1029. เหรียญพระพุทธ วัดลำต้อยติ่ง หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา ปลุกเสก

เหรียญพระพุทธ วัดลำต้อยติ่ง เขตหนองจอก กทม. เป็นอีกเหรียญหนึ่งที่ได้รับการปลุกเสก โดย หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา จัดสร้างขึ้นโดยเจ้าอาวาส วัดลำต้อยติ่ง ประมาณปี ๒๔๗๐ กว่าๆ เจ้าอาวาสวัดลำต้อยติ่ง ท่านเป็นลูกศิษย์ของ หลวงปู่ทองอีกรูปหนึ่ง จึงมีความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในหลวงปู่ทองมาก

จึงได้นำเหรียญพระพุทธรุ่นนี้ทั้งหมดมาขอความเมตตาหลวงปู่ทองปลุกเสกให้ โดยหลวงปู่ทองได้ทำพิธีปลุกเสกให้เป็นเวลา ๗ วัน

จึงกล่าวได้ว่า เหรียญพระพุทธ วัดลำต้อยติ่ง นับเป็นเหรียญหนึ่งในทำเนียบของ หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา โดยตรง ค่านิยมในการเล่นหาเหรียญพิมพ์พระพุทธ หลังยันต์ตรีนิสิงเห ประมาณหลักพันปลาย ถึงหลักหมื่นต้น สวยๆ อาจจะมากกว่านั้น

ส่วนอีกพิมพ์หนึ่ง คือ พิมพ์หลังยันต์ตะกร้อ จะมีราคาที่สูงกว่าเล็กน้อย คือ ประมาณหลักหมื่นต้น ถึงหลักหมื่นกลาง แล้วแต่สภาพของเหรียญ

เหรียญพระพุทธ วัดลำต้อยติ่ง เท่าที่พบเห็นมี ๒ เนื้อ คือ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง (แบ่งออกเป็นเนื้อทองแดง กะไหล่ทอง, เนื้อทองแดงผิวไฟ และเนื้อทองแดงรมดำ) การตัดขอบเหรียญ เป็นการตัดขอบแบบ “ข้างกระบอก” อันนี้ถือเป็น “จุดจบ” เหรียญรุ่นนี้ที่พบเห็นโดยทั่วไป ด้านหน้าจะเป็นพิมพ์พระประธาน คล้ายเหรียญของวัดไร่ขิง เหรียญพิมพ์หน้าแบบนี้จะมีภาษาบาลีอ่านว่า “อะ ระ หัง” อยู่ด้านล่าง คล้ายกับเหรียญที่ออกจาก จ.นครปฐม ซึ่ง หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว เป็นประธานจัดสร้างช่วงปี ๒๔๗๐ กว่าๆ เช่นกัน

เหรียญพิมพ์หน้าแบบนี้จะพบเห็นน้อยมาก ยิ่งเป็นเหรียญสภาพสวยๆ เหมือนในภาพนี้ เดินทั้งวันก็หาไม่พบ

ในบรรดาเหรียญพระเกจิอาจารย์ชื่อดังช่วงปี ๒๔๗๐ กว่าๆ เช่น เหรียญเสมารุ่นแรก หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ, เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง, เหรียญหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ จ.สระบุรี ฯลฯ จะมีพุทธศิลป์ใกล้เคียงกันมาก หรือแทบจะเรียกได้ว่าเป็นงานฝีมือช่างกลุ่มเดียวกันด้วยซ้ำ วัสดุที่เป็นทองแดงและการตัดปั๊ม ก็ประมาณเดียวกันหมด

เหรียญพระพุทธ วัดลำต้อยติ่ง รุ่นนี้ ด้านหน้าจะคล้ายกับเหรียญสาย จ.นครปฐม ด้านหลังคล้ายเหรียญมงคลถาวร หลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน จึงพอคาดเดาได้ว่าน่าจะเป็นการผลิตจากโรงงานเดียวกัน หรือการออกแบบจากฝีมือสกุลช่างในยุคนั้นเป็นแน่

สมัยก่อน นักสะสมจะชอบซื้อ เหรียญวัดลำต้อยติ่ง เอาไว้ศึกษาพุทธศิลป์ วัสดุที่ผลิตเหรียญและการปั๊มการตัดขอบข้างเพื่อศึกษาไว้ดูเป็นแบบอย่างในการพิจารณา เหรียญเสมารุ่นแรก หลวงพ่อเดิม เนื่องจากวัสดุที่ใช้และการตัดปั๊ม เหมือนกันมาก

ในขณะที่ เหรียญวัดลำต้อยติ่ง มีสนนราคาเล่นหาถูกกว่ากันมาก ทั้งที่มีอายุการสร้างใกล้เคียงกัน พระเกจิอาจารย์ที่ปลุกเสกคือ หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา ก็ไม่ธรรมดา มีวิชาอาคมแก่กล้า พุทธคุณเป็นที่ประจักษ์แก่เหล่าทหารหาญที่ไปรบในสงครามต่างแดนมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่คนส่วนใหญ่สมัยก่อนไม่ทราบว่า เป็นเหรียญที่ หลวงปู่ทอง ปลุกเสก สนนราคาการเช่าหาสะสม จึงเบามือมากๆ

ภายหลังเกิดมีประสบการณ์เล่าขานกันมากมายจึงเริ่มมีการหาข้อมูลออกมาเผยแพร่ส่งผลให้สนนราคาเริ่มขยับตัวขึ้นตามลำดับ แต่ปัญหาอยู่ที่หาเหรียญแท้ๆ สภาพสวยดูง่าย ได้ยากเต็มที

หากท่านพบเห็นเหรียญพิมพ์นี้ก็อย่ามองข้าม เหรียญดี ที่มีทั้งความงดงาม ด้านพุทธศิลป์และมากด้วยพุทธคุณแห่งพระเกจิอาจารย์ชื่อดังผู้ปลุกเสก คือ หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา และที่สำคัญอายุของเหรียญที่มีการสร้างหลังปี ๒๔๗๐ มาถึงทุกวันนี้ อายุความเก่าก็ใกล้ๆ ร้อยปีแล้ว ในขณะที่ราคาค่านิยมยังพอจ่ายได้ไม่เหนื่อยนัก

หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา

หลวงปู่ทอง อายะนะ อายุ ๑๑๗ ปี เป็นพระคณาจารย์ยุคเก่าที่มีอายุยืนยาวมาก ท่านเป็นพระบริสุทธิสงฆ์ที่มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม เชี่ยวชาญด้านพุทธาคมอย่างสูง

ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๓ ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นบุตรของนายฮวด แซ่ลิ้ม ชาวจีนฮกเกี้ยน มารดาเป็นชาวมอญ พ.ศ.๒๓๘๔ ท่านได้อุปสมบท ณ วัดบางเงินพรม ตลิ่งชัน โดยมีท่านเจ้าคุณ พระวินัยกิจจารีเถระ (ภู่) วัดบางเงินพรม เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “อายะนะ” หลังจากอุปสมบทท่านได้จำพรรษา ณ วัดบางเงินพรม เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและอุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์

ต่อมาได้ออกธุดงค์เพื่อแสวงหาโมกขธรรม เมื่อ พระราชโยธา ก่อสร้าง วัดราชโยธา เสร็จแล้ว ได้นิมนต์ให้ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้

หลวงปู่ทอง เป็นศิษย์ของ หลวงปู่แสง วัดมณีชลขัณฑ์ โดยเป็นศิษย์รุ่นน้องของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง และเป็นอาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชาให้กับ หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว ส่วนลูกศิษย์ฆราวาสที่เคารพเลื่อมใสท่านมาก คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ ของประเทศไทย

วัตถุมงคลของท่านมีทั้งพระพิมพ์สมเด็จ ลูกอม ชานหมาก เสื้อยันต์ และที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๘๐ สร้างโดย อาจารย์แก้ว คำวิบูลย์ ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด มี ๒ เนื้อ คือ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดงรมดำ

หลวงปู่ทอง มรณภาพด้วยโรคชราในปี ๒๔๘๐ สมัยรัชกาลที่ ๘ สิริรวมอายุ ๑๑๗ ปี พรรษา ๙๖ เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีอายุยาวนาน ครองสมณเพศอยู่ถึง ๗ รัชกาล ซึ่งหาผู้มีบุญวาสนาเช่นนี้ได้ยากนัก

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : คม ชัด ลึก (ปกิณกะพระเครื่อง โดยฐกร บึงสว่าง)
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: