584. เมื่อหลวงพ่อสุ่นสอนวิชาหลวงพ่อปาน

วันหนึ่งหลวงพ่อสุ่นกำลังรับแขกอยู่ แขกของหลวงพ่อสุ่นก็คือคนไข้ เดินทางมาให้ท่านรักษาโรค
วันนั้น ปรากฏว่าน้ำในตุ่มไม่มี น้ำในตุ่มที่สำหรับทำน้ำมนต์น่ะไม่มีแล้ว หลวงพ่อสุ่นท่านก็เรียกหลวงพ่อปานเข้าไป ซึ่งตอนนั้นหลวงพ่อปานกำลังเป็นนาค หลวงพ่อสุน สั่งว่า “ปานเอ๊ย ปานมารดน้ำมนต์ให้คนไข้ทีเถอะ”

หลวงพ่อปานท่านเดินเข้าไป แล้วท่านก็กราบ แล้วกราบเรียนหลวงพ่อสุ่นว่า
“น้ำในตุ่มไม่มีขอรับ เมื่อกี้ผมไปดูแล้ว ประเดี๋ยวผมจะไปตักน้ำมาใส่ตุ่มก่อน”

ท่านก็ลุกขึ้นคว้าหาบคว้าถัง ๒ ลูก ใส่คานจะไปหาบน้ำจากท่าน้ำ หลวงพ่อสุ่นท่านก็โบกมือพูดว่า

“ปานเอ๊ย ไม่ต้องตักหรอกลูกเอ๊ย น้ำพ่อตักมาแล้ว พ่อตักใส่ตุ่มเต็มแล้ว”

หลวงพ่อปานท่านเล่าว่า ท่านเพิ่งเข้าไปดูอยู่ตะกี้นี้ ประเดี๋ยวเดียว เห็นอยู่แล้วว่าน้ำในตุ่มมันไม่มี พอแขกมา ก็ย่องไปดูน้ำในตุ่ม เห็นว่าไม่มี ก็เตรียมหาบเอาไว้ คิดว่า พอท่านสั่ง จะได้ลงไปตักทันที เพราะรดน้ำมนต์นี่ ตอนหลวงพ่อปานเป็นนาค ดูจะเป็นภาระเป็นตำแหน่งจะต้องทำเป็นหมอรดน้ำมนต์ แลเห็นอยู่แล้วว่าน้ำไม่มี แล้วท่านว่าน้ำมี ก็เลยเดินไปดู ก็ปรากฏว่าน้ำเต็มตุ่ม ก็ชักแปลกใจมากๆ อีตอนนี้น้ำเต็มตุ่มแล้ว

หลวงพ่อสุ่นบอกว่า “พ่อตักไว้แล้ว ตักเมื่อกี้นี้เอง”

หลวงพ่อปานเล่าว่า “เราก็นั่งดูท่านอยู่ ไม่เห็นท่านไปไหน ท่านนั่งอยู่ตรงนั้น คุยอยู่กับแขก ฉันก็นั่งอยู่ไม่ไกลนัก เวลาท่านบอกว่าตักน้ำไม่เห็นท่านลุกไปไหน ปรากฏว่าน้ำมี อันนี้แปลกใจ แล้ววันนั้นก็รดน้ำมนต์กันไปประมาณ ๕๐ คน น้ำในตุ่มยุบลงไปไม่ถึงคืบ ตุ่มลูกนั้นไม่โต เป็นตุ่มเล็กๆ หากจะรดกันจริง ๔ คนหมดตุ่มกระถางเล็กๆ แต่วันนั้นแขกตั้ง ๕๐ คน ยุบลงไปไม่ถึงคืบ เป็นเรื่องอัศจรรย์”
พอแขกไปหมดแล้ว หลวงพ่อสุ่นก็เรียกหลวงพ่อปานเข้าไป บอกว่า

“ปานเอ๊ย เอ็งแปลกใจหรือลูก แปลกใจหรือว่าน้ำในตุ่มมันมาได้อย่างไร”

หลวงพ่อปานบอกว่า “แปลกใจขอรับ”
ท่านก็บอกว่า “ไม่เป็นไรปาน เรื่องนี้เป็นเรื่องของพระนะลูกนะ พระที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนานี่ ถ้ามีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าจริงๆ ทำอะไรก็ได้นะ อ้ายเรื่องน้ำนี่ไม่ต้องเดินไปตักก็ได้ ที่พ่อบอกว่าตักน่ะ พ่อเอาใจตัก”
แล้วท่านก็ถามว่า “ปานอยากจะได้ไหมคาถาตักน้ำนี่”
หลวงพ่อปานบอกว่า “อยากได้”

“เรื่องอยากได้คาถาตักน้ำเป็นเรื่องไม่อัศจรรย์ แล้วปานอยากจะเรียนหมออย่างหลวงพ่อไหมล่ะ เรียนหมอนี่มันดีนาลูกนา เราได้มีโอกาสสงเคราะห์คน หมอของเรานี่เวลาจะยกครูต้องใช้เงิน ๖ บาท หัวหมูบายศรีซ้ายขวา แต่เวลาจะรักษาเขาจะเรียกเขาไม่ได้นะ อ้ายเงิน ๖ บาทนี่ พอปีหนึ่งเรายกครูครั้งเดียว เราหาของเราเองเราหาได้ ต้องรักษาด้วยอำนาจเมตตาจิตนะ เธอจะทำได้ไหมเล่า”
หลวงพ่อปานท่านบอกว่าท่านรักอยู่แล้ว บอกว่า “ทำได้ขอรับ”

หลวงพ่อสุ่นก็หัวเราะ ก็เลยบอกว่า

“พ่อรู้ว่าเจ้าต้องการละเจ้าทำได้ ปาน เอ็งน่ะมีคนเดียวนะ พ่อบวชพระมาหลายร้อยองค์แล้ว วิชาความรู้ที่พ่อมีอยู่นี่พ่อไม่สามารถจะถ่ายทอดให้ใครได้หมด มีเอ็งคนเดียวเท่านั้นที่พ่อคิดจะถ่ายทอดให้ได้ ตั้งแต่เอ็งยังเป็นเด็กๆ ที่พ่อเอ็งพามาหา พอมองเห็นหน้าแล้ว พ่อคิดว่าเอ็งพอบวชแล้วพ่อจะต้องเอาเอ็งมาอยู่ด้วย มีคนเดียวที่พอจะถ่ายทอดความรู้ความสามารถที่พ่อมีอยู่ได้”
หลวงพ่อปานปลื้มใจ หลวงพ่อสุ่นก็ว่า

“เอายังงี้ก็แล้วกันนะ ลูกปานนะ ก่อนที่จะเรียนหมอ เราก็ขึ้นต้นทำใจกันเสียก่อน เพราะว่าหมอของเรานี่น่ะ เราใช้กำลังใจเป็นสำคัญ เราไม่ได้ใช้วัตถุว่าพวกพระนี่ไม่มีทรัพย์ไม่มีสิน ไม่มีเงินมาทองมาซื้อเครื่องไม้เครื่องมือเหมือนหมอหลวงเขา หมอหลวงเขามีเงินงบประมาณรัฐบาลให้ อ้ายเรานี่มันเงินชาวบ้าน ชาวบ้านก็เป็นคนจน เราจะไปกะเกณฑ์ว่าคนนั้นเอาเงินมาเท่านั้น คนนี้เอาเงินมาเท่านี้ แล้วก็ไม่มีใครสามารถหาเอามาให้ได้หรอก คือเราต้องใช้ทางใจ พระพุทธเจ้าท่านสอนกำลังทางใจไว้ ถ้าเรามีกำลังทางใจเสียอย่างเดียวนะ อะไรๆ เราทำได้หมด”

แล้วท่านก็ถามอีก “ปานเอ๊ย เอ็งเห็นอ้ายพวกทำโบสถ์ไหม”

อีตอนที่หลวงพ่อปานเข้าไปเป็นนาคน่ะ ช่างกำลังทำโบสถ์ จวนจะเสร็จอยู่แล้ว หลวงพ่อปานพบเขาเหมือนกัน ท่านก็บอกว่า “เห็น”

“เอ็งรู้ไหมว่าพวกทำโบสถ์มันกินปลาที่ไหน”
“เขากินปลาในสระขอรับ”

หลวงพ่อปานถามว่า “เขากินปลาในสระไม่บาปหรือ”

“ไม่บาปหรอก” หลวงพ่อสุ่นท่านว่าอย่างงั้น บอกว่าไม่บาป

“ก็พ่อเอาใบไม้ทำปลาให้มันกิน ทีแรกมันซื้อหมูกิน พ่อสงสารมัน เลยเอาใบไม้ทำปลาไว้ในสระให้มันกินกัน มันกินกันจนขี้เขียวเลย อ้ายปลาประเภทนี้มันเป็นปลาที่พ่อเสกใบไม้ให้มันเกิดขึ้น กินยังไงมันก็ไม่บาป รสชาติมันอร่อยเสียยิ่งกว่าปลาธรรมดาเสียอีก เออเอ็งอยากได้ไหมคาถาบทนี้”

หลวงพ่อปานก็บอกว่า “อยากได้”
ท่านเลยบอกว่า “ไม่เป็นไร พ่อให้หมด พ่อบอกแล้วนี่ ไม่มีอะไรที่พ่อจะหวงลูก ไม่มีอะไรที่จะกีดกัน สิ่งไรที่พ่อมีอยู่พ่อให้หมด เอายังงี้ก็แล้วกัน ก่อนจะทำอย่างนั้นเราต้องเริ่มต้นวางพื้นฐานกันเสียก่อน”
หลวงพ่อปานก็ถามว่า “วางพื้นฐานอย่างไร”

“วางพื้นฐานด้านกำลังใจซิ เราต้องสร้างกำลังใจกันเสียก่อนถึงจะเป็นหมอได้ เสกใบไม้ให้ปลาก็ได้ ตักน้ำด้วยใจก็ได้ เอ็งเอาไหมล่ะ เอาเทียนหนักบาทมา ๕ เล่ม ธูป ๕ ดอก ดอกไม้ ๕ กระทง ข้าวตอก ๕ กระทง พ่อจะให้เรียน เรียนวิชาหมอกัน”

หลวงพ่อสุ่นท่านมีความฉลาด เรียกได้ว่าลอกแบบฉบับของพระพุทธเจ้า ไม่หักล้างน้ำใจคน ในเมื่อหลวงพ่อปานชอบฤทธิ์ชอบเดช ท่านก็สอนกรรมฐานให้ แต่ท่านไม่บอกว่าเป็นกรรมฐาน บอกว่าเป็นพื้นฐานของความเป็นหมอ เป็นพื้นฐานของความเป็นผู้มีฤทธิ์

หลวงพ่อสุ่นเริ่มสอนด้วยพระกรรมฐาน พอถึงตอนกลางคืน หลวงพ่อปานเข้าไปหาท่าน ท่านก็ให้สมาทานพระกรรมฐาน หลวงพ่อปานบอกว่า ท่านก็สอนกรรมฐาน ๔๐ นี่แหละครบถ้วน เมื่อหลวงพ่อปานเข้าไปหาหลวงพ่อสุ่น ท่านก็สอนพระกรรมฐานในขั้นต้น

ท่านสอนให้ละนิวรณ์ ๕ ประการ กามฉันทะ ความฉันทะความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสในเพศตรงกันข้ามหรือว่าของตัวเอง แล้วก็พยาบาท การจองล้างจองผลาญ การง่วงเหงาหาวนอน มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน นอกแบบนอกแผน สงสัยในผลของการปฏิบัติความดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ท่านเรียกกันว่านิวรณ์ เป็นเครื่องกันความดี สิ่งเหล่านี้ต้องระงับ ต่อไปก็รักษาศีลให้บริสุทธิ์ มีพรหมวิหาร ๔ นี่แหละ

หลวงพ่อสุ่นสอนให้หลวงพ่อปานต้องทำอย่างนี้ เสร็จเรียบร้อยท่านบอกว่า

“ปานเอ๊ย ลูกปานเป็นคนดีมีความสามารถ เคยมีบุญวาสนาบารมีมาก เอาอย่างนี้นะ ขั้นแรก กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ากระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบริมท้อง หายใจออกกระทบท้อง กระทบหน้าอก กระทบฝีปาก ลมกระทบ ๓ ฐาน กำหนดให้ได้นะ พร้อมกันนั้น หายใจเข้าให้รู้กำหนดนึกถึงคำภาวนาว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ แล้วก็เพ่งรูปพระสักองค์หนึ่ง พระพุทธรูปองค์ไหนก็ได้ เพ่งรูปพระให้จำได้ นึกถึงรูปพระไปพร้อมกัน กับรู้ลมหายใจเข้าออกและภาวนา “

นี่เป็นการสอนกรรมฐานทีเดียว ๓ อย่าง คือว่า หนึ่ง อานาปานุสติกรรมฐาน รู้กำหนดลมหายใจเข้าออก อันทรงได้ถึงฌาน ๔ แล้ว คำว่าพุทโธเป็นเครื่องโยงใจ เป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน การเพ่งรูปพระเป็น กสิณ

เมื่อท่านสอนอย่างนั้นแล้ว หลวงพ่อปานก็มาทำตาม เวลาทำท่านเข้าไปในโบสถ์ เพราะพระในโบสถ์องค์ใหญ่ พระประธานเขาปั้นไว้ใหญ่ เห็นง่าย เห็นชัด ท่านไปนั่งทำในโบสถ์ ท่านบอกว่า ๗ วันเห็นชัด ๗ วันเท่านั้นแหละ

พอวันแรกก็จับพระได้ไรๆ พอวันที่ ๒ ที่ ๓ มองภาพพระได้ชัด พอวันที่ ๔ ที่ ๕ พระปรากฏชัด พอวันที่ ๗ พระมีสีแก้วเป็นประกายพฤกษ์ จะบังคับให้สูงก็ได้ต่ำก็ได้ ใหญ่ก็ได้ ตามใจชอบ อันนี้เป็นกสิณสำคัญจริงๆ เป็นตัวกสิณ ฝึกอยู่อย่างนั้นต่อไปอีก ๕-๖ วัน อารมณ์สบาย นึกถึงภาพพระเมื่อไรก็เห็นเมื่อนั้น จะเดินไปบิณฑบาต จะเดินไปกลางลานวัด จะกลับมาเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ นึกถึงภาพพระเมื่อไรก็เห็นเมื่อนั้น บังคับให้อยู่ข้างหน้าก็ได้ ให้อยู่ข้างหลังก็ได้ เห็นทางใจ คือว่าติดอยู่ในอารมณ์ พอสบายใจ

ถึงวันที่ ๑๐ หลวงพ่อสุ่นก็เรียกเข้าไปหา เมื่อเข้าไปหาก็ถามว่า

“ปานเอ๊ย พื้นฐานกำลังใจที่พ่อให้ไว้ทำได้หรือยังลูก”

หลวงพ่อปานก็บอกว่า “ทำได้แล้วขอรับ”
หลวงพ่อสุ่นก็ถามว่า “เจ้าเห็นพระเป็นสีประกายพฤกษ์แล้วใช่ไหม”

หลวงพ่อปานตกใจ บอก “เอนี่มันเรื่องอารมณ์จิตของเรา ท่านรู้ได้ยังไง” ก็นึกในใจพอสงสัย ท่านก็ยิ้มบอกว่า “ปานไม่ต้องสงสัย สิ่งใดก็ตามที่เจ้าทำได้พ่อต้องรู้ เพราะพ่อได้มาก่อน สิ่งที่ได้ก่อนพ่อต้องรู้ เจ้าทำทีหลัง ไม่ยังงั้นพ่อสอนเจ้าไม่ได้”

หลังจากนั้นไปท่านก็บอกว่า

“ปาน นี่ถึงที่สุดแล้วนะ ต่อไปนี้เราจะเปลี่ยนกันใหม่ อันนี้ได้เต็มที่แล้ว ได้เต็มที่แต่ต้องรักษาอารมณ์ไว้นะ อย่าให้สูญไป ของที่ได้ไว้แล้วอย่าให้สูญ ตอนนี้เรามาตั้งต้นกันใหม่ ตอนนี้ลูกปานจะเอาอะไรล่ะ ลูกจะเรียนอะไรต่อ จะเรียนพื้นฐานกำลังใจน่ะจะเรียนอะไรต่อ เรื่องเสกยา เสกน้ำมนต์ยังไม่ต้องเรียน เราสร้างกำลังใจกันก่อน”

หลวงพ่อปานท่านบอกว่า ท่านคิดอยู่เสมอเรื่องน้ำในตุ่ม ท่านคิดอยู่เสมอว่าอยากจะตักน้ำด้วยใจ หลวงพ่อสุ่นก็รู้ใจ ท่านบอกว่า “เธออยากได้วิชาตักน้ำด้วยใจใช่ไหม”
หลวงพ่อปานก็กราบเรียนท่านบอกว่า “ใช่ขอรับ”
ท่านบอกว่า “ได้ปาน พ่อตั้งใจไว้แล้ว มาเรียนวิชาตักน้ำกัน”

ท่านก็บอกว่า “ต่อแต่นี้ไปไม่ยากนะ อารมณ์เดิมที่ลูกทำมาแล้ว ที่พ่อสอนไปก่อน เราตั้งอารมณ์อย่างไหนเราก็ทำอย่างนั้น แต่ว่าวิธีที่เราจะทำวิชาตักน้ำ ก็เอาน้ำมาขันหนึ่งวางไว้ตรงหน้า ห่างออกไปสักศอกคืบ ลืมตามองดูน้ำแล้วก็หลับตานึกถึงภาพน้ำ ภาวนาว่า อาโปกสิณัง ว่าเท่านี้นะ แล้วก็ถ้าภาพน้ำมันหายไปละก็ ลืมตาดูใหม่ ใช้อารมณ์ตามเดิมนะ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก แต่ไม่ต้องภาวนาว่าพุทโธ ไม่ต้องนึกถึงภาพพระ นึกถึงภาพน้ำแทน ใช้คำภาวนาว่า อาโปกสิณัง แทนนะ หลวงพ่อปานก็รับคำ แล้วบอกว่าเจ้าไปทำในโบสถ์หรือในป่าช้าก็ได้”

หลวงพ่อปานก็ไปทำ ท่านบอกว่าท่านไปทำอยู่ ๒-๓ วัน ภาพน้ำปรากฏเป็นสีแก้วประกายพฤกษ์ ก็ปรากฏว่าเป็นกสิณเต็มที่

จากหนังสือประวัติหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก :

ตำนานเล่าขานพระผู้ทรงฌานอภิญญา ครูบาอาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคม

นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: