1037. ประวัติหลวงปู่ทองหล่อ วัดโปรดสัตว์

ประวัติหลวงปู่ทองหล่อโดยสังเขป (หลวงปู่ฯ เล่าโดยตรง)

….นามเดิมของหลวงปู่ ชื่อ “ทองหล่อ” นามสกุล “โกมารทัต” โยมบิดาชื่อ “เติม” โยมมารดาชื่อ “ยิ้ม” หลวงปู่ฯ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2462 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือน 7 ปีมะแม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.2453 – 2468 รวม 15 ปี) หลวงปู่ฯ ท่านเกิด ณ หมู่ 3 เป็นหมู่บ้านข้างวัดโปรดสัตว์ ต.ขนอนหลวง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านเกิดในครอบครัวกสิกรรมมีอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก หลวงปู่ฯ มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน ดังต่อไปนี้:

1.หลวงปู่ทองหล่อ
2.นายเลิศ (เสียชีวิตแล้ว โดนงูเห่ากัดตั้งแต่ยังรุ่น ๆ)
3.นางล่ำ (เสียชีวิตแล้ว)
4.นางเต็ม
5.นายต่วน

…..นามสกุล “โกมารทัต” ของหลวงปู่ฯ เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานในลำดับที่ 557 ผู้ที่ได้รับพระราชทานคนแรก คือ หลวงศรีเทพบาล (วงษ์) รับราชการสังกัด กรมสนมพลเรือน กระทรวงวัง ปู่ชื่อ “นายฉิม” ซึ่งเคยรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังที่ได้รับพระราชทานนามสกุลประจวบกับมีการตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้น

บังคับให้คนไทยต้องระบุชื่อและนามสกุลในทะเบียนราษฎร์ทุกคน นามสกุล “โกมารทัต” จึงได้ใช้ในหมู่เครือญาติของหลวงศรีเทพบาล (วงษ์) และคนที่มิใช่เครือญาติที่อยู่ใกล้เคียงหรือรู้จักกับหลวงศรีเทพบาล (วงษ์) ได้มาขออนุญาตใช้เนื่องจากเป็นนามสกุลที่เป็นมหามงคลเพราะได้รับพระราชทานจากในหลวง ท่านหลวงศรีเทพบาล (วงษ์) ก็ได้พิจารณาแบบอนุโลมปฏิโลม และได้อนุญาตให้ใช้ไปเป็นกรณี ๆ ไป ปัจจุบันนามสกุล “โกมารทัต” ถือได้ว่าเป็นวงศ์สกุลที่ใหญ่และมีชื่อเสียงติดหูในปัจจุบัน

…..หลวงปู่ฯ ท่านเกิด ณ หมู่ 3 เป็นหมู่บ้านข้างวัดโปรดสัตว์ ต.ขนอนหลวง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านเกิดในครอบครัวกสิกรรม ประกอบอาชีพทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนพื้นที่และคนในจังหวัดอยุธยา ทางโยมพ่อ “โยมเติม” นอกจากจะเป็นเกษตรกรทำนาแล้ว ยังเป็นหมอประจำหมู่บ้านที่รักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กับคนในหมู่บ้านและใกล้เคียง ทำให้ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในคนละแวกนั้น

หลวงปู่ฯ เป็นลูกคนโตของครอบครัวพอโตขึ้นมาก็ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทำนา ดวงตาข้างขวาของท่านนั้นพิการมาตั้งแต่กำเนิด เล่ากันว่าก่อนท่านเกิดโยมมารดา “โยมยิ้ม” ไปตกปลาได้และเบ็ดได้เกี่ยวกับตาข้างขวาข้างเดียวกับตาของหลวงปู่ เมื่อหลวงปู่ถือกำเนิดมาทางโยมมารดาจึงตระหนักในเรื่องบุญบาปและระงับไม่ทำบาปกรรมโดยเฉพาะงดการตกปลาไปตลอดชีวิต เมื่อหลวงปู่ถือกำเนิดมาท่านก็ได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดา และเป็นหลานรักของโยมยาย “ยายครอบ” และโยมตา “ตาโล่”

ซึ่งตาและยายของหลวงปู่ประกอบอาชีพทำนาเช่นกัน เมื่อหลวงปู่เติบโตขึ้นมาก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการช่วยครอบครัวทำนา ถือได้ว่าท่านเป็นกำลังหลักในการช่วยเหลือทางบ้านทำการงาน

…..เมื่อหลวงปู่ฯ เติบโตขึ้นมาอายุประมาณ 12-13 ปี ท่านก็ได้หัดเล่นดนตรีไทย ในยุคนั้นดนตรีไทยบ้านขนอนหลวงมีชื่อเสียงมาก ถือได้ว่าเป็นวงดนตรีชาวบ้านที่มีฝีไม้ลายมือและทางดนตรีใกล้เคียงกับวงดนตรีในรั้วในวัง ทั้งนี้เพราะเจ้าของวง คือ “ปู่เพ็ง” และลูกชาย “ลุงด้วง” เป็นผู้ที่มีฝีมือทางเพลงและรู้จักครูเพลงไทยที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นหลายท่าน อาทิเช่น หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) , หลวงไพเราะ เสียงซอ, ครูทั่ว พาทยโกศล (จางวางทั่ว) เป็นต้น

หลวงปู่ฯเล่าว่า “ปู่เพ็ง” ท่านให้หลวงปู่เล่นระนาดเอก และเป็นผู้ต่อเพลงในทางระนาดให้กับหลวงปู่โดยตรงหลวงปู่ จนมีความชำนาญสามารถเล่นนำวงได้ ต่อมาเมื่อหลวงปู่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น “ปู่เพ็ง” ต้องการให้หลวงปู่มีทางเพลงและพัฒนาฝีมือทางระนาดมากขึ้นจึงได้พาหลวงปู่เดินทางด้วยรถไฟเข้ากรุงเทพฯ

เป็นครั้งแรกของชีวิตซึ่งตอนนั้นหลวงปู่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ไปพบหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) เพื่อฝากฝังให้เล่าเรียนทางเพลง แต่หลวงประดิษฐ์ไพเราะฯ ท่านบอกว่าถ้ามาต่อสักเพลงหรือสองเพลงท่านไม่ขัดข้อง แต่จะให้สอนเป็นการเป็นงานนั้นท่านไม่สะดวกด้วยเหตุผลว่าร่างกายท่านไม่ค่อยสู้ดีและเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยชรา หลวงปู่ฯ จึงไม่ได้เล่าเรียนทางเพลงกับหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) แต่อย่างไร

….. หลังจากนั้น “ปู่เพ็ง” ได้นำหลวงปู่ฯ ไปฝากเรียนกับ “ย่าชื่น และย่าชม” ซึ่งเป็นเพื่อนกับปู่เพ็ง ย่าทั้งสองเป็นคนเมืองบางกอกโดยกำเนิดไม่ได้เป็นญาติใด ๆ กับหลวงปู่ฯ แต่หลวงปู่ท่านจะเรียกว่า “ย่า” ท่านทั้งสองเป็นนักดนตรีปี่พาทย์ผู้หญิงในวัง ทั้ง “ย่าชื่นและย่าชม” เป็นลูกศิษย์ของครูจางวางทั่ว(ทั่ว พาทยโกศล) บ้านอยู่ย่านสวนมะลิ “ย่าชื่น” เดิมเล่นฆ้องวงเล็กเป็นผู้ที่มีข้อมือดีภายหลังครูจางวางทั่ว ให้เปลี่ยนไปเล่นระนาดเอกและสามารถเล่นได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย

ส่วน “ย่าชม” เล่นฆ้องวงใหญ่ทั้งคู่เป็นพี่น้องกันมีฝีไม้ลายไม้ทางดนตรีไทย ภายหลังทั้ง “ย่าชื่น และย่าชม” ต่างมีครอบครัวด้วยกันทั้งคู่จึงได้ออกจากวงดนตรีในวังมาเล่นวงดนตรีของตนเองที่บ้านสวนมะลิ ระหว่างที่หลวงปู่หัดต่อเพลงที่บ้านย่าชื่นนั้น วันหนึ่ง “ย่าชื่น” ได้พาไปที่บ้านครูจางวางทั่ว (ทั่ว พาทยโกศล) เพื่อเรียนต่อเพลงไทย โดยพาหลวงปู่เข้ากราบไหว้ครูจางวางทั่วเพื่อเป็นศิริมงคลตามที่นักดนตรีไทยยุคนั้นนิยมกระทำกัน

แต่ขณะนั้นครูจางวางทั่วมีลูกศิษย์ลูกหามากมายไม่มีเวลาสอนทางระนาดให้กับหลวงปู่ ครูจางวางทั่วจึงบอกให้ “ย่าชื่น” เป็นผู้ต่อเพลงให้เพราะทางระนาดเอกของ “ย่าชื่น” ก็ไม่เป็นรองใคร เมื่อเรียนต่อเพลงได้สักระยะหนึ่ง (ไม่ถึงเดือน) หลวงปู่ก็เดินทางกลับมายังบ้านขนอนหลวงและได้ใช้วิชาความรู้ทางดนตรีไทยที่ร่ำเรียนมาประกอบอาชีพเป็นนักปี่พาทย์คนระนาดเอกในวงของ “ปู่เพ็ง” โดยรับเล่นดนตรีไทยในยามที่ว่างจากการทำนา กล่าวได้ว่าครูเพลงไทยทางระนาดของหลวงปู่ คือ “ปู่เพ็ง” และ “ย่าชื่น” ซึ่งเป็นครูเพลงไทยที่หลวงปู่ท่านจำมิมีวันลืมที่ท่านทั้งสองได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้หลวงปู่มีความรู้ความชำนาญสามารถนำมาประกอบอาชีพได้อย่างดี

…..ภายหลังที่หลวงปู่ได้เดินทางกลับถิ่นกำเนิดเดิม ณ บ้านขนอนหลวง อ.บางปะอิน และได้พัฒนาฝีมือทางดนตรีไทยเป็นคนระนาดกับ “ปู่เพ็ง” ทำให้หลวงปู่ฯ มีฝีไม้ลายมือทางระนาดเอกจนเป็นตัวหลักของวงปู่พาทย์บ้านขนอนหลวงและเป็นอาชีพหลักหนึ่งอาชีพนอกเหนือจากอาชีพทำนา

ซึ่งหลวงปู่ฯ ก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการช่วยเหลือครอบครัวเพราะท่านเป็นลูกคนโต หลวงปู่ฯ เล่าว่าวงดนตรีไทยของปู่เพ็งในสมัยก่อนนั้นไม่มีชื่อวง คนทั่วไปจะรู้จักกันในนาม “วงดนตรีไทยชาวบ้านขนอนหลวงวัดโปรดสัตว์” ภายหลังได้ทำการตั้งชื่อเป็นวงดนตรีไทย “ธ. บรรเลงศิลป์” ซึ่ง ธ. นั้นย่อมาจากคำว่า “ธรรมกาย” อันเป็นนามสกุลของ “ปู่เพ็ง” นั้นเอง

หลวงปู่ฯ เล่าว่าสมัยก่อนเดินทางไปเล่นดนตรีโดยทางเรือเป็นหลัก บ่อยครั้งต้องออกเดินทางก่อนวันงานจริง 2-3 วัน และเคยเดินทางไปเล่นดนตรีไทยไกลถึงที่จังหวัดปทุมธานี สมัยก่อนเดินทางค่อนข้างลำบากแต่ท่านไม่คิดว่าลำบากกลับคิดว่าสนุกสนานเพราะยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น สำหรับรายได้จากการเล่นดนตรีไทยนั้น หลวงปู่ฯ บอกว่าไม่ได้มากมายอะไรเลย ท่านเล่าว่าเล่นดนตรีไทยทั้งเดือน (อาจจะไม่ทุกวัน) ได้เงินมาซื้อควายได้แค่ตัวเดียวเอง

…..เมื่ออยู่ในฤดูทำนาและไม่มีงานเล่นดนตรีไทย หลวงปู่ฯ จะช่วยโยมยายและโยมตาทำนา ปีหนึ่งการทำนาประสบปัญหาน้ำฝนทิ้งช่วงประกอบกับการชลประทานยังไม่ดีเท่าเหมือนทุกวันนี้ทำให้ขาดน้ำจนน้ำไม่ไหลเข้านา

โยมยายของท่านที่ชื่อ “ยายครอบ” และโยมตาที่ชื่อ “ตาโล่ห์” หมดหนทางที่จะพึ่งพาจึงพากันจุดธูปกลางทุ่งนาและบนบานศาลกล่าวว่า “ลูกช้างทั้งสองประสบปัญหาน้ำไม่เข้านาหมดที่พึ่งพาอาจน้ำยังไม่เข้าทุ่งนาคงไม่มีข้าวกินและคงไม่มีเงินเลี้ยงลูกหลานแน่ ลูกช้างขอพึ่งพาให้เทพเทวดาจงโปรดช่วยให้น้ำไหลเข้าทุ่งนาด้วย หากเทพยดาทั้งหลายอนุเคราะห์ให้พ้นจากภัยนี้ ลูกช้างทั้งสองจะให้หลานคนโตบวชให้เทพยดาเพื่อเป็นกุศลสร้างบารมี 15 วัน”

หลังจากที่ “โยมยายครอบ” และ “โยมตาโล่” จุดธูปบนบานเทพเทวดากลางทุ่งนาได้ 2 วัน ปรากฏว่าฝนได้ตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันหลายวันทำให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมทุ่งนาและเป็นผลทำให้โยมยายและโยมตาของหลวงปู่ฯ รอดพ้นจากปัญหาไปได้อย่างเหลือเชื่อ

…..หลวงปู่ฯ ประกอบอาชีพทำนาและเล่นดนตรีมาหลายปี จนอายุล่วงเข้า 20 ปีบริบูรณ์ถึงวัยที่จะบวชพระได้ และห่างจากโยมยายและโยมตาได้บนบานไว้ประมาณ 1 ปี โยมยายกับโยมตาจึงปรึกษากับโยมพ่อและโยมแม่ของหลวงปู่ฯ ต้องการให้หลวงปู่ฯ บวชพระตามประเพณีนิยม แต่จะขอให้บวชเณรแก้บนก่อน

ทั้งโยมพ่อและโยมแม่รวมทั้งหลวงปู่ฯ ไม่ขัดข้องแต่ประการใด หลวงปู่ฯ จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรก่อนบวชพระเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งทำพิธีบรรพชา ณ วัดทำเลไทย โดยมีพระครูพิศาลสรกิจ (หลวงพ่อฟัก) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้มาพักจำพรรษาที่วัดโปรดสัตว์ หลังจากที่หลวงปู่ฯ ได้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บนตามความประสงค์ของโยมตาและโยมยายเป็นเวลาประมาณ 1 เดือนแล้ว หลวงปู่ฯ ก็ได้เข้าสู่พิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยมีพระครูพิศาลสรกิจ (หลวงพ่อฟัก) วัดทำเลไทย เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้จำพรรษาที่วัดโปรดสัตว์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

…..หลวงปู่ฯ เล่าให้ฟังว่าเดิมตั้งใจจะบวชตามประเพณีนิยมแค่ 1 พรรษาและพอจะสึกทีไรใจก็ไม่อยากจะสึกเป็นอย่างนี้หลายครั้งหลายหนจนไม่ได้สึกและบวชรับใช้พระพุทธศาสนาอยู่จนถึงทุวันนี้ หลวงปู่เล่าว่าฯ ผู้ที่มีบุญคุณที่ทำให้หลวงปู่ฯ สวดมนต์ได้รวดเร็วและสวดพระปาฏิโมกข์ได้ภายในพรรษาแรก คือ หลวงตาสร้อย หรือที่หลวงปู่ฯ เรียกว่าอาจารย์สร้อย ท่านเป็นคนจังหวัดร้อยเอ็ด

อายุหลวงตาสร้อยตอนที่หลวงปู่ฯ บวชใหม่ ๆ ประมาณ 75 ปี อุปนิสัยของหลวงตาสร้อยท่านเป็นพระรักสันโดษชอบที่เงียบสัปปายะ ไม่ชอบที่พลุกพล่านและไม่ชอบวัดที่มีลาภสักการะมาก หลวงตาสร้อยท่านให้เหตุผลว่ามันวุ่นวาย

เหตุที่หลวงปู่ฯ สวดมนต์ได้รวดเร็วเกิดจากวันหนึ่งหลวงปู่ฯ ในขณะนั้นเพิ่งบวชได้ไม่กี่วันไปยืนดูคนเล่นหมากรุกตรงท้ายกุฏิ และอาจารย์สร้อยเดินมาเห็นเข้า ท่านก็สะกิดให้หลวงปู่ฯ เดินตามออกมา พอเดินมาลับตาคน หลวงตาสร้อยก็ถามหลวงปู่ฯ ทันทีว่า “บวชมาเป็นพระนี้ อยากเป็นพระเก่งหมากรุกรึ บวชมาแล้วไม่อยากเป็นพระเก่งทางมนต์พิธี เก่งในทางสวดมนต์รึ”

พอสิ้นเสียงอาจารย์สร้อย หลวงปู่ฯ พูดสวนไปว่า “แล้วเกี่ยวอะไรกับหลวงตาละ” อารมณ์ที่หลวงปู่พูดตอนนั้นเป็นเพราะโกรธและก็เดินออกมา ตอนหลังหลวงปู่ฯ คิดได้ว่าท่านหวังดี จึงได้ไปขอขมากับท่าน หลวงตาสร้อยก็สอนว่าบวชมาเป็นพระต้องถือวินัยเป็นสำคัญ จะทำอะไรเหมือนตอนเป็นคฤหัสถ์ไม่ได้ แม้จะไม่ผิดศีลแต่ถ้าทำแล้วเป็น “โลกวัชชะ” ทำแล้วถูกตำหนิติเตียนจากญาติโยมก็ไม่ควรทำ เพราะพระภิกษุได้ชื่อว่าเป็นผู้วางตัวเหมาะสม เราบวชแล้วต้องวางตัวให้เหมาะกับสมณะที่เราถืออยู่

…..หลังจากนั้นหลวงตาสร้อยก็ใช้อุบายท้าให้หลวงปู่ฯ สวดมนต์บทนี้บทนั้น โดยท้าให้สวดมนต์แข่งกับท่านจนหลวงปู่ฯ สามารถสวดมนต์ได้ทุกบทภายในระยะอันรวดเร็ว สุดท้ายอาจารย์สร้อยท่านก็ยอมรับและชมหลวงปู่ ว่าจำเก่งสวดมนต์ได้เร็ว และท่านก็มอบช้อนส้อมมาเป็นรางวัลคู่หนึ่งให้กับหลวงปู่ฯ

ตอนหลังหลวงตาสร้อยมาบอกให้หลวงปู่ฯ สวดปาฏิโมกข์ เพราะหาคนสวดยากต้องเป็นคนมีบุญและจำเก่งเท่านั้นที่จะสวดได้ หลวงปู่ก็เริ่มหัดท่องหัดสวดโดยมีอาจารย์สร้อยเป็นผู้ทานคำสวดจนหลวงปู่สวดได้ภายในระยะเวลา 2 เดือนหลังจากที่บวชเป็นพระ หลังจากที่หลวงปู่สวดพระปาฏิโมกข์ได้ ทางพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่ฯ หรือหลวงพ่อฟัก วัดทำเลไท ก็ให้หลวงปู่ฯ สวดในพระอุโบสถ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

…..หลวงปู่ฯ เล่าให้ฟังว่าท่านได้เรียนวิชากับหลวงพ่อเขียวเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ตอนนั้นอายุท่าน 90 ปีปลาย ๆ ท่านเป็นพระที่อยู่วัดท้ายน้ำ จ.พิจิตร เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร หลวงพ่อเขียวเคยเดินธุดงค์พบกับหลวงพ่อฟัก ภายหลังบั้นปลายชีวิตของหลวงพ่อเขียวได้มาจำพรรษาที่วัดโปรดสัตว์โดยการชักชวนของหลวงพ่อฟัก

ท่านมาจำพรรษาได้ไม่นานก็มรณภาพ หลังจากนั้นหลวงปู่ฯ ก็ได้ไปเรียนวิทยาคมกับหลวงพ่อบุญวัดช่างทอง และหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงปู่ฯ ได้ยืนยันด้วยเสียงหนักแน่นว่าท่านไม่เคยพบกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ไม่เคยพบกับหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ และไม่เคยพบหรือเกี่ยวข้องกับเสด็จกรมหลวงชุมพร แต่อย่างไร เคยเรียนถามหลวงปู่ฯ ว่ารู้ไหมว่ามีการเขียนประวัติหลวงปู่ฯ เกินความจริง หลวงปู่ฯ ท่านตอบว่า “พวกที่ทำวัตถุมงคลมันเขียนเกินความเป็นจริง มันอยากขายของที่มันทำโดยไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักบุญบาป สมัยก่อนที่ฉันยังแข็งแรงก็มีพวกนี้มาขอทำโน้นทำนี้ ขอทำหนังสือทำประวัติของฉัน แต่ฉันไล่ไปหมด ฉันไม่อยากดังหรอก ฉันอยากเป็นพระธรรมดา”

หมายเหตุ:

1. เหตุการณ์และรายชื่อบุคคลที่กล่าวมาเป็นคำบอกเล่าจากปากของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ หากผิดพลาดไม่ถูกต้องประการใดผมขออภัยและขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว ทั้งนี้จะขอบพระคุณเป็นอย่างมากถ้ามีส่วนใดที่ผิดพลาดและกรุณาแจ้งให้ผมทราบโดยตรงเพื่อแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป

2. มีสมาชิกบางท่านได้นำประวัติของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ โดยคัดลอกข้อมูลมาลงผิดไปจากเรื่องที่หลวงปู่ฯ เล่าให้ผมฟัง จึงขอนำข้อมูลที่ถูกต้องมาลง ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาเกียรติและชื่อเสียงของหลวงปู่ฯ และเพื่อเป็นหลักฐานหนึ่งว่าท่านไม่ได้เป็นคนให้ข้อมูลผิด ๆ อย่างนั้น หากมีคนสอบประวัติ และทาน พ.ศ. ของเหตุการณ์ต่าง ๆ จะว่าหลวงปู่ฯ มิได้

….ขอความสุข ความรุ่งเรือง และความเจริญในธรรมจงมีแก่ศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ฯ ทุกท่านครับ…..

เขียนโดย : สมปองศิษย์หลวงพ่อทองหล่อ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : ศิษย์หลวงปู่ทองหล่อวัดโปรดสัตว์ โพสโดยคุณ Weerasak Kwanmongkolpong
ขอขอบคุณรูปภาพสวยๆโดย : คุณ Art Bang Pa-In
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: