1149. หลวงพ่อแย้ม ฐานยุตโต วัดสามง่าม ตอน ทองคำอยู่ที่ไหนก็เป็นทองคำ ใครอยากได้ก็มาเอาไป

เพียงเพราะว่าการบริกรรมคาถาอาคมและถ่ายเทพลังจิตลงไปในวัตถุบางอย่าง อาจจะเป็นตัวตุ๊กตาหรือรูปภาพของสัตว์บางชนิด หรือจะเป็นการเอาแผ่นโลหะ จำพวกทองแดง ทองเหลือง ฯลฯ มาเขียนยันต์ใส่ลงไปแล้วม้วนให้เล็กๆลง เป็นท่อนยาวๆ ซึ่งเราเรียกว่าตะกรุด พลังอำนาจที่เรามองไม่เห็นก็บันดาลให้วัตถุเหล่านั้นเกิด “ความขลัง” ขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ…

“ความรู้สึกเป็นเรื่องนามธรรม จับต้องไม่ได้แต่รับรู้ด้วยใจ…”

ผมได้มีโอกาสติดตามคณะศรัทธาของคุณสมศักดิ์ ศักดิ์วิเศษชัยกุล(คุณกวง รามคำแหง) เพื่อไปกราบนมัสการ “หลวงพ่อแย้ม ฐานยุตโต” หรือ “ท่านพระครูประยุตนวการ” เจ้าอาวาส”วัดอรัญญิการาม” หรือ “วัดสามง่าม” อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม

ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์อาวุโสของจังหวัดนครปฐม ลูกศิษย์ “ท่านพระครูภาวนาสังวรคุณ” หรือ “หลวงพ่อเต๋ คงทอง” เจ้าของนาม “เทพเจ้าแห่งดอนตูม..” อดีตเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้ครับ..

หลวงพ่อแย้ม ฐานยุตโต ท่านเป็นพระรูปร่างสูงโปร่ง ผิวขาว ถึงปัจจุบันสังขารของท่านจะร่วงโรยไปตามวัย ๙๓ ปี ดวงตาที่กลมโตฉายแววแห่งความเมตตาถึงแม้จะขัดกับหูที่ค่อนข้างหนัก ทำให้บางครั้งวงสนทนาต้องเพิ่มเดซิเบลของเสียง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับ….”ความทรงจำที่ยังคงแจ่มใสในใจ…”

เรามาทบทวนประวัติส่วนตัวของท่านและรู้จักกับ”งานบุญประจำปี”ที่แสดงถึงการเชื่อมความสามัคคีและร่วมพลังของลูกศิษย์สายวัดสามง่าม โดยในแต่ละปีจะมี”การจัดงานสามวาระ”ครับ จะวาระไหนบ้าง ผมจะพ่นให้ฟังล่ะครับ…

หลวงพ่อแย้ม มีนามเดิมว่า แย้ม เดชมาก เป็นบุตรของคุณพ่อแหยม คุณแม่วงษ์ เดชมาก ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๕๘ ณ.บ้านดอนตูม อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม อุปสมบท ณ วัดสามง่าม เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๘๑ โดยมีท่านพระครูอุตรการบดี (หลวงพ่อสุข) วัดห้วยจระเข้ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเต๋ คงทอง เจ้าอาวาสวัดสามง่าม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เพชร วัดสามง่าม เป็นพระอนุสาวนาจารย์..

ซึ่งในปัจจุบันเมื่อถึง”วันที่ ๕ มกราคมของทุกปี”ทางวัดสามง่ามจะจัดงานครบรอบวันเกิดให้กับหลวงพ่อแย้ม มาตลอดและถือว่าเป็น”งานบุญประจำปีวาระแรก”ของทางวัดครับ

หลังจากท่านสอบได้นักธรรมชั้นตรีแล้ว ท่านจึงได้ศึกษาเล่าเรียนด้านการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน การเจริญสมาธิจิต วิชาอาคม การจารอักขระเลขยันต์ต่างๆ จากหลวงพ่อเต๋ คงทอง ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ให้ความเมตตา ครอบครูถ่ายทอดวิชาความรู้ ให้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์..

“หลวงพ่อเต๋ ท่านสอนวิชาแบบปากต่อปาก คือท่านจะบอกแล้วให้เราจำ จำได้มากเท่าไหร่ก็ได้มากเท่านั้น ท่านว่าคนที่จะเรียนวิชาพวกนี้ได้ต้องมีความพยายาม ตั้งใจที่จะเรียนรู้..”

จะว่าไปแล้วคนในยุคสมัยโบราณมักจะมีการถ่ายทอดวิชาแบบเก่า คือ”การสอนกันแบบบอกเล่าแล้วไปจำกันเอาเอง” อาจจะเป็นเพราะสมัยนั้นหนังสือหายาก ยิ่งเป็นบ้านดอนตูมด้วยแล้วไม่ต้องพูดถึงหรอกครับจากตามคำบอกเล่าของหลวงพ่อแย้ม สภาพของพื้นที่เต็มไปด้วยไร่อ้อย ท้องนา และเข้าลักษณะของคำว่า “ไกลปืนเที่ยง..”

แต่สำหรับหลวงพ่อเต๋แล้ว เหตุผลหลักคือท่านกลัวว่าหากบันทึกไว้คนที่ไม่ดีได้ไปครอบครอง จะนำไปใช้ในทางที่ไม่ดี..ซึ่งกระบวนการเรียนรู้โดยวิธีการแบบนี้ เราเรียกว่า “มุขปาฐะ..” ว่ากันว่าแม้แต่ “พระไตรปิฏก” ก็ใช้วิธีการจำมาแบบ”มุขปาฐะ”ตัวอย่างเช่นการสวดมนต์ไปพร้อมๆกัน เท่ากับเป็นการสอบทานกันไปในตัว ท้องที่ตำบลสามง่ามในสมัยก่อนเป็นท้องที่ที่ห่างไกลความเจริญมาก คนในสมัยนั้นได้รับการศึกษาเพียงอ่านออกเขียนได้เท่านั้น และโดยส่วนมากก็จะศึกษากับพระอาจารย์ตามวัด จะว่าไปแล้วคำว่า “สังคมชนบท” มักจะผูกพันกับคำว่า “ศาสนา” ดังนั้นจึงไม่เกินเลยความเป็นจริงที่ว่า “วัด..” คือที่พึ่งทางใจของชาวบ้านทุกเรื่อง และก็ไม่แปลกที่สมภารเจ้าวัด จะเป็นผู้ที่บรรเทาทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจของทุกคน

“สมัยนั้นยังไม่มีหมอ ไม่มีโรงพยาบาล ชาวบ้านก็จะมาให้หลวงพ่อเต๋ รักษาให้ อาตมาได้เรียนวิชาแรกก็คือการเป็น”หมอยารักษาโรค” ใช้พวกสมุนไพรต่างๆ วิชารักษาโรคเป็นวิชาที่จำเป็นต้องเรียนไว้เพื่อเป็นที่พึ่งของญาติโยม…”

เล่าถึงตอนนี้….อยากจะขอแนะนำเพื่อนๆ ให้ทราบถึงประวัติของหลวงพ่อเต๋ คงทอง อาจารย์ของหลวงพ่อแย้ม จะว่าไปแล้วหลวงพ่อเต๋ กับหลวงพ่อแย้มถือว่าเป็นพระคู่บารมีกันเลยทีเดียวหลวงพ่อแย้มท่านสามารถจดจำรายละเอียดในชีวิตของหลวงพ่อเต๋ได้มากกว่าที่ท่านจะจำเรื่องของตัวเอง โดยเฉพาะกับเหตุการณ์สำคัญๆในชีวิตหลวงพ่อเต๋ ท่านจะจำได้อย่างแม่นยำมาก สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเป็นการยืนยันให้เห็นว่าท่านรักและใส่ใจในตัวของหลวงพ่อเต๋ ผู้เป็นพระอาจารย์มากแค่ไหน หากแต่ว่ามันยังแสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อแย้ม โชคดีเพียงใดที่ได้หลวงพ่อเต๋ มาเป็นครูบาอาจารย์..

“เสียงลือเสียงเล่าอ้าง พรรณนา

คุณแห่งพระสังฆา ยิ่งล้น

คุณหลวงพ่อเต๋พา เจริญสุข

ยกถิ่นเมืองตูมพ้น แน่แท้เมืองทอง..”

หลวงพ่อเต๋ คงทอง ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ทีมีชื่อเสียงของจังหวัดนครปฐมและเกจิอมตะองค์หนึ่งของเมืองไทย ครูบาอาจารย์ของท่านองค์แรกคือ “หลวงพ่อแดง” ซึ่งมีศักดิ์เป็น “หลวงลุง” ของท่านและเป็นพระเถระที่มีความเชี่ยวชาญในทางคาถาอาคม เมตตา มหานิยม หลังจากหลวงพ่อแดงถึงแก่มรณภาพ

หลวงพ่อเต๋ ท่านได้เดินทางไปศึกษาวิชาอาคมกับ “หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก..” ท่านใช้เวลากว่าแปดปีในการศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่อทา ครั้งเมื่อสิ้นบุญหลวงพ่อทา ท่านได้เดินทางไปขอเรียนวิชากับ”หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง”จนกระทั่งหลวงพ่อแช่มท่านมรณภาพลง…

“ยกเทียบเปรียบเทพเจ้า ดอนตูม

ด้วยสักการภาคภูมิ ทั่วหล้า

จิตหลวงพ่อฟักฟูม กอบก่อ เกิดเมือง

สามง่ามงามเจิดจ้า แจ่มฟ้านาคร…”

หลวงพ่อเต๋ คงทอง ท่านจึงได้เดินธุดงค์ไปตามถ้ำและป่าเขา จนท่านได้พบกับ “สมณพราหมณ์เขมร” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในคาถาอาคมและไสยเวทย์มาก สมณพราหมณ์ท่านนี้อดีตเคยเป็นแม่ทัพเขมรแต่ได้ลาออกจากราชการในสมัยที่ฝรั่งเศสยึดครองอินโดจีน ท่านจึงมาบวชเป็นพราหมณ์ถือศีลอยู่ที่”ยอดเขาตะลุง”

หลังจากหลวงพ่อเต๋ ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมและสามารถทำจนเชี่ยวชาญแล้ว ท่านจึงขอลาอาจารย์กลับมาวัดสามง่าม ท่านสมณพราหมณ์ได้มอบตำราและ “ฤษีปู่ครู” ให้หลวงพ่อเต๋ ซึ่งหลวงพ่อเต๋ได้นำกลับมาไว้ที่วัดสามง่ามและจัดให้มีพิธีไหว้ครูบูชา “ฤษีปู่ครู” ทุกปีและมีการจัดงานต่อเนื่องมาตลอดจนถึงทุกวันนี้..

ปัจจุบันทางวัดสามง่ามได้จัดให้มี “พิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดีแรก เดือนห้าไทย…” ซึ่งก็คือ”งานบุญประจำปีวาระที่สอง”ของทางวัดสามง่ามแห่งนี้ครับ

“ธรรมานุภาพนี้ แผ่สุด

ควรที่เราชาวพุทธ มั่นไว้

คุณหลวงพ่อเต๋ดุจ องค์เทพเทวา

จิตมั่นมโนไซร์ แซ่ซ้องสาธุการ…”

“หลวงพ่อเต๋ ท่านเป็นพระที่มีเมตตาจิตมากๆ คาถาอาคมของท่านใช้เมตตาจิตเป็นที่ตั้ง…

อาตมาเห็นคนที่มีปัญหาทุกข์ร้อนเมื่อเข้าไปกราบท่านจะเห็นใบหน้าของหลวงพ่อยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ ไม่ว่าใครจะมีปัญหาอะไรหากได้พบท่านแล้วจะกลับบ้านด้วยความสบายใจและมักจะสัมฤทธิ์ผลตามที่ปรารถนา…”

“นอกจากท่านจะมีเมตตาจิตกับคนแล้ว ท่านก็ยังมีเมตตาจิตกับสัตว์เลี้ยงที่ท่านเลี้ยงไว้หลายชนิด เช่นสุนัข แมว เม่น แพะ ชะนี เมื่อท่านฉันอาหาร ท่านก็จะนึกถึงสัตว์เหล่านี้ด้วยเสมอ….”

“เสียงลือเสียงเล่าอ้าง พรรณนา

สุดที่จะจำนรรจา กล่าวอ้าง

ผลบุญท่านทำมา มากยิ่ง จริงเฮย

หลวงพ่อเต๋ท่านสร้าง ยิ่งฟ้าสง่างาม…”

วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๒๔ เวลาเที่ยงคืนเศษ มีประกาศจากวัดสามง่ามว่าหลวงพ่อเต๋ คงทอง มรณภาพแล้ว หลังจากที่ท่านได้เข้าออกโรงพยาบาลมาหลายปี บัดนี้อำเภอดอนตูมได้สูญเสียผู้มีพระคุณที่ยิ่งใหญ่ของอำเภอไปแล้ว..

ร่างกายของท่านได้เก็บไว้ในโลงประดับมุกและมีรูปเหมือนของท่านตั้งอยู่ที่มณฑป หลวงพ่อเต๋ ซึ่งทางวัดสามง่ามได้จัดให้มีงานครบรอบวันมรณภาพของท่านใน”วันที่ ๒๕ ธันวาคม” ของทุกปีและการจัดงานในวันนี้ถือว่าเป็น”งานบุญประจำปีวาระที่สาม”ของทางวัดครับ

จากเรื่องราวต่างๆที่ผมเกริ่นกล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเพียงเป็นเพียงข้อมูลอันน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องราวตำนานอันมีชีวิตของหลวงพ่อเต๋ คงทองอดีตเจ้าอาวาสวัดสามง่าม เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คืออยากบอกถึงงานบุญประจำปีทั้งสามวาระ ว่ามีความสำคัญ และมีที่มาที่ไปอย่างไร..

อีกอย่างหนึ่งก็ต้องการชี้ให้เห็นถึงความมี “ศรัทธา”ที่ญาติโยมและลูกศิษย์ของสายวัดสามง่าม ยึดถือและปฏิบัติติดต่อกันมายาวนาน ซึ่งหากเพื่อนๆ ท่านใดสนใจก็สามารถแวะเวียนเข้าไปร่วมงานบุญของวัดสามง่ามได้ตามที่ผมได้บอกเล่าเอาไว้

“เรื่องราวค่อนข้างยาวเมื่อเทียบกับเรื่องเล่าที่ค่อนข้างสั้น”

เอาเป็นว่าถึงตอนนี้ขออนุญาตย้ายกรอบความคิดของเพื่อนๆ มาที่หลวงพ่อแย้ม กันต่อครับ

เมื่อเอ่ยชื่อของ “วัดสามง่าม” สิ่งแรกที่กลุ่มผู้มีคตินิยมเรื่องไสยศาสตร์นึกถึงคือการเป็นวัดที่มีเครื่องรางของขลัง อันอุดมไปด้วยประสบการณ์ ซึ่งเครื่องรางที่มีชื่อเสียงของทางวัดสามง่าม คือ “ตุ๊กตาทอง(กุมารทอง) ตะกรุดสามหูและตะกรุดมหารูด…”

“กุมารทองของที่นี่ ทำมาจากดินผสมว่าน บรรจุเลขยันต์และคาถาอาคมพิเศษลงไป..ฯลฯ ลักษณะที่เด่นชัดคือกุมารจะเป็น”กุมารทรงนั่งและไว้ผมจุกกับตัดผมทรงลานบิน”..”

เป็นที่เชื่อกันว่า “ตัวด้วง” เป็นเครื่องราวของขลังตัวแรกของมนุษย์ชาติ มีกำเนิดมาจากชาวอียิปต์ เพราะชาวอียิปต์โบราณนับถือตัวด้วงว่าเป็นพระผู้สร้างหรือพระผู้ให้ชีวิต..ซึ่งเครื่องรางของขลังคือ “ตัวด้วง” จะถูกบรรจุไว้ในห้องของ “ปิรามิด” อันเป็นสถานที่เก็บพระศพของ “ฟาโรห์..”

สำหรับในเมืองไทยของเรา เครื่องรางของขลังที่คนไทยเราสร้างขึ้นก็มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง จนเป็นคำกล่าวในหมู่นักเล่นเครื่องรางของขลังกันเลยว่า..

”ลิง หลวงพ่อดิ่ง สิงห์ หลวงพ่อเดิม เสือ หลวงพ่อปาน หนุมาน หลวงพ่อสุน ฯลฯ และ ตุ๊กตาทองหรือกุมารทอง ต้องหลวงพ่อเต๋….”

ซึ่งสรรพคุณหรือคุณภาพของตุ๊กตาทอง มีบอกรายละเอียดไว้ตามนี้ครับ…

“ตุ๊กตาทอง (กุมารทอง) มีตำราการสร้างที่หลวงพ่อเต๋ได้มาจากหลวงลุงแดง ประกอบด้วยดินโปร่งและดินอื่นๆ มาปั้นตุ๊กตาทอง(กุมารทอง) แจกชาวบ้าน นำไปเป็นเครื่องคุ้มครอง เพราะดินเช่นนี้มีเทวดารักษา จึงมีความศักดิ์สิทธิ์..”

“เมื่อหลวงพ่อปั้นแล้วก็เอาวางนอนไว้ แล้วปลุกอาคมให้ลุกขึ้นเองตามตำราที่บอกไว้ ตุ๊กตาทองนี้นิยมมาก ได้ไปแล้วมีเรื่องเล่าอัศจรรย์ ต่อมาทำรายได้มหาศาล สามารถสร้างอะไรสำเร็จทุกอย่าง และเป็นที่ศรัทธาอย่างสูงของประชาชน…”

ตามความเชื่อของชาวพุทธ เชื่อกันว่าธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบหรือที่เรียกว่า “ตรัสรู้” จนได้พระนามว่า “สัมมาสัมพุทธะ” ซึ่งแปลว่า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองนั้น ได้แก่”ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ” หรือที่เราเรียกกันว่า “อริยสัจ ๔..”

“คนที่มาบูชากุมารทอง อาตมาจะบอกพวกเขาเสมอว่ามันเป็นเรื่องของ “อนุสติ”..

ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยง เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันเป็นเรื่องธรรมดา ความไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ตาย เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบแล้วว่า เรื่องเหล่านี้มนุษย์ไม่สามารถหลบหนีได้.. ”

จะว่าไปแล้วเครื่องรางที่เราเห็นในทุกวันนี้มีอยู่หลายประเภท หลายชนิดให้เลือกบูชาเอาตามลักษณะความชอบส่วนบุคคล

บางชนิดมีกรรมวิธีการสร้างแบบง่ายๆ ธรรมดาๆ แต่บางชนิดมี”ความพิสดารในกรรมวิธีการสร้างมากขึ้น” นัยว่าเพื่อให้เครื่องรางนั้นสามารถปรากฏเป็นรูปเป็นร่างได้

ร่วมไปถึงสิ่งที่เราเรียกว่า “บุญฤทธิ์” และ “อิทธิฤทธิ์” โดยใช้คาถาอาคมกำกับให้สามารถเรียก “จิต…” แห่งเครื่องรางนั้นๆให้มาคุ้มครองตัวผู้บูชาได้ “ตุ๊กตาทองหรือกุมารทอง” ตำรับวัดสามง่ามก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องปลุกเสกให้สำเร็จจนสามารถให้เกิดฤทธิ์ได้…

“การปลุกเสกวัตถุมงคล ต้องแยกกันปลุกเสก จะเสกรวมกันไม่ได้ เพราะวัตถุมงคลแต่ละอย่างจะมีพุทธคุณต่างกัน ดังนั้นการปลุกเสกจึงไม่เหมือนกัน เช่นตุ๊กตาทองเป็นวัตถุมงคลที่ต้องว่ากันไปทางเมตตามหานิยม ทำมาค้าขาย…”

ถึงตอนนี้พวกเราหันไปมองดูตุ๊กตาทองหรือพ่อกุมารทองที่วางเรียงรายอยู่บริเวณหน้าหิ้งบูชาพระที่หลวงพ่อแย้มท่านใช้ปลุกเสก นี่ถ้าเป็นคนต่างชาติเขาคงคิดว่าตุ๊กตาพวกนี้เป็น ”ตุ๊กตาโอท็อปหรือของพื้นบ้าน” ถ้าไปถามชาวบ้านดอนตูมเขาว่าสิ่งนั้นแหละคือ “ของขลังที่มีสรรพคุณเรียกลูกค้าชั้นดี”

และถือเป็นความภาคภูมิใจของคนบ้านดอนตูมเลยทีเดียว..

หากเพื่อนๆได้มีโอกาสมาเที่ยวแถวนี้ลองดูตามร้านค้าเถอะครับ เป็นได้เห็น ”โอท็อปขมังเวทย์ตำรับวัดสามง่าม” วางบูชานัยว่าเพื่อเรียกลูกค้าเข้าร้าน ถึงของขลังชิ้นนี้จะไม่ได้ก้าวไกลไปในตลาดโลก แต่ก็ก้าวเข้าไปในหัวใจของคนตลาดดอนตูมเชียวครับ..

“ทุกวันนี้คนเขาเห็นว่ากุมารทองของวัดนี้ดี มีประสบการณ์ ก็เลยเอาไปออกกันบ้างซึ่งโดยส่วนมากแล้วมักจะรู้กันแค่เพียงส่วนผสม แต่ไม่รู้วิธีการปลุกเสก

มีหลายที่เหมือนกันที่เอาชื่อวัดหรือชื่ออาตมาไปหลอกลวงญาติโยม ทีอาตมากล้าพูดเพราะว่าเคยมีลูกศิษย์นำมาให้ดูที่วัด อาตมาเห็นแล้วบอกได้เลยว่ามันไม่ใช่…”

นั่งฟังแล้วรู้สึกเสียวสันหลังวูบวาบเลยครับ สมัยนี้เรื่องหลอกลวงมีอยู่ทุกวงการแต่ถ้าคิดกลับอีกมุมมอง มันก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ เพราะการกระทำของปลอมออกมาแบบนี้เท่ากับเป็นการเพิ่มดีกรีของวัดสามง่ามแหละครับ..

ปรากฏการณ์ของอิทธิฤทธิ์ในทางไสยศาสตร์ ผมเชื่อว่าเพื่อนๆคงพอจะเคยทราบกันมาบ้างแล้วว่า “ปืนยิงไม่ออก” หรือ “ออกแต่ไม่ถูก” เราเรียกว่า “มหาอุตม์” …

แต่ถ้าบังเอิญ”ยิงถูกแต่ไม่เข้า” เขาเรียกกันว่า “คงกระพัน..” ซึ่งปรากฏการณ์ทั้งสองอย่างนี้มันก็แอบอิงกันซะจนบางทีเราเองก็ยังแยกไม่ออก…

“อาตมาทำตะกรุดสืบทอดมาจากหลวงพ่อเต๋ ถ้าเป็นการเขียนยันต์ลงบนกระดาษข่อย จะเรียกว่า ตะกรุดสามหู แต่ถ้าเขียนลงบนแผ่นทองแดงเรียกว่า ตะกรุดมหารูด…”

“การเอาไปใช้นั้นไม่ต่างกัน เพราะตัวคาถาที่เขียนลงในตะกรุดสามหู ก็เป็นคาถาตัวเดียวกับตะกรุดมหารูด…โดยยันต์ที่ใช้ลงคือยันต์พระเจ้าห้าพระองค์และยันต์มหาอุด..”

คำโบราณกล่าวไว้ว่า “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” ถ้าจะเข้าเมืองต้อง “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม…”

“ตามตำราระบุไว้ว่า ถ้าจะต่อสู้ให้เอาไว้ข้างหน้าจะได้ชนะ สู้ไม่ได้ต้องวิ่งหนีท่านว่าให้เลื่อนเอาไว้ข้างหลัง ถ้าจะเมตตาขมังต้องเลือนไว้ซ้ายหรือขวา คนรัก เจ้านายไม่ชิงชัง..”

ว่ากันว่า “ขลังหรือไม่ขลังอยู่ที่ใจ” แต่ “คงไม่ใช่และใช้ไม่ได้”กับวัตถุมงคลของหลวงพ่อแย้ม ถ้าขาดสิ่งนี้ครับ..

“วัตถุมงคลของอาตมาจะใช้ได้ดีหรือไม่ดี จะขลังหรือไม่ขลัง ไม่ต้องไปดูที่ไหน ดูที่ตัวเราเอง ดูที่ตัวคนใช้

หากประพฤติสิ่งเลวๆ ของก็ไม่คุ้มครอง หากเราประพฤติดี วัตถุมงคลเหล่านั้นก็จะส่งผลให้ความคุ้มครอง สิ่งสำคัญคือหมั่นรักษาศีล ๕ เอาไว้..”

“ตอนที่อาตมาเรียนกับหลวงพ่อเต๋ อาตมาไม่เคยเห็นหลวงพ่อท่านบอกกับใครเลยว่า เอาไปใช้แล้วจะดีอย่างไร ท่านบอกแต่ว่า..

ใครอยากได้ก็มาเอาไป และเมื่อมีใครเอาไปใช้แล้วขอให้มีเมตตามีศีลห้า อย่าด่าพ่อล่อแม่ ถ้าละในสิ่งเหล่านี้ได้ของถึงจะขลัง…ท่านว่าทองคำจะไปอยู่ที่ไหนก็ยังเป็นทองคำ…..”

ชาติเสือไม่ขอเนื้อใครกิน…ทฤษฏีขั้นพื้นฐานที่บอกถึงความเชี่ยวชาญของคนทำ…

“อาตมาจะปลุกเสกเป็นไตรมาส วัตถุมงคลน่ะปลุกเสกคนเดียวก็พอ ไม่จำเป็นต้องปลุกเสกหมู่หรอก เพราะของจะดีหรือไม่ดีสุดท้ายมันก็ต้องไปอยู่กับที่คนใช้นั่นเอง…”

เป็นความจริงครับที่ว่า…”การดำรงชีวิตอยู่นี้มันยาก” เพราะเราต้องผจญภัยกับสิ่งต่าง ๆ รอบข้างตัวเรา ซึ่งสิ่งรอบข้างภายนอกก็เช่น รูป รส กลิ่น เสียง ฯลฯ ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

นอกจากตัวเราต้อง “บริหารเหตุปัจจัยภายนอก” แล้ว เรายังต้อง”บริหารเหตุปัจจัยภายในตนเอง” อีกอย่างหนึ่ง

และด้วยเหตุนี้ “การรู้เท่าทันตนเอง” จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเมื่อรู้เท่าทันแล้ว เราก็จะเป็นคนที่มีความสามารถและถึงพร้อมกับการเป็น “ผู้มีศีลและมีธรรม….”

“ทุกวันนี้อาตมาบอกกับญาติโยมเสมอ ให้ทำตัวดีดี คิดดี ทำดี ให้มีศีล สมาธิ ปัญญา….”

“ให้ทุกคนล่ะซึ่งความโลภ เข้าใจในความเป็นจริงว่า สังขาร ไม่ใช่ของเรา ไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่น เนื่องจากมันเป็นความหลง ทุกคนควรรู้เท่าทันสังขารตัวเอง ทุกอย่างเราห้ามมันไม่ได้ ฟันจะหัก ผมจะหงอก เพราะมันเป็นเรื่องของ อนิจจัง…”

จะว่าไปแล้วผมคิดว่าการนับถือศาสนาพุทธของสังคมไทยในปัจจุบันแบ่งออกเป็นสามประเภท คือ ”นับถือในพระพุทธศาสนาและเชื่อถือในเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์” พวกที่สองคือ ”นับถือพระพุทธศาสนา เชื่อมั่นในธรรมะและมองว่าวัตถุมงคลเป็นเรื่องที่ไร้สาระ” พวกที่สามก็คงจะเป็นอย่างพวกผมคือ “นับถือพระและเชื่อมั่นในทั้งสองฝ่าย….”

พวกที่เชื่อมั่นในธรรมะและมองว่าวัตถุมงคลค่อนข้างจะไร้สาระ ก็จะติติงว่าอีกสองกลุ่มที่เหลือคงจะ ”ศึกษาธรรมะน้อยเกินไป..” ทำให้หลงเข้าไปในส่วนของปาฏิหาริย์…

แต่ผมก็เคยได้รับฟังจากเพื่อนๆว่า พวกเขาก็เป็น ”ส่วนหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญ” วัตถุมงคลที่สร้างออกมาก็เป็นเหมือน”การสร้างความศรัทธา” ให้ผู้คนหันเข้ามาร่วมกันสืบทอดพระพุทธศาสนา…

จะอย่างไรก็แล้วแต่เรื่องราวของ “ตุ๊กตาทอง(กุมารทอง)..” หรือ”ตะกรุด” ของหลวงพ่อแย้ม สำหรับพวกผมแล้วหาใช่เป็นเพียง”วัตถุมงคลอันทรงคุณค่า”เท่านั้น..หากแต่เป็น

”ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการกลั่นกรองของพระเกจิอาจารย์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ที่ได้ถ่ายทอดมาเป็นรูปธรรม”

และนอกเหนือกว่านั้น..วัตถุมงคลและเครื่องรางเหล่านี้ยังเป็นเสมือน ”จดหมายเหตุ” ที่บันทึกเรื่องราวในอดีตที่สำคัญยิ่งอันสะท้อนให้พวกเราได้เห็นถึง…

”ความเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมอันเก่าแก่” ของ”สยามประเทศ”แห่งนี้ว่า..”มันมีมายาวนานแล้ว”….สวัสดีครับ

ขอบพระคุณ พี่ๆลูกศิษย์ของหลวงพ่อแย้มที่ได้เอื้อเฟื้อด้านข้อมูลและการอำนวยความสะดวกต่างๆ คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย สำหรับรูปภาพ เพื่อนต่อ กับคำแนะนำ และคุณสมบูรณ์ ร้านนายอ้อ สระบุรี ที่ให้กำลังใจเสมอมา…

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : oknation
ขอขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : TNews
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: