6132. “ขุนพังพะการ”…ตำนานวีรบุรุษผู้กอบกู้เมืองนครศรีธรรมราช

“พังพะการ”…. หรือ “ขุนพังพะการ” เป็นบุคลที่มีชีวิตอยู่ในสมัยของพระเจ้าจันทรภานุ เจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณต้นสมัยกรุงสุโขทัย หรือประมาณ พ.ศ.๑๘๒๐ ขณะนั้นพวกชวาได้ยกทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราชและได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพวกชวา แม้ระยะแรกจะตีเมืองไม่แตกในที่สุดพวกชวาก็ยกทัพเรือมาทอดสมออยู่ที่ปากน้ำ และมีราชสาส์นถึงเจ้าเมืองนครให้ลงไปรับลูกสาวที่มาถวาย เมื่อเจ้าเมืองลงไป พวกชวาก็จับตัวไว้ และได้ส่งกลับเมื่อทางเมืองนครศรีธรรมราชยินยอมส่งส่วยไข่เป็ดแก่ชวา นครศรีธรรมราชตกเป็นเมืองขึ้นของชวาและส่งส่วยอยู่นานเพียงใดไม่อาจทราบแน่ชัด แต่ก็ได้พ้นจากอำนาจของพวกชวาเพราะความแกล้วกล้าของ “พังพการ” นั่นเอง

ในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า พังพการ สามารถฆ่าพวกชวาล้มตายวันละ ๓๐ – ๔๐ คน ทัพของพวกชวาจึงแตกพ่ายกลับไป เมื่อทัพชวาแตกกลับไปแล้ว พระเจ้าจันทรภาณุได้ปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่พังพการ โดยแบ่งเมืองให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็น เมืองพระเวียง


(โบราณสถานโมคลาน วัดโมคลาน)

(หลังจากนั้นศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์ก็เข้ามาแผ่ขยายต่อไปยังเมืองสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๑๘ และกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา แต่โบราณสถานที่เป็นเมืองหลวงทั้งสองแห่งก็ถูกการศึกสงครามจากพม่าเผาทำลายจนเป็นซากปรักหักพังดังเช่นที่ปรากฎในปัจจุบัน ส่วนรากเหง้าเดิมของโบราณสถานของศาสนาพุทธนั้นยังคงตั้งเด่นเป็นสง่ากลางเมืองนครศรีธรรมราช เพราะไม่มีการศึกสงครามมาทำลายและประชาชนยังเคารพศรัทธาจนถึงทุกวันนี้)

“ขุนพังพการ” เป็นวีรบุรุษของชาวเมืองนครที่ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชพ้นจากการตกอยู่ใต้อำนาจของพวกชวา แม้ว่าในแง่บันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรจะมีข้อมูลที่เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึกเอาไว้ในลักษณะคล้ายๆ กันกับ “ขุนรองปลัดชู” ที่เคยมีชีวิตและบทบาทการกู้ชาติในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) ซึ่งได้ทำการกอบกู้เมืองวิเศษไชยชาญ โดยจารึกนั้นกล่าวไว้ “เพียงบรรทัดเดียว” แต่ “ขุนพังพการ” หรือ “พังพการ” แห่งเมืองนครศรีธรรมราชนั้น กลับมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและมีหลักฐานที่เด่นชัด ให้เป็นที่กล่าวถึงเอาไว้ให้แก่อนุชนได้ศึกษาค้นคว้า

………………………………..

(หอพระพุทธสิหิงค์ ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์กล่าวว่า พระร่วงโรจนราชแห่งสุโขทัยได้เสด็จไปเยือนนครศรีธรรมราช และพระเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงได้ถวายพระพุทธสิหิงค์แด่พระองค์ ซึ่งชื่อ “พระร่วง” ในที่นี้ นักประวัติศาสตร์เข้าใจว่า คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หลักฐานนี้สมกับหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ เรื่องการรับเอาพระพุทธศาสนาและธรรมเนียมปฏิบัติมาจากนครศรีธรรมราช)

ประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช และก่อนกำเนิด “พังพะการ”

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงชนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในนครศรีธรรมราช ภายหลังจากการโจมตีของพวกโจฬะจากอินเดีย หลังจากนั้นด้มีกลุ่มชนที่เดินทางมาจากลังกา ซึ่งเป็นคณะสงฆ์แห่งพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์และกลุ่มคนอีกกลุ่มที่ย้ายถิ่นฐานมาจากดินแดนคาบสมุทร (ตามตำนานกล่าวว่ามาจากเมืองหงสาวดี) เข้ามารวมกับชนกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ดั้งเดิม (คือ คนพื้นเมืองกับคนเชื้อสายอินเดียที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน) หลักฐานนี้ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากตำนานและได้มีการตรวจสอบจากหลักฐานอื่นๆ เหตุการณ์นี้สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นอย่างน้อย (ก่อนกำเนิดการสถาปนาเมืองสุโขทัย)

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า “อาจจะเกิดขึ้นในช่วงสมัยหลังการสังคายนาพระไตรปิฏกในลังกาเมื่อปี พ.ศ.๑๖๙๖”

จึงเท่ากับว่า เมืองนครศรีธรรมราชนี้ประกอบขึ้นด้วยชน ๓ กลุ่ม ก่อกำเนิดเป็นเมืองนครศรีธรรมราชหรือเรียกว่าเป็น “เมืองสิบสองนักษัตร” ได้คงอำนาจ “ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ” ก็เกิดภัยพิบัติทำให้เมืองร้างและขาดผู้ปกครอง จนกระทั่ง “ยังมีพระพญาศรีไสยณรงค์ และตะวันตกมาเสวยเมืองศรีธรรมราช…” ในศิลาจารึกสุโขทัยปรากฏนาม “ศรีไสยณรงค์” หลังสิ้นพญาศรีไสยณรงค์ พระอนุชาชื่อ ธรรมกษัตริย์ จึงได้ขึ้นครองเมือง ตามตำนานพระบรมธาตุกล่าวว่า พระองค์เสด็จมาแต่เมืองเชียงใหม่ จนเมื่อสิ้นพระธรรมกษัตริย์แล้วเมืองนครศรีธรรมราชกาดผู้ปกครองอีก

นักวิชาการระบุว่าเรื่องราวของพญาศรีไสยณรงค์และพระธรรมกษัตริย์นี้เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันจากเรื่องการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชของพญาศรีธรรมโศกราช ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘

ตำนานทั้งสองเล่มกล่าวว่า เมืองนครศรีธรรมราชเมื่อขาดผู้ปกครองก็กล่าวถึงการเข้ามาของท้าวศรีธรรมโศกราชได้หนีภัยพิบัติมาแต่เมืองอินทปัตย์บุรี (น่าจะหมายถึงเมืองหลวงของเขมร) พร้อมด้วยพระอนุชาสองพระองค์ชื่อ จันทรภาณุ และ พงษ์สุรา “ดั้นด้นมาช้านานประมาณ ๘ – ๙ ปีมาถึงหาดทรายแก้ว” และได้ขึ้นครองเมืองนครศรีธรรมราช ขณะเดียวกันที่อำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมเขมรได้แผ่ขยายไปทั้งคาบสมุทรตามหลักฐานทางศิลปะและจารึกบนฐานพระพุทธรูปนาคปรกที่ไชยา ซึ่งจารึกขึ้นใน พ.ศ.๑๗๒๖ เป็นภาษาเขมร

ตำนานพระบรมธาตุกล่าวว่า เมื่อสิ้นพระเจ้าศรีธรรมโศกราชแล้ว พญาจันทรภานุ (พระอนุชา) ก็ขึ้นครองเมืองแทนแล้วสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ส่วนเจ้าพงษ์สุรา (พระอนุชาคนที่ ๓) ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น พญาจันทรภานุ

หลังจากนั้นพระเจ้าศรีธรรมโศกราช (จันทรภานุที่ ๑) สิ้นพระชนม์ พระอนุชา(พงษ์สุรา หรือ พงษ์สุระ) ก็ทรงขึ้นครองเมืองสืบทอดอำนาจต่อ และในช่วงเวลานี้เองที่มีพวกชวาได้เข้ามารุกรานและเมืองนครศรีธรรมราชก็จำต้องตกอยู่ในอำนาจของพวกชวาระยะหนึ่ง จนกระทั่งได้มี “พังพการ” เป็นผู้กล้าหาญในท้องถิ่นรวบรวมไพร่พลอาสาขับไล่พวกชวาออกไปได้สำเร็จ

ตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราช จารึกไว้ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้กล่าวว่า

“เมื่อพญาศรีธรรมโศกราชพิราลัยแล้ว พญาจันทรภาณุผู้น้องเป็นเจ้าเมือง ครั้งนั้นเจ้าเมืองชวายกไพร่พลมาทางเรือ มารบเอาเมืองมิได้ ชวาก็เอาเงินปรายเข้ากอไผ่แล้วกลับไปอยู่มาภายหลังชาวเมืองถางไม้ไผ่ เก็บเอาเงินชวา ชวากลับมารบอีกเล่า เจ้าเมืองคงแต่งทหารออกรบอยู่แล้ว เจ้าเมืองพาญาติวงศ์ออกจากเมืองไปอยู่เขาแดง แลกรมการเมืองรบกับชวา ชวาก็แตกไป

……ภายหลังชวายกไพร่พลมาทอดอยู่ ณ ปากน้ำ มีราชสาส์นมาจากชวา ให้เอาลูกสาวมาถวาย ให้เจ้าเมืองนครลงไปรับ พระยาก็แต่งไพร่พลลงไป ชวาก็จับตัวพระยาได้นางอัครมเหสีก็ตามพระยาไปถึงเกาะอันหนึ่ง จึงได้ชื่อว่า เกาะนาง ครั้งนั้นชวาให้เจ้าเมืองผูกส่วยไข่เป็ดแก่ชวา ชวาก็ให้พระยาคืนมาเป็นเจ้าเมือง”

เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของเมืองนครศรีธรรมราชในช่วงนี้ไปสอดคล้องกับจดหมายเหตุจีนกล่าวในปี พ.ศ.๑๗๗๓ เมื่อห้าปีก่อนเมืองนครศรีธรรมราชตกเป็นเมืองขึ้นของรัฐสันโฟไซ

แล้วเมืองนครศรีธรรมราชเป็นรัฐอิสระอีกครั้งโดยพระเจ้าจันทรภานุ ในปี พ.ศ.๑๗๗๓ ได้กล่าวถึงการตั้งราชวงศ์ใหม่คือ “ปทุมวงศ์” ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพญาศรีธรรมโศกราช และเริ่มสร้างสัมพันธไมตรีกับสุโขทัยโดยการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่รัฐสุโขทัย ตามหลักฐานตำนานพระพุทธสิหิงค์

ตำนาน “ขุนพังพการ” ก็คงมีแต่เพียงสั้นๆ เพียงเท่านี้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระบรมธาตุที่ปรากฎเห็น และเมื่อสืบค้นก็พบหลักฐานที่มีผู้ค้นคว้าไว้อีกว่า ชื่อ “พังพะการ” นั้นก็ไปปรากฏอยู่ในเรื่องราวที่มีผู้เล่าถึงตำนานเมืองนครศรีธรรมราชเดียวกันนี้อีกว่า

เมื่อราวแปดร้อยปีก่อนในนครตามพรลิงค์ ได้บังเกิดขุนพลผู้เก่งกล้าสามารถยิ่งคนหนึ่ง มีชื่อว่า พังพะการ ถือกำเนิดในตระกูลชาวนา ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ขององค์พระบรมธาตุ ขณะยังเป็นทารก พ่อแม่ได้ออกทำนาโดยผูกเปลไว้โคนต้นไม้ ขณะทำนาอยู่ไม่ไกลได้มีงูจงอางตัวใหญ่กำลังขดตัวพันรอบเปล อารามตกใจจึงได้ร้องตะโกนเสียงดังขับไล่ งูจงอางใหญ่จึงได้เลื้อยหนีหายไป พ่อแม่จึงได้รีบวิ่งมาดูปรากฏว่าทารกน้อยยังคงนอนหลับอยู่ แต่ที่น่าอัศจรรย์ใจนั้น ปรากฎว่าที่ข้างตัวทารกได้มีลูกแก้วแวววาวอยู่หนึ่งลูก จึงเชื่อว่างูจงอางตัวนั้นแท้ที่จริงเป็นงูเทวดาคาบแก้วมาให้ เมื่อพังพะกาฬได้เติบโตเจริญวัยด้วย มีสติปัญญาที่เหนือเด็กทั่วไปสนใจใฝ่ศึกษาวิชาคาถาอาคมแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็นเป็นประจักษ์อยู่บ่อยๆ

เช่น ในสมัยยังเป็นเด็กชอบเล่นเป็นนายทหาร รบทัพจับศึกกันตามทุ่งนา มักตั้งตัวเป็นนายทัพ ครั้งหนึ่งเล่นปิดล้อมจับข้าศึกกันกำหนดว่าถ้าพวกข้าศึกตีหักแหกออกไปด้านใด ผู้รับผิดชอบด้านนั้นมีโทษถึงประหาร ต่อมาข้าศึกหลบหนีออกไปทางด้านเด็กคนหนึ่ง พังพะการจึงเอาดาบไม้ปาเข ตัดศีรษะเพื่อนเด็กตามโทษทัณฑ์ ปรากฎเหตุอัศจรรย์ขึ้นด้วยเหตุว่า เด็กคนนั้นคอขาดกระเด็นเหมือนถูกฟันด้วยดาบจริง พ่อแม่เด็กจึงนำความขึ้นฟ้องร้องต่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์ทรงไต่สวนได้ทราบถึงเหตุน่าพิศวงนั้น จึงพระราชทานทรัพย์เป็นค่าทำขวัญแก่พ่อแม่เด็ก และรับเอาพังพะการไปเป็นราชบุตรบุญธรรม ให้การศึกษาเล่าเรียนวิชาทหารจนเชี่ยวชาญ ภายหลังพังพะการได้รวบรวมไพร่พลรบพุ่งขับไล่กองทัพชวาแตกพ่ายไป กอบกู้อิสรภาพให้แก่เมืองนครศรีธรรมราชกลับคืนมาได้

(ดาบไม้ปาเข เป็นไม้เนื้อนิ่ม มักนำมาเหลาทำเป็นดาบมีดเพื่อใช้เล่นหรือใช้เพื่อการแสดง เช่น พวกลิเก มโนราห์ – ผู้เขียน)

(รูปปั้นประติมากรรมพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และพระนางเลือดขาว บริเวณวัดพระมหาธาตุฯ)

แต่การณ์กลับเป็นว่า ประวัติของท่าน “ขุนพังพะการ” ตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกลับไปมีลักษณะคล้ายกับประวัติของ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง แห่งกรุงศรีอโยธยา (ผู้สถาปนาวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยังให้ความสนใจตามที่ปรากฏในตำนานท้าวอู่ทองพอสรุปความโดยสังเขปได้ว่า

“…….หลังรัชกาลพระเจ้าหลวงกรุงศรีอโยธยาไม่มีกษัตริย์ปกครอง เหล่าพราหมณ์ปุโรหิตจึงทำพิธีเสี่ยงทายแสวงหาผู้มีปัญญาธิการมาเสวยราชสมบัติ จึงอัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ลงเรือสุพรรณหงส์แห่แหนไปตามลำแม่น้ำ เมื่อไปถึงตำบลบ้านแห่งหนึ่งมีเด็กเลี้ยงโคจำนวน ๑๗ คน เล่าว่าราชการกันที่จอมปลวกในทุ่งนา เด็กคนหนึ่งตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ส่วนเด็กอื่นเป็นเสนาอำมาตย์หมอบราบกับพื้นดิน ครั้งนั้นเล่นเกี่ยวกับการพิจารณาชำระโทษผู้กระทำผิด เมื่อไต่สวนได้ความเป็นสัตย์แล้วก็มีรับสั่งให้ ขุนอินทรเทพ กับ ขุนพิเรนทรเทพ เอาตัวไปประหารด้วยไม้ขี้ตอก เมื่อเพชฌฆาตใช้ดาบไม้ขี้ตอกฟันคอปรากฏว่าเด็กนั้นศีรษะกลับขาดกระเด็นออกจากบ่า ให้เหตุบังเอิญขณะที่เรือสุพรรณหงส์เอกไชยล่องมาถึง เรือก็หยุดอยู่กับที่ ไม่ว่าจะพายค้ำถ่อกันอย่างไรก็ไม่ขยับเขยื้อนได้ เหล่าพราหมณ์ปุโรหิตเห็นเป็นอัศจรรย์เช่นนั้น จึงเป่าสังข์แตรงอนอัญเชิญหัวหน้าเด็กไปเป็นกษัตริย์กรุงอโยธยา”

“พังพระกาฬ” ตามคตินิยมของชาวนครศรีธรรมราชในยุคปัจจุบัน : การผูกเรื่องในยุคองค์จตุคามรามเทพเฟื่องฟู

ถึงกาลปัจจุบัน “ขุนพังพะการ” มิได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแต่เป็นมุขปาฐะและที่ปรากฎอยู่ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชแล้วเท่านั้น แต่ยังถูกขยายเรื่องราวโดยได้มีผู้ศรัทธาได้นำชื่อ “พังพะการ” วีรบุรุษของชาวเมืองนครศรีธรรมราชไปผูกโยงกับองค์พระโพธิสัตว์ จนกลายเป็น “พระโพธิสัตว์พังพระกาฬ” (โปรดสังเกตตัวอักษรสะกดวิธีเขียนที่เปลี่ยนไป) โดยมีการจัดสร้างเป็นรูปประติมากรรมประทับนั่งภาวนาสมาธิเหนือพญานาคราช ๗ เศียร แผ่พังพาน ประกอบพิธีการลงศาสตราคมอักขระตามหลักอาถรรพ์เวทวิทยาแห่งสมมติศาสตร์อย่างโบราณ โดยพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช ผู้ทรงอาคมแห่งเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเชื่อว่า ผู้ใดครอบครองบูชาแล้วจักช่วยป้องกันอุบัติเหตุอันตรายปลดเปลื้องทุกข์เวทนาแก่คนทั้งหลายได้

ขณะเดียวกันก็มีการสร้างรูปลักษณ์ประติมากรรม “พังพระกาฬ” ยังเป็นได้อีกทั้งรูปประติมากรรม “พระจอมนาคราชพังพระกาฬ” ผู้สร้างกล่าวอ้างว่าได้จารึกวิชาอาคมขลังตามหลักไสยศาสตร์แห่งท้องทุ่งทะเลใต้ ว่าด้วย “พังพระกาฬ” มีความรอบรู้เรื่อง ดิน เดือน ดาว จตุโลกธาตุ สามารถจะบันดาลให้ผู้ที่มีไว้บังเกิดแต่ความเป็นศิริมงคลสูงสุด คุ้มครองป้องกันสรรพอันตรายทั้งปวง หากตั้งจิตอธิษฐานเพื่อขอให้ทำการค้าขาย ทำเรือกสวนไร่นา ประมง จะยังผลได้ดี มีกำไร ย่อมได้รับผลสมประสงค์ด้วยพญานาคราช เปรียบดังสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์พูนสุขในการประกอบสัมมาอาชีพ

ส่วนคำว่า “พระพังพระกาฬ” นั้นตามตำนานน่าจะไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา“พระพังพระกาฬ” เพราะยังไม่ปรากฏว่า ขุนพังพะการนั้นไปมีหลักฐานใดที่กล่าวว่าได้เคยเป็น “พระ” หรือบวชเป็นพระสงฆ์ในบวรพุทธศาสนา จะมีก็แต่เพียงการมีผู้ศรัทธาทำเหรียญองค์พระเพื่อการเคารพบูชา โดยจัดทำเป็นรูปแบบกลมขนาดเท่าเหรียญบาท ด้านหน้าทำเป็นรูปพระพังพระกาฬ ด้านหลังทำเป็นรูปพระราหู ๘ ตัว โดยนำนามและความศักดิ์สิทธิ์ในความกล้าหาญของท่านมาเป็นนามเหรียญเพื่อการเช่าบูชา

ดังนั้น เราจึงน่าเชื่อถือในเรื่องราว “พังพระกาฬ” ได้เพียงตามหลักฐานเท่าที่ปรากฎอยู่ตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชมากกว่าเรื่องราวที่ถูกสร้างหรือแต่งเติมขึ้นใหม่ในภายหลังตามความเชื่อหรือคตินิยมของผู้ศรัทธาในวัตถุเคารพบูชา โดยเฉพาะในช่วงสมัยที่การทำเหรียญจตุคามรามเทพเฟื่องฟูในยุคสมัยหนึ่ง การทำเหรียญตราเพื่อบูชาก็อาจเลยเถิดไปถึงการแต่งเรื่องขึ้นมาให้เกิดแต่คตินิยมของผู้สร้างวัตถุบูชาเสียเอง ด้วยการอัญเชิญนามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เคารพบูชาในท้องถิ่นขึ้นมาเป็นจุดสนใจ

(บ้านเรือนทรงโบราณเก่าแก่ในเมืองนครศรีธรรมราช)

ทัศนะของผู้เขียน

“พังพะการ” หรือ ขุนพังพะการ หากวิเคราะห์ตามเนื้อหาที่กล่าวถึงข้างต้น น่าจะสันนิษฐานได้ว่า เมื่อเมืองนครศรีธรรมราชได้เรืองขยายอำนาจไปไกลสุดคาบสมุทรในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ซึ่งก็คงจะมีชื่อเสียงเป็นที่ร่ำลือระบือไปไกลจริง เช่น ไปถึงเมืองจีนก็มีอีกชื่อหนึ่ง ชาวเดินเรือจากตะวันตกก็กล่าวถึงอีกชื่อเมืองๆ หนึ่ง ล้วนแต่กล่าวถึงราชอาณาจักรแห่งนี้ทั้งสิ้น จนเมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายปี สิ้นรัชสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ราชอาณาจักรได้เริ่มถดถอยอำนาจลงในรัชกาลของพระอนุชาองค์ต่อๆ มา และอาจเป็นที่หมายปอง จึงมีพวกชวาคิดการช่วงชิงอำนาจการปกครองและครอบครององค์พระบรมธาตุซึ่งบรรจุพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าและสิ่งของมีค่าที่พุทธศาสนิกชนนำมาถวาย การบุกเข้าตีเมืองนครศรีธรรมราชก็คงทำได้โดยไม่ยากเย็นนัก เนื่องจากชาวนครเป็นเมืองพระ เป็นผู้ที่ฝักใฝ่แต่การศาสนา มิเคยต้องศึกสงครามใดตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์นัก ทักษะการศึกสงครามก็คงไม่เก่งเช่นเมืองสยามและพม่า จึงไม่เคยปรากฏมีตำราพิชัยยุทธในเมืองๆ นี้ ดังนั้น เมื่อเจ้าเมืองและชาวเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งฝักใฝ่แต่ในธรรมะก็ย่อมต้องตกอยู่ในการยึดครองของอริราชศัตรูได้โดยง่าย พวกชวาจึงได้เข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชสำเร็จ

อาจสันนิษฐานต่อไปได้อีกว่า เมื่อพวกชวาเข้ามาทางเรือปิดปากน้ำ(อ่าวปากนคร เพราะเป็นเส้นทางน้ำขนาดใหญ่ หรืออาจเป็นทางคลองท่าเรือ) แล้วได้คงยกพลเข้าถึงเมืองแล้วตีขับไล่ผู้พลแตกกระเจิง แม้ระยะเวลาการครอบครองไม่ปรากฏแน่ชัดว่ากี่ปีกี่ยาม จนกระทั่งชาวเมืองนครศรีธรรมราชเหล่านั้นได้มีการรวบรวมไพร่พลตีกลับจนได้ชัยชนะเป็นเมืองคืนมา โดยตั้งไร่พลสู้รบที่เขามหาชัย (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน)

บ้างก็มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า น้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์ “ห้วยเขามหาชัย” นี้ เป็นลำห้วยที่มีน้ำไหลมาจากเขามหาชัย ผ่านลงมาทางแนวป่า (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช) ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ในตำบลท่างิ้ว เขตอำเภอเมือง ลำห้วยนี้เรียกตามชื่อของภูเขามหาชัย หมายถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในช่วงที่ชาวเมืองนครศรีธรรมราชมีชัยชนะต่อพวกวาที่มาทำสงครามกับชาวนครจึงถือเป็นน้ำที่นำมาแห่งโชคชัย(ชนะ) และปัจจุบันนี้บ่อน้ำแห่งนี้ก็ยัง ได้ใช้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพระราชพิธีต่างๆ เรื่อยมา เมื่อนำไปรวมกับน้ำบ่อศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่มีในตัวเมืองนครศรีธรรมราช

และหลังจากนั้นเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้เริ่มมีความสัมพันธ์ต่อรัฐสุโขทัย จึงมีความเข้มแข็งจนไม่มีชาติรัฐใดกล้ามาต่อกรต่อไปอีกได้ ตามที่ได้กล่าวอ้างกันเรื่อยมา จนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามและประเทศไทยจนในปัจจุบันนี้

ถึงแม้ตำนานของ “ขุนพลพังพะการ” จะมีความจริงแต่เดิมมาอย่างไร และในกาลอนาคตเรื่องราวจะถูกแต่งเติมให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเป็นเช่นไรก็ตาม การบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ ก็ล้วนเป็นอุบายเพื่อให้เกิดความสำนึกรักชาติของตน มิให้ลุ่มหลงไปกับอำนาจของชาติอื่น ซึ่งรังแต่จะเข้ามาบ่อนทำลายตักตวงผลประโยชน์ชาตินั้นออกไป และทำให้บ้านเมืองนั้นเกิดความแตกแยกสามัคคี ขาดความเจริญวัฒนาถาวร

…………………………

หมายเหตุ ชื่อ “พังพะการ” บางก็เขียนว่า “พังพะกาฬ”,“ขุนพลพังพการ”ก็มี ส่วนคำว่า “พระพังพกาฬ” น่าจะเพิ่งเกิดขึ้นในภายหลังเนื่องจากไม่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สืบค้น

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : oknation
ขอขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : Niwate Sri
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: