920. “หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติฯ” สามารถสื่อสารกับสัตว์ผ่านจิตได้!

หลวงพ่อกลั่น พระผู้สามารถสื่อภาษาจิตกับสัตว์

วัดพระญาติการาม ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ที่มา : นิตยสารหญิงไทย ฉบับที่ 698 ปีที่ 30 ปักษ์แรก เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2547
โดย : คุณสายทิพย์

ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ราวพุทธศักราช 2390 ปีมะแม ณ ต.อรัญญิก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีฐานะยากจนได้ให้กำเนิดเด็กชายผู้มีบุญมาเกิด นามว่า “กลั่น” ซึ่งอนาคตกาลท่านคือพระเถระผู้เลื่องชื่อในบุญญาภินิหาร และเมตตาจิตที่มีต่อสรรพสัตว์นานัปการ

หลวงพ่อกลั่น ธมฺมโชติ แห่งวัดพระญาติการาม จ.พระนครศรีอยุธยา ในสมัยเด็กท่านต้องทำงานเลี้ยงพ่อแม่ด้วยการรับจ้างทั่วไป และต้องต่อสู้เพียงลำพังคนเดียว ทำให้ท่านเป็นคนเข้มแข็งเด็กเดี่ยว จนกระทั่งมีอายุได้ 27 ปี ท่านจึงตัดสินใจบวชเป็นพระ ณ วัดประดู่ทรงธรรม ได้ฉายาว่า “ธมฺมโชติ”

เมื่อจำพรรษาอยู่ที่วัดประดู่ทรงธรรม หลวงพ่อกลั่นได้ศึกษาพระธรรมวินัย และเรียนรู้เรื่องวิชาคาถาอาคม ตลอดจนสมุนไพร การแพทย์แผนโบราณจนแตกฉาน เมื่อฝึกฝนวิชาต่าง ๆ จนเชี่ยวชาญแล้ว จึงได้ออกธุดงค์ไปทั่วป่าเขาลำเนาไพรเผชิญสัตว์ร้ายนานาชนิด คราวหนึ่งท่านได้เดินทางกลับจากออกธุดงค์ มาถึงวัดพระญาติการามในเวลาค่ำ ท่านพิจารณาว่า วัดนี้เงียบสงบดี เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม สามารถเจริญสมาธิและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้สะดวก ท่านจึงได้ปักกลดพักอยู่ที่บริเวณวัดในคืนนั้น

“วัดพระญาติการาม” เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีราว พ.ศ. 2100 เดิมเรียกว่า “วัดพบญาติ” ซึ่งมีตำนานเล่าว่า สมัยกรุงศรีอยุธยามีหมู่บ้านด้านทิศตะวันออกของเมืองหมู่บ้านหนึ่ง ที่ลูกสาวชาวบ้านของที่นี่มักมีผิวพรรณดี หน้าตาสวยงาม ความเรื่องนี้ทราบไปถึงพระกรรณของพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์จึงเสด็จประพาสมายังหมู่บ้านแห่งนี้ พร้อมด้วยข้าราชบริพาร และทรงพอพระทัยบุตรสาวของชาวบ้านคนหนึ่ง จึงเอ่ยพระโอษฐ์ขอรับอุปถัมภ์ค้ำชูหญิงสาวคนนั้น ผู้เป็นพ่อแม่ก็ยินดียกบุตรสาวถวายให้

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯ กลับพระราชวังแล้ว จึงมอบให้อำมาตย์นำคานหามมารับหญิงสาวคนนั้น เมื่อนางจะไปก็ได้สั่งบอกพ่อและแม่ไม่ให้มีความห่วงใย อีกไม่นานจะกลับมาเยี่ยม ขณะขบวนคานหามเดินทางกลับ พวกญาติของหญิงสาวได้ไปดักรอพบเพื่อล่ำลา นางจึงได้พบญาติตรงบริเวณนั้น จนเมื่อนางได้ตำแหน่งมเหสีแล้ว จึงเสด็จฯ มาเยี่ยมญาติในหมู่บ้านเดิม และโปรดฯ ให้สร้างวัดขึ้นตรงบริเวณที่ญาติ ๆ มารอดักพบ ตั้งชื่อว่า “วัดพบญาติ” ต่อมาจึงกลายเป็น “วัดพระญาติการาม” ในเวลาต่อมา

ย้อนกลับไปถึง “หลวงพ่อกลั่น” เมื่อธุดงค์มาพักที่วัดพระญาติฯ รุ่งเช้าก็มีชาวบ้านมาตักบาตร ขณะรับบาตรอยู่หลวงพ่อกลั่นมองไปทั่วบริเวณวัด เห็นมีสุนัข แมว และนก กา อาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งสัตว์พวกนี้คล้ายมารอคอยอาหารด้วยความหิวโหย หลวงพ่อกลั่นเป็นพระที่มีเมตตาจิตสูง ท่านจึงนำข้าวที่ชาวบ้านใส่บาตรให้มาแบ่งโปรยให้ทานสัตว์เหล่านั้นได้กินจนอิ่ม

จากนั้นท่านจึงฉันเช้า ท่านปฏิบัติเช่นนี้ทุกวันเป็นประจำ ทำให้ชาวบ้านที่มาตักบาตรเห็นวัตรปฏิบัติของท่านน่าเลื่อมใส ศรัทธา จึงนิมนต์ให้อยู่จำพรรษาที่วัดพระญาติฯ ซึ่งหลวงพ่อกลั่นก็ยินดี เพราะท่านพิจารณาแล้วว่า วัดแห่งนี้สงบไม่มีคนพลุกพล่าน มีพระจำพรรษาเพียงไม่กี่รูป บริเวณวัดร่มครึ้ม เป็นป่าสะแก มีต้นไม้ใหญ่เยอะ เหมาะแก่การจำศีลภาวนา ประกอบกับท่านเป็นพระที่ชอบสันโดษ ชอบอยู่อย่างง่าย ๆ เล่ากันว่า ท่านไม่ค่อยพิถีพิถันยึดติดกับอะไรมากนัก ในกุฏิของท่านจึงไม่มีสมบัติพัสถานที่มีค่า มีเพียงสื่อผืนหมอนใบ แถมอัฏฐบริขาร เครื่องนุ่งห่มก็มีอยู่ชุดเดียว ซึ่งเก่าคร่ำคร่า

มีเรื่องเล่าถึงหลวงพ่อกลั่นอีกว่า ทุกเช้าหลังจากบิณฑบาตกลับมาแล้ว ท่านจะต้องโปรยข้าวส่วนหนึ่งให้นก กา หมา ไก่ และลิง ที่ออกมาคอย ให้ได้กินจนอิ่มทั่ว ชาวบ้านละแวกวัดจะได้เห็นหลวงพ่อกลั่นเดินอยู่ท่ามกลางฝูงสัตว์อยู่เป็นประจำทุกวัน ชาวบ้านและเณรในวัดจึงพากันสงสัยว่าทำไมสัตว์จึงชอบเดินตามท่าน เมื่อสงสัยจึงมีการทดลอง สอบหาความจริง

โดยในวันหนึ่งเมื่อหลวงพ่อกลั่นไม่อยู่ ได้มีพระรูปหนึ่งแอบนำผ้าเหลืองของหลวงพ่อกลั่นมาปลอมเป็นหลวงพ่อทุกอย่าง แล้วทำเป็นเดินขึ้นมาจากเรือคล้ายว่าเพิ่งกลับจากวัด เมื่อเดินผ่านสัตว์ต่าง ๆ ที่เคยได้ข้าวและอาหารจากหลวงพ่อ สัตว์เหล่านั้นก็เฉย ๆ เพราะจำได้ว่าไม่ใช่หลวงพ่อ เป็นเพราะความเมตตาที่แผ่ออกมา ทำให้สัตว์เหล่านั้นจดจำหลวงพ่อได้เป็นอย่างดี เพราะพวกมันสัมผัสรู้ได้

หลวงพ่อกลั่นเมื่อได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระญาติฯ ทุก ๆ เช้าเมื่อออกบิณฑบาต พระสงฆ์ในวัดจะต้องพายเรือไปตามลำน้ำ ซึ่งจะมีชาวบ้านมารอตักบาตรทั้ง 2 ฝั่ง และชาวบ้านจะรู้ว่าเรือลำไหนเป็นของหลวงพ่อกลั่น เพราะจะมีจุดสังเกตคือ เรือของหลวงพ่อจะมีสีดำสนิท ปกคลุมตั้งแต่หัวเรือไปจรดกลางลำเรือ สีดำเหล่านั้นก็คือ “อีกา” นับสิบ ๆ ตัวที่มาเกาะเรือของหลวงพ่อ แล้วเวลาชาวบ้านมาลงตักบาตรแก่หลวงพ่อ “อีกา” ทั้งฝูงจะบินวนรอบ ๆ เรือไม่ไปไหน พอชาวบ้านตักบาตรเสร็จมันก็บินกลับมาเกาะเรือเหมือนเดิม ส่วนอาหารที่ชาวบ้านนำมาถวายหลวงพ่อเต็มลำเรือนั้น เหล่าอีกาไม่แตะต้องเลย

และพอเรือมาถึงวัด หลวงพ่อจะให้ลูกศิษย์ขนสำรับขึ้นไปก่อน ตัวท่านจะอุ้มบาตรมาทีหลัง และจะมีอีกาอีกฝูงหนึ่งคอยรอรับท่านอยู่หน้าวัด มันจะบินรุมล้อมหน้าล้อมหลังเป็นกลุ่ม แทบไม่เห็นองค์หลวงพ่อ เมื่อได้เวลาฉันหลวงพ่อจะจัดแบ่งอาหารเป็นหมวดหมู่ เตรียมให้อีกา หมา และแมว อีกาฝูงใหญ่จะคอยรอท่าอยู่ห่าง ๆ พอหลวงพ่อนั่งเรียบร้อย เมื่อเปิดฝาบาตรจะลงมือฉัน อีกาทั้งฝูงก็จะกระโดดไปที่กองอาหารแล้วลงมือจิกกินทันที

หลวงพ่อกลั่นท่านสื่อภาษาสัตว์กับอีกาเหล่านั้นได้ เพราะบางครั้งที่มันแย่งอาหารจิกตีกัน หลวงพ่อจะพูดด้วยเสียงเบา ๆ อีกาก็หยุดตีกันทันทีแล้วค่อย ๆ กินอย่างสงบ

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : TNews

แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: