894. พระเถราจารย์แห่งเมืองกรุงเก่า ขนาดกรมหลวงฯ ยังเรียก “ศิษย์พี่”

พระเถราจารย์แห่งเมืองกรุงเก่า ขนาดกรมหลวงฯ ยังเรียก “ศิษย์พี่” (ศิษย์หลวงปู่ศุขเหมือนกัน แต่หลวงพ่อขันเป็นศิษย์ยุคแรก)
หลวงพ่อขัน อินทปัญโญ วัดนกกระจาบ ต.วัดนก อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าแห่งอำเภอบางบาล มีชื่อเสียงโด่งดังมากในเรื่องวิทยาคม การสักยันต์ ถ้าพูดถึงสำนักสัก ในอยุธยา เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงหลวงพ่อขัน

หลวงพ่อกลั่น กับหลวงพ่อขัน พระเถราจารย์ทั้งสองรูปนี้หากพูดถึงเรื่องหนังเหนียวคงกระพันชาตรีแล้ว ในยุคนั้นบอกเลยว่ากินกันไม่ลง
มีคนใหญ่คนโตมากมายที่สักกับหลวงพ่อขัน อาทิ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร , พระยาอุภัยพิพากสา, พ.ต.อ.พระยาอนันต์ยุทธกาจ ,กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ฯลฯ

หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดาของเสด็จในกรมฯมีบันทึกยืนยันว่า พระองค์(กรมหลวง)ได้สักอักขระ “นะ” วิเศษ ที่บริเวณกัณฐมณี (ลูกกระเดือก) กับหลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ กรุงก่า

ประวัติหลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ จ.พระนครศรีอยุธยา
อัตโนประวัติ หลวงพ่อขัน อินทปัญโญ เกิดในสกุล คงสุขี เมื่อปี พ.ศ.2415 ตรงกับขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ที่ ต.วัดยม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายชื่น และนางส่วน คงสุขี

เป็นบุตรชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คน ในปีที่ ด.ช.ขัน ถือกำเนิด ครอบครัวมีฐานะดีขึ้น ทำกิจการงานประสบผลสำเร็จ ทำให้โยมบิดา-มารดา รักใคร่เอ็นดูบุตรชายคนโตยิ่ง เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดวังตะโก จ.พระนครศรีอยุธยา ตรงกับ พ.ศ.2435 โดยมีพระพุทธวิหารโสภณ (อ่ำ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ส่วนนามพระอุปัชฌาย์ ไม่ทราบชัด ได้รับฉายาว่า “อินทปัญโญ”

หลวงพ่อขัน ได้มีโอกาสไปกราบและขอฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่ออ่ำ วัดวงฆ้อง และยังเป็นศิษย์ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และอีกหลายท่าน

หลวงพ่อขัน เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ชาวอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือมาก ใครได้สักยันต์กับท่านและทำตามข้อกำหนดของท่าน จะมีแต่ปลอดภัยแคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพัน จนได้รับการกล่าวขวัญจากชาวกรุงศรีอยุธยาว่า

“ใครที่สักยันต์กับหลวงพ่อขัน จะถูกฟันถูกตีก็ไม่ต้องกลัว”

ครั้นหนึ่ง ลูกศิษย์ของหลวงพ่อขัน ถูกนักเลงถิ่นอื่นดักทำร้ายทุบตี แต่ปรากฏว่า ตีเท่าไรก็ไม่แตก ไม่เจ็บ ไม่บอบช้ำ สร้างความประหลาดใจให้กับนักเลงถิ่นอื่นเป็นอย่างยิ่ง เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ลูกศิษย์ของหลวงพ่อขัน นิยมให้หลวงพ่อสักยันต์บ้าง ลงกระหม่อมบ้าง ปรากฏในทางคงกระพันชาตรีเป็นเยี่ยม นักเลงสมัยก่อนจึงนิยมสักกับหลวงพ่อขัน

ยันต์ที่ขึ้นชื่อของท่าน คือยันต์ บุตรลบ (พระมงกุฎ,ลบ (ลูกพระราม)) จึงเป็นยันต์ ที่มีอานุภาพมาก ข่ม ยันต์หลายๆยันต์ หนุมานที่ว่าแน่ ๆไม่เคยพลาดท่าแพ้ใครง่ายๆ ยังต้องพ่าย 2 กุมาร ถึง 3 ครั้ง 3 ครา

หลวงพ่อขัน เป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยชอบเดินธุดงค์ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามป่าดงยึดสันโดษ ไม่สะสมทรัพย์ ทำให้มีสาธุชนให้ความเลื่อมใสศรัทธามาก

ลูกศิษย์ของท่านมีหลายองค์ แต่ถ้าศิษย์เอก ก็คือ หลวงพ่อพรหม วัดขนอนเหนือ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ยังเคยชม “หลวงพ่อพรหม ว่าเสกวิชาสิงห์ได้ขลังมาก ” ทั้งๆที่หลวงพ่อจง ท่านก็เก่งด้านวิชาเสกสิงห์ อยู่แล้ว

หลวงปู่สีห์ วัดสะแก ยังเคยพูดว่า “ในอยุธยายุคนี้(สมัยที่ท่านมีชีวิต) เรื่องคงกระพันไม่มีใครเกินท่านพรหม”
หลวงพ่อขัน ท่านมรณภาพ เมื่อปี พ.ศ.2486 สิริอายุรวม 71 ปี 52 พรรษา

ขอบคุณข้อมูลดีจาก : พระเกจิอยุธยา
แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: