นคนวิเศษชัยชาญก็คงจะเกิดขึ้นหลังจากนี้

คุณปรามินทร์ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า เมื่อมีการชำระพระราชพงศาวดารในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเกิดขึ้นหลังศึกอะแซหวุ่นกี้ไม่กี่ปี จึงเป็นไปได้ที่ผู้ชำระได้หยิบเอาตำแหน่งสุดท้ายของ “ปลัดชู” มาอ้างถึง เพื่อให้คนร่วมสมัยได้เข้าใจตรงกัน

เรื่องที่ชาวบ้านวิเศษชัยชาญตามขุนรองปลัดชูมารบทัพอังวะถึงเมืองกุยบุรีจึงน่าจะไม่ใช่เรื่องจริง เพราะเมื่อสอบเทียบกันแล้ว มีเพียงพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ชำระขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ที่ระบุว่าท่านเป็น “กรมการเมืองวิเศษชัยชาญ” ในขณะที่เกิดศึก ต่างจากพงศาวดารฉบับอื่นที่กล่าวถึง “ปลัดชู” ในฐานะพระยาพิชัยสงคราม ซึ่งน่าจะมีฐานะเป็นเจ้าเมืองกุยบุรีมากกว่า แต่ภายหลังท่านอาจจะถูกส่งไปอยู่วิเศษชัยชาญจริงก็เป็นได้

อ้างอิง: ปรามินทร์ เครือทอง. “สงสัย : ขุนรองปลัดชู ไม่ใช่คนวิเศษชัยชาญ ไม่ตายในสนามรบ แต่ถูกขัง ถูกย้าย ลดยศ?!?” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 12 (ตุลาคม 2554)
ผู้เขียน : ผิน ทุ่งคา
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : silpa-mag
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: